วงโคจรของดาวเคราะห์น้อย 2020 AV2 เทียบกับวงโคจรของดาวเคราะห์วงใน (ดาวพุธและดาวศุกร์) ภาพโดย SSD JPL/NASA
วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2563 นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์น้อยดวงใหม่ “2020 AV2” โคจรอยู่ระหว่างดาวพุธและดาวศุกร์ มีระยะห่างเฉลี่ยจากดวงอาทิตย์มากที่สุดประมาณ 0.5 หน่วยดาราศาสตร์ และกลายเป็นดาวเคราะห์น้อยดวงแรกที่มีวงโคจรเล็กกว่าวงโคจรของดาวศุกร์
แม้ว่าดาวเคราะห์น้อยจะกระจายตัวกันอยู่ทั่วระบบสุริยะ และส่วนใหญ่จะอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อย ระหว่างวงโคจรดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี ดาวเคราะห์น้อยอีกส่วนที่มีจำนวนน้อยจะโคจรใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก เรียกประชากรดาวเคราะห์น้อยกลุ่มนี้ว่า “กลุ่มอะติระ” (Atira) ตามชื่อสมาชิกดวงหนึ่งในกลุ่มนี้ หรือ "กลุ่มวัตถุใกล้กว่าโลก" (Interior-Earth Objects / IEOs)
ก่อนการค้นพบ 2020 AV2 มีการค้นพบดาวเคราะห์น้อยกลุ่มนี้เพียง 21 ดวง เมื่อเทียบกับประชากรดาวเคราะห์น้อยที่พบแล้วทั้งหมดถือว่ากลุ่มอะติระมีประชากรน้อยมากหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นของหายาก และการค้นพบ 2020 AV2 จะกลายเป็นวัตถุหายากในวัตถุหายาก เนื่องจากวงโคจรของดาวเคราะห์น้อย 2020 AV2 ไม่เพียงแต่เล็กกว่าโลก แต่ยังเล็กกว่าวงโคจรของดาวศุกร์ โดยตำแหน่งใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด (perihelion) มีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ 0.46 หน่วยดาราศาสตร์ และตำแหน่งไกลดวงอาทิตย์มากที่สุด (aphelion) ห่างจากดวงอาทิตย์เพียง 0.65 หน่วยดาราศาสร์ และกลายเป็นวัตถุแรกสำหรับกลุ่มย่อยของกลุ่มอะติระซึ่งจะเรียกว่า “วี-อะติระ” (Vatira อักษร V หมายถึงดาวศุกร์)
กล้องโทรทรรศน์ซามูเอล โอชินในโครงการ Zwicky Transient Facility ซึ่งค้นพบดาวเคราะห์น้อย 2020 AV2
การค้นพบในครั้งนี้เป็นผลงานจากโครงการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์บนท้องฟ้าในมุมกว้าง “Zwicky Transient Facility” โดยใช้กล้องถ่ายภาพแบบใหม่เชื่อมต่อกับกล้องโทรทรรศน์ซามูเอล โอชิน (Samuel Oschin) บนหอดูดาวปาโลมาร์ (Palomar Observatory) เมื่อค้นพบดาวเคราะห์น้อยแล้ว ได้รายงานไปยัง ศูนย์ดาวเคราะห์น้อย (Minor Planet Center) ทำให้หอดูดาวทั่วโลกช่วยกันเก็บข้อมูลจนสามารถยืนยันวงโคจรได้ โดย 2020 AV2 มีวงโคจรเอียง 15 องศาเมื่อเทียบกับระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ มีคาบการโคจร 151 วัน แม้จะไม่มีจุดตัดหรือเข้าใกล้วงโคจรของโลก แต่วงโคจรของมันอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้เนื่องจากการรบกวนของแรงโน้มถ่วงจากดาวพุทธและดาวศุกร์
วัตถุในกลุ่มวีอะติระ จะมีจังหวะที่ปรากฏบนท้องฟ้าบนโลกคล้ายกับดาวศุกร์ จะสังเกตเห็นได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นและหลังดวงอาทิตย์ตกเท่านั้น เป็นช่วงเวลาที่ท้องฟ้ายังไม่มืดสนิทซึ่งการเก็บข้อมูลดาวเคราะห์น้อยทำได้ยากมาก จำเป็นต้องใช้กล้องโทรทรรศน์และกล้องถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ที่ไวแสงและทำงานได้รวดเร็วเพื่อที่จะกราดตรวจท้องฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อหาตำแหน่งดาวเคราะห์น้อย
อ้างอิง
[1] https://www.caltech.edu/about/news/first-asteroid-found-inside-orbit-venus
[2] https://www.minorplanetcenter.net/mpec/K20/K20A99.html
[3] https://en.wikipedia.org/wiki/Atira_asteroid
[4] https://www.universetoday.com/144609/
เรียบเรียง : สิทธิพร เดือนตะคุ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ