ยานอวกาศวอยเอเจอร์ 2 ออกสู่ห้วงอวกาศและปฏิบัติภารกิจสำรวจที่ว่างระหว่างดวงดาว (Voyager Interstellar Mission) มาแล้วกว่า 40 ปี พร้อมกับส่งข้อมูลกลับมายังโลกสม่ำเสมอ จนเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์รายงานว่ายานอวกาศวอยเอเจอร์ 2 เดินทางพ้นขอบเขตระบบสุริยะแล้ว

as20200414 2 01

https://www.sciencealert.com/images/2020-03/010-voyager-2-s.jpg

ภาพจำลองยานอวกาศวอยเอเจอร์ 2 ( Credit ภาพ: NASA/JPL-Caltech)

 

    แต่ในวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2563 ห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่นขององค์การนาซา (NASA JPL) รายงานว่ากำลังจะซ่อมบำรุงจานรับ-ส่งสัญญาณขนาด 70 เมตร ที่ชื่อว่า “DSS-43” ส่งผลให้นาซาไม่สามารถติดต่อกับยานวอยเอเจอร์ 2 ได้เป็นเวลาเกือบ 1 ปีเต็ม

    ในปัจจุบัน มีจานรับสัญญาณเพียงแห่งเดียวบนโลกที่สามารถส่งคำสั่งไปยังยานอวกาศวอยเอเจอร์ 2 ได้  คือ “สถานีสื่อสารห้วงอวกาศลึก 43 (Deep Space Station 43 หรือ DSS-43)” ตั้งอยู่ ณ กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางจานรับสัญญาณ 70 เมตร ซึ่งทำงานมานานกว่า 50 ปีอย่างไม่หยุดพัก จึงควรค่าแก่การซ่อมบำรุงแล้ว

 

as20200414 2 02

https://www.sciencealert.com/images/2020-03/010-voyager-2-x.jpg

ภาพถ่ายจานรับสัญญาณ DSS–43

 

    การซ่อมบำรุงในครั้งนี้ ถือเป็นการหยุดทำงานครั้งใหญ่ในรอบ 18 ปีของ DSS-43 ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากและใช้เวลายาวนานกว่า 11 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 ยานอวกาศวอยเอเจอร์ 2 จึงต้องเคว้งคว้างอยู่ท่ามกลางอวกาศเพียงลำพัง และเตรียมเข้าสู่โหมดประหยัดพลังงาน พร้อมหยุดการทำงานของเครื่องมือต่าง ๆ บนยาน ได้แก่ เครื่องตรวจวัดสนามแม่เหล็ก (MFI) เครื่องตรวจวัดอนุภาคประจุพลังงานต่ำ (LECP) เครื่องตรวจวัดพลาสมา (PLS) เครื่องตรวจวัดรังสีคอสมิก (CRS) และเครื่องตรวจวัดคลื่นพลาสมา (PWS) ระหว่างนั้น องค์การนาซาวางแผนจะใช้จานรับสัญญาณอื่นในศูนย์สื่อสารห้วงอวกาศลึกแคนเบอร์รา (CDSCC) รับสัญญาณจากยานอวกาศวอยเอเจอร์ 2 แทน แต่เป็นเพียงการติดต่อจากวอยเอเจอร์ 2 เพียงฝั่งเดียวเท่านั้น

    การที่นักวิทยาศาสตร์ตัดสินใจซ่อมบำรุงจานรับสัญญาณ ถือเป็นความเสี่ยงในการปฏิบัติภารกิจระหว่างดวงดาวอย่างมาก เนื่องจากยานอวกาศวอยเอเจอร์ 2 ต้องขาดการติดต่อเป็นเวลานาน นอกจากนี้ เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระบบควบคุมอัตโนมัติบนยานเกิดขัดข้อง แต่ทีมวิศวกรบนโลกสามารถแก้ปัญหา และทำให้ระบบกลับมาใช้งานได้อย่างปกติอีกครั้งโดยการปิดเครื่องมือที่ใช้พลังงานสูงในยาน ด้วยระยะห่างมากถึง 18,000 ล้านกิโลเมตรจากโลก ซึ่งใช้เวลาประมาณ 17 ชั่วโมง ในการส่งสัญญาณไปถึงยานอวกาศ และรออีก 17 ชั่วโมง สัญญาณตอบสนองจากยานจึงจะส่งกลับมาถึงโลก ทำให้ทีมวิศวกรใช้เวลาในการแก้ปัญหาค่อนข้างนาน

    เราหวังว่าจากนี้อีก 11 เดือนข้างหน้า ยานอวกาศวอยเอเจอร์ 2 จะสามารถปกป้องตัวเองในการเดินทางผ่านที่ว่างระหว่างดวงดาวที่ห่างไกลจากโลกกว่า 18,000 ล้านกิโลเมตร เมื่อ DSS-43 ซ่อมบำรุงแล้วเสร็จ ไม่เพียงแต่จะกลับมาติดต่อสื่อสารกับยานอวกาศวอยเอเจอร์ 2 ได้อีกครั้ง ยังเป็นการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อทำภารกิจบนดาวอังคารในอนาคตอีกด้วย

 

อ้างอิง :

 

เรียบเรียง : ฟ้าประกาย เจียรคุปต์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์

 

| Category: ข่าวดาราศาสตร์ | Hits: 4670