“C/2019 Y4 (ATLAS)” เป็นดาวหางที่กำลังโคจรเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน และมีค่าความสว่างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นักดาราศาสตร์กำลังจับตาดาวหางดวงนี้ เนื่องจากมีโอกาสสว่างจนสามารถมองเห็นดาวหางดวงนี้ได้ด้วยตาเปล่า
ภาพถ่ายดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) จากกล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกลอัตโนมัติ TRT-NEO ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ใช้เวลาเปิดรับแสง 3 นาที
โครงการ “Asteroid Terrestrial-impact Last Alert System (ATLAS)” ตั้งอยู่ที่หมู่เกาะฮาวาย ค้นพบดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ช่วงแรกเป็นเพียงหนึ่งในดาวหางที่พบได้ทั่วไป เนื่องจากมีความสว่างน้อย (แมกนิจูด 19) แต่เมื่อเข้าสู่ปี พ.ศ. 2563 ความสว่างของดาวหางดวงนี้กลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนคาดว่าอาจกลายเป็นดาวหางที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก
เมื่อปี พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมา ดาวหาง PanSTARRS โคจรมาใกล้โลก มีความสว่างสว่างมากแต่ก็สังเกตเห็นได้ยากเนื่องจากปรากฏบนท้องฟ้าในตำแหน่งใกล้กับดวงอาทิตย์ หากยกตัวอย่างดาวหางสว่างที่สามารถมองเห็นได้ง่ายด้วยตาเปล่าจะต้องย้อนกลับไปถึงปี พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวหางเฮล-บอปป์ (Hale-Bopp) เข้ามาใกล้โลก มีค่าแมกนิจูด -1.3 สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน
ทางด้านนักล่าดาวหางชื่อดังของญี่ปุ่นเซอิจิ โยชิดะ คาดการณ์ว่าดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) อาจจะสว่างได้ถึงระดับ แมกนิจูด -2 (ดวงจันทร์เต็มดวงแมกนิจูด -12.6) นั่นหมายความว่าดาวหางดวงนี้อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเช่นเดียวกับดาวหางเฮล-บอปป์นั่นเอง
http://www.aerith.net/comet/catalog/2019Y4/mag.gif
C/2019 Y4 (ATLAS) เป็นดาวหางคาบยาวที่มีวงโคจรเกือบจะเป็นพาราโบลา (near-paraboric) กล่าวคือ มีค่าความรีสูง คาบการโคจรประมาณ 5,500 ปี จะเดินทางเข้ามาในระบบสุริยะชั้นในแต่ละครั้งใช้เวลาหลายพันปี ทำให้การเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ครั้งนี้เป็นครั้งเดียวในช่วงชีวิตของเราที่จะได้เห็นมัน
ภาพจำลองวงโคจรของดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) ภาพโดย Solar Dynamic System JPL/NASA
ธรรมชาติของดาวหางเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากเท่าใด ก็จะยิ่งมีความสว่างมากขึ้น ซึ่งดาวหางดวงนี้จะเข้าใกล้โลกมากที่สุด ในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ระยะห่างประมาณ 117 ล้านกิโลเมตร จากนั้นจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ห่างเพียง 0.26 หน่วยดาราศาสตร์ หรือประมาณ 39 ล้านกิโลเมตร
ในเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) จะปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) ความสว่างในปัจจุบันยังไม่สามารถเห็นได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กหรือกล้องสองตา แต่หากดาวหางดวงนี้เคลื่อนที่เข้าไปอยู่ในกลุ่มดาวยีราฟช่วงกลางเดือนเมษายนเมื่อไหร่ คาดว่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการชมดาวหาง เนื่องจากจะมีความสว่างเพิ่มขึ้น
http://www.cometwatch.co.uk/wp-content/uploads/2020/03/c2019y4-atlas-main-chart.jpg
ตำแหน่งปรากฏของดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) บนท้องฟ้าในช่วงต้นปี 2563
ภาพจาก http://www.cometwatch.co.uk/
ผู้ใดสนใจชมดาวหาง ควรหาสถานที่ห่างจากตัวเมืองเพื่อหลีกเลี่ยงแสงรบกวน สำหรับการหาพิกัดดาวหางบนท้องฟ้า สามารถดาวโหลดแผนที่ดาวที่มีการอัพเดตตำแหน่งดาวหางได้ที่ https://www.britastro.org/sites/default/files/2019y4.pdf
เรียบเรียง : นายสิทธิพร เดือนตะคุ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.
อ้างอิง :
[5] http://www.cometwatch.co.uk/comet-atlas-could-reach-naked-eye-brightness/
[6] https://www.universetoday.com/145036/comet-y4-atlas-in-outburst-first-good-comet-for-2020/