“จันทรยาน 2 (Chandrayaan 2)” ยานสำรวจดวงจันทร์สัญชาติอินเดีย ถูกส่งสู่อวกาศเพื่อสำรวจดวงจันทร์เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 มีภารกิจหลักคือการทำแผนที่ความละเอียดสูงของดวงจันทร์ เพื่อใช้พิจารณาเลือกพื้นที่ลงจอดสำหรับนักบินอวกาศและตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอนาคต ซึ่งภาพที่ถ่ายได้จากเครื่องมือบนยานนั้นน่าสนใจเป็นอย่างมาก มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
https://www.universetoday.com/wp-content/uploads/2019/10/content_chand2_qmap_limb.png
“สามารถมองเห็นแม้กระทั่งหลุมอุกกาบาตที่แสงอาทิตย์ส่องไม่ถึง”
ยานอวกาศจันทรยาน 2 มีกล้องถ่ายภาพความละเอียดสูง “Orbiter High-Resolution Camera (OHRC)” สามารถถ่ายภาพได้ความละเอียดสูงถึง 0.25 เมตรต่อพิกเซล ซึ่งสูงกว่ายาน LRO ของนาซาที่ถ่ายได้ความละเอียดเพียง 0.5 เมตรต่อพิกเซลเท่านั้น
ล่าสุด เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา กล้อง OHRC สามารถเก็บภาพก้อนหินบนดวงจันทร์ที่มีขนาดเพียง 1 เมตรได้อย่างคมชัด และเก็บภาพพื้นผิวส่วนหนึ่งของหลุมอุกกาบาต “บอกุสลัฟสกี อี (Boguslawsky E)” ที่แสงจากดวงอาทิตย์ส่องไปไม่ถึง ซึ่งเป็นประโยชน์ในการสร้างแผนที่บริเวณขั้วดวงจันทร์เป็นอย่างมาก เพราะบริเวณดังกล่าวแทบจะไม่มีแสงอาทิตย์ส่องไปถึงเลย
ภาพซ้าย : ภาพถ่ายพื้นผิวดวงจันทร์จากยานจันทรยาน 2 บริเวณ R1 คือ ส่วนหนึ่งของหลุมอุกกาบาตบอกุสลัฟสกี-อี (Boguslawsky E) ที่ไม่ได้รับแสงอาทิตย์
ภาพขวา : ภาพพื้นผิวส่วนหนึ่งของหลุมอุกกาบาตบอกุสลัฟสกี-อีในเงาดวงจันทร์จากกล้อง OHRC
“สร้างแผนที่สามมิติความละเอียดสูง”
ยานจันทรยาน 2 ถูกติดตั้งกล้อง “Terrain Mapping Camera (TMC2)” ซึ่งสามารถสร้างแผนที่ภูมิประเทศในรูปแบบสามมิติ โดยการถ่ายภาพวัตถุเดียวกันในมุมมองที่ต่างกัน 3 มุม เหนือพื้นผิวดวงจันทร์ที่ระยะ 100 กิโลเมตร ด้วยกล้องความละเอียดถึง 5 เมตรต่อพิกเซล
ภาพสามมิติของหลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์จากกล้อง TMC2
“ดวงตาอินฟราเรด”
ยานจันทรยาน 2 มีเครื่องมือ “Imaging Infrared Spectrometer (IIRS)” ใช้ในการศึกษาการกระจายตัวของแร่ธาตุและน้ำบนพื้นผิว มีความละเอียดกว่ารุ่นเก่าที่ติดอยู่กับยานจันทรยาน 1 ถึงสองเท่า โดยการตรวจวัดแสงอาทิตย์ที่สะท้อนจากผิวดวงจันทร์ แล้ววิเคราะห์ชนิดแร่ธาตุตามรูปแบบการสะท้อนที่เกิดขึ้น
จากการเก็บข้อมูลของ IIRS ทำให้นักวิทยาศาสตร์เจอเบาะแสของน้ำอยู่บริเวณอื่นนอกเหนือจากบริเวณขั้วดวงจันทร์ แม้ว่าบริเวณดังกล่าวจะมีปริมาณน้อยกว่าน้ำในทะเลทรายบนโลกก็ตาม และมุ่งเน้นให้ยานอวกาศจันทรยาน 2 สำรวจบริเวณขั้วของดวงจันทร์ต่อไป
ภาพถ่ายหลุมอุกกาบาตเกลาเบอร์ (Glauber) ในย่านรังสีอินฟราเรด ภาพซ้าย : ถ่ายโดย IIRS จากยานอวกาศจันทรยาน 2 ภาพขวา : ถ่าย M3 จากยานอวกาศจันทรา 1
“ทราบปริมาณน้ำบนดวงจันทร์”
“Dual Frequency Synthetic Aperture Radar (DFSAR)” เป็นเทคโนโลยีที่ใช้เรดาร์ในการสร้างแผนที่ภูมิประเทศ พัฒนาต่อมาจากเรดาร์ที่ใช้ในยานจันทรา 1 แต่มีประสิทธิภาพสูงกว่าถึงสองเท่า นอกจากนี้ ยังมีความละเอียดกว่าเรดาร์ที่ติดตั้งบนยาน LRO ของนาซาเป็นอย่างมาก ทำให้ยานจันทรยาน 2 สามารถวิเคราะห์น้ำแข็งที่อยู่ใต้หลุมอุกกาบาตที่ขั้วดวงจันทร์ได้ และพบว่าที่ขั้วดวงจันทร์มีน้ำแข็งมากกว่า 600,000 ล้านกิโลกรัม ซึ่งมีขนาดพอ ๆ กับสระว่ายน้ำโอลิมปิก 240,000 สระรวมกัน
ภาพซ้าย : ถ่ายจากเรดาร์ DFSAR บนยานอวกาศจันทรยาน 2
ภาพกลาง : ถ่ายจากเรดาร์ Mini-RF บนยาน LRO
ภาพขวา : ถ่ายจากกล้องถ่ายภาพช่วงคลื่นแสงที่ตามองเห็นบนยาน LRO
“เป้าหมายต่อไปในอนาคต”
ยานจันทรยาน 2 จะปฏิบัติภารกิจต่อไปเป็นเวลา 7 ปี ซึ่งเหล่านักวิทยาศาสตร์คาดว่าเพียงพอต่อการทำแผนที่ดวงจันทร์ รวมถึงบ่งชี้ปริมาณน้ำในแต่ละบริเวณได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ในอนาคตข้างหน้า องค์การนาซามีแผนจะส่งรถหุ่นยนต์ VIPER ไปสำรวจน้ำในบริเวณที่แสงดวงอาทิตย์ส่องไปไม่ถึง เพื่อเป็นข้อมูลในการตั้งถิ่นฐานในอนาคตต่อไป
อ้างอิง :
เรียบเรียง - ฟ้าประกาย เจียรคุปต์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.