ลูซีล เทิร์ก (Lucile Turc) อดีตนักวิจัยจากองค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency: ESA) และทีมวิจัย พบท่วงทำนองคล้ายบทเพลง หลังจากนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับจากภารกิจคลัสเตอร์ (Cluster) กลับมาวิเคราะห์ใหม่อีกครั้ง
จุดกลมเล็กทางซ้ายของภาพคือโลก เส้นโค้งขนาดใหญ่ที่ครอบอยู่แสดงถึงแนวปะทะของลมสุริยะกับสนามแม่เหล็กโลก เรียกว่า “โบว์ช็อค (bow shock)”
คลัสเตอร์ เป็นภารกิจที่ประกอบด้วยยานอวกาศ 4 ลำโคจรอยู่รอบโลก ทำหน้าที่สำรวจสนามแม่เหล็ก เฝ้าติดตามปฏิกิริยาของสนามแม่เหล็กต่อลมสุริยะ เมื่อทีมวิจัยนำสัญญาณจากบริเวณแรกที่พายุสุริยะปะทะกับสนามแม่เหล็กมาแปลงเป็นเสียง จึงเกิดเป็นเสียงแปลก ๆ คล้ายซาวด์เอฟเฟกต์ของภาพยนตร์วิทยาศาสตร์
ในช่วงเวลาที่เงียบสงบ มีเพียงกระแสอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าปลดปล่อยจากดวงอาทิตย์ที่เรียกว่า “ลมสุริยะ” เข้ามาปะทะกับสนามแม่เหล็กของโลก เสียงที่ได้จะอยู่ในโทนต่ำและมีความถี่ที่ไม่ซับซ้อน นี่คือบทเพลงจากสนามแม่เหล็กในยามนั้น
เมื่อดวงอาทิตย์มีจุดจำนวนมาก (Solar Maximum) เป็นช่วงที่กิจกรรมบนดวงอาทิตย์เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้มีการสะสมพลังงานไว้มาก อนุภาคที่ปล่อยออกมาจะรุนแรง รวดเร็ว และมีพลังงานมากกว่าลมสุริยะ กระแสอนุภาคนี้เรียกว่า “พายุสุริยะ” ขณะที่พายุสุริยะเข้ามาปะทะกับสนามแม่เหล็กของโลก ความถี่ของคลื่นจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าและมีความซับซ้อนมากขึ้น เพลงที่บันทึกได้จึงมีโทนเสียงแหลมขึ้น สามารถฟังได้จากลิงก์ด้านล่างนี้
การศึกษาพายุสุริยะมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะพายุสุริยะสามารถสร้างความเสียหายต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ติดตั้งอยู่บนพื้นดินและในอวกาศได้ นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มความเข้าใจวัตถุอวกาศอื่น ๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างอนุภาคที่มีประจุกับสนามแม่เหล็ก ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นกับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
เรียบเรียง : พัชริดา ยั่งยืนเจริญสุข - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.