องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ องค์การนาซา (NASA) มีแผนจะส่งนักบินอวกาศสามคนไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2563 โดยนักบินอวกาศทั้งสามคนจะปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสถานีอวกาศนาน 6 เดือนและพวกเขาจะเฝ้ามองการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จากอวกาศที่อยู่สูงจากพื้นโลก 400 กิโลเมตร
ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ไปเยี่ยมนักบินอวกาศจากภารกิจอะพอลโล 11 ในการกักตัวหลังจากพวกเขากลับมาจากดวงจันทร์ในปี พ.ศ. 2512 (เครดิต: NASA)
การหนีออกจากโลกเป็นเวลาหกเดือนอาจฟังดูเหมือนเป็นความฝันของมนุษย์ส่วนใหญ่ในตอนนี้ แต่นักบินอวกาศจะต้องระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงการนำเชื้อไวรัสโคโรนาไปติดบนสถานีอวกาศนานาชาติด้วย ถึงแม้โอกาสที่จะเกิดขึ้นนั้นต่ำ แต่ผลของการระบาดอย่างรุนแรงในปัจจุบันทำให้นาซาตระหนักถึงเรื่องนี้ เนื่องจากในสถานีอวกาศนานาชาติมีข้อจำกัดเรื่องเวชภัณฑ์และการเดินทางกลับโลกอย่างฉุกเฉินอาจมีความเสี่ยงและยุ่งยาก ดังนั้น เพื่อวางแผนสำหรับการขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่ของนักบินอวกาศในครั้งนี้ องค์การอวกาศของสหรัฐฯ และรัสเซียได้เพิ่มมาตรการป้องกันก่อนที่จะส่งตัวนักบินอวกาศคริสโตเฟอร์ แคสซิดี อะนาโตลี อีวานีชิน และ อีวาน วักเนียร์ ขึ้นไปยังสถานนีอวกาศนานาชาติ
นอกจากแผนที่นาซาจะส่งนักบินอวกาศทั้งสามขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่ในอวกาศแล้ว ยังมีแผนจะส่งนักบินอวกาศอีกชุดขึ้นไปในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งสองนักบินอวกาศอย่าง ดักลาส เฮอร์ลีย์ และ โรเบิร์ต เบนเคน จะขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ โดยยาน Dragon 2 และด้วยจรวด Falcon 9 ของบริษัท SpaceX หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน พวกเขาจะเป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่นั่งยานอวกาศจากภาคเอกชนขึ้นสู่วงโคจรรอบโลก ซึ่งตามรายงานของสำนักข่าว CBS ระบุว่า เฮอร์ลีย์ และ เบนเคน ได้เตรียมความพร้อมอย่างมากในการป้องกันตัวเองจากไวรัสโคโรนา
ในสถานการณ์ปกติ การส่งนักบินอวกาศห้าคนขึ้นสู่อวกาศเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งอยู่แล้ว แต่ในสถานการณ์ที่มีโรคร้ายแพร่ระบาดยิ่งเป็นเรื่องท้าทายมากขึ้น การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาส่งผลกระทบต่อภารกิจอวกาศและวิทยาศาสตร์อวกาศ ซึ่งพนักงานหลายคนของนาซาติดเชื้อไวรัสนี้ นาซาจึงเพิ่มมาตรการเฝ้าระวัง เพิ่มการทำความสะอาด และการเพิ่มระยะห่างทางสังคม (Social distancing) เช่นเดียวกับการกำหนดให้พนักงานหลายคนทำงานจากที่บ้านหรือ “Work From Home” ที่หลายหน่วยงานปฏิบัติกันในสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญในตอนนี้คือมาตรการเฝ้าระวังและดูแลนักบินอวกาศให้ปลอดภัยจากโรคระบาดนี้อย่างเข้มงวด
คริสโตเฟอร์ แคสซิดี นักบินอวกาศของนาซาออกกำลังกายในสถานีอวกาศนานาชาติในปี พ.ศ. 2556 (เครดิต: NASA)
มาตรการของนาซาเพื่อหลีกเลี่ยงโรคระบาด COVID-19
เพื่อป้องกันโรคระบาดในสถานีอวกาศนานาชาติ องค์การนาซาและองค์การอวกาศของรัสเชีย มีมาตรการให้นักบินอวกาศทุกคนกักตัวหลายสัปดาห์ก่อนออกเดินทางไปอวกาศ และจะตรวจสอบอย่างละเอียดพร้อมฆ่าเชื้อโรคตามถุงบรรจุภัณฑ์ทุกอย่าง
แต่อย่างไรก็ดีกระบวนการกักตัวครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษแล้วที่นาซาได้กักตัวนักบินอวกาศก่อนที่จะส่งขึ้นสู่อวกาศ จะเห็นได้จากภารกิจอะพอลโล 11 ที่ นีล อาร์มสตรอง บัซซ์ อัลดริน และ ไมเคิล คอลลินส์ ต้องกักตัวเป็นเวลาหลายสัปดาห์หลังกลับมาจากดวงจันทร์ เพื่อหลีกเลี่ยงการนำเอาเชื้อโรคจากดวงจันทร์กลับมายังโลก
แดน ฮูโอ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ขององค์การนาซากล่าวว่า “โปรแกรมการเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติของนักบินอวกาศนั้น มีข้อควรปฏิบัติอยู่เสมอเพื่อป้องกันไม่ให้นักบินอวกาศนำเชื้อโรคขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ” สำหรับในครั้งนี้ ทั้งหน่วยงานอวกาศของสหรัฐฯและรัสเซียกำลังกักตัวนักบินอวกาศอย่างจริงจังยิ่งกว่าเดิม โดยปกตินักบินอวกาศจะถูกกักบริเวณเป็นเวลาสองสัปดาห์ก่อนที่พวกเขาจะออกเดินทางไปยังสถานที่ปล่อยจรวดในคาซัคสถาน แต่ครั้งนี้หน่วยงานอวกาศได้เพิ่มระยะเวลาการกักตัวอีกสองสัปดาห์ รวมถึงยกเลิกธรรมเนียมปฏิบัติบางอย่างไป เช่น การเดินทางไปวางดอกไม้หน้าสุสานของยูริ กาการิน มนุษย์คนแรกที่ขึ้นสู่อวกาศ และธรรมเนียมปฏิบัติอื่น ๆ ก่อนเดินทาง นอกเหนือจากการกักตัวนักบินอวกาศให้นานขึ้นแล้ว นาซาและรัสเชียยังมีมาตรการอื่น ๆ ด้วย เพื่อลดจำนวนจุลินทรีย์อันตรายที่อาจเกิดขึ้นบนสถานีอวกาศนานาชาติในเดือนหน้า โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนด้านเทคนิคจะสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันและถุงมือขณะที่พวกเขาจัดการขนส่งสิ่งของ รวมถึงขณะช่วยเตรียมชุดและยานให้กับนักบินอวกาศ สำหรับการปล่อยตัวจากศูนย์อวกาศไบโคนูร์คอสโมดรอม (Baikonur Cosmodrome) ตอนใต้ของคาซัคสถาน และเพิ่มมาตรการให้พนักงานทุกคนต้องกักตัวอยู่ในสถานกักตัวด้วย องค์การนาซากล่าวว่ามาตรการป้องกันได้รับการตรวจสอบและรับรองโดยแพทย์ขององค์การอวกาศ และพวกเขากำลังติดตามทีมที่รับผิดชอบในการปฏิบัติงานอย่างเข้มงวด
คริสโตเฟอร์ แคสซิดี นักบินอวกาศของนาซาและ ลูกา ปาร์มีตาโน นักบินอวกาศขององค์การอวกาศยุโรปทำงานเกี่ยวกับการทดลองอัลตราซาวด์กระดูกสันหลังส่วนบน (เครดิต:NASA)
อาการป่วยในอวกาศ
จากการวิจัยหลายทศวรรษที่ผ่านมาขององค์การนาซาระบุว่า การอาศัยอยู่ในอวกาศทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง โดยผนังหลอดเลือดแดงจะหนาขึ้นและจุลินทรีย์ในลำไส้ของนักบินอวกาศเกิดความเปลี่ยนแปลง บางงานวิจัยยังระบุว่านักบินอวกาศมากกว่าครึ่งมีอาการไม่สบายเมื่อเดินทางไปถึงสถานีอวกาศนานาชาติไม่นาน โดยนักบินอวกาศจะมีไข้หนาวสั่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อ่อนเพลียและอาจรุนแรงถึงขั้นอาเจียน อาการเหล่านี้คล้ายกับอาการเริ่มต้นของคนเป็นโรค COVID-19 ซึ่งวินิจฉัยได้ยาก ดังนั้น นักบินอวกาศต้องทดสอบกับชุดทดสอบหาโรค COVID-19 เท่านั้น ในขณะที่องค์การนาซามีมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด แต่ในอดีตเคยมีเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสบางชนิดไปสู่อวกาศ
ระหว่างการปฏิบัติภารกิจ Apollo 7 ปี พ.ศ. 2511 โดยนักบินอวกาศวอลลี ชีรา มีอาการเจ็บป่วยอย่างรุนแรงจากไข้หวัด และเนื่องจากอยู่ในพื้นที่แออัดจึงทำให้นักบินอวกาศคนอื่นมีอาการป่วยตามด้วย อาการเจ็บป่วยจึงส่งผลกระทบต่อการทำงานของพวกเขา จากประสบการณ์ครั้งนั้นรวมถึงการเจ็บป่วยระหว่างภารกิจอื่นของโครงการอะพอลโล ทำให้นาซามีมาตรการกักตัวนักบินอวกาศก่อนการเดินทางขึ้นสู่อวกาศ
ถุงบรรจุเวชภัณฑ์ที่ถูกส่งไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (เครดิต: NASA)
วิธีรักษาเบื้องต้นหากพบเชื้อ COVID-19 ในสถานีอวกาศนานาชาติ
ถ้านักบินอวกาศต้องทนทรมานเนื่องจากโรคไข้หวัดในอวกาศ การติดโรค COVID-19 ในอวกาศอาจเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้น แต่ขณะนี้สถานีอวกาศนานาชาติได้เตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์มากมาย
ในเดือนมกราคม องค์การนาซาประกาศว่านักบินอวกาศคนหนึ่งได้รับการรักษาลิ่มเลือดในลำคอ หรือที่เรียกว่าลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก แพทย์บนพื้นโลกได้สั่งให้นักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติฉีดยาเจือจางเลือด (Blood thinner) หลังจากนั้น นักบินอวกาศได้พูดคุยกับแพทย์บนพื้นโลกเป็นประจำและอัลตราซาวด์คอของตนเอง จนการรักษาได้ผล นักบินอวกาศสามารถรักษาตัวเองในอวกาศและไม่ต้องรักษาเพิ่มเมื่อกลับมาจากปฏิบัติภารกิจหกเดือน
ตามรายงานในนิตยสาร Astronomy นาซาจะไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ หากมีการรักษาผ่านการแพทย์ทางไกลกรณีมีนักบินอวกาศถูกพบว่าติดโรค COVID-19 ซึ่งเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ขององค์การนาซากล่าวเพิ่มเติมว่า “จะมีการประชุมหารือเพื่อพยายามประเมินความเสี่ยงและทำอย่างไรเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างละเอียด”
ในขณะที่สถานีอวกาศนานาชาติมีเวชภัณฑ์ที่จำกัดเมื่อเทียบกับโรงพยาบาล แต่นักบินอวกาศจะมีเครื่องมือในการรักษาที่ดีกว่าบนโลก ในเบื้องต้นบนสถานีอวกาศนานาชาติมียารักษาโรคทั่วไปที่อาจเป็นประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วย COVID-19 ซึ่งมีตั้งแต่ยาพาราเซตามอลไปจนถึงยาไอบิวพรอเฟิน (ยาแก้อักเสบปราศจากสเตียรอยด์ หรือเอ็นเซด ซึ่งใช้รักษาอาการปวด ไข้ และการอักเสบ รวมถึงอาการปวดกระดูกและข้ออักเสบรูมาติก) นอกจากยาแล้วยังมีอุปกรณ์ที่ทันสมัยกว่า รวมถึงเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด (blood oximeters) เพื่อตรวจสอบว่านักบินอวกาศหายใจได้ดีแค่ไหน แต่หากมีอาการรุนแรงไม่สามารถกลับมายังพื้นโลกได้ทันที จะมีอุปกรณ์ช่วยโดยการใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อเพิ่มออกซิเจนในเลือดให้มากขึ้น แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากเป็นคนแรกที่ใส่ท่อช่วยหายใจในอวกาศ รวมถึงคงเป็นเรื่องยากมากที่จะแยกนักบินอวกาศคนอื่นออกจากผู้ป่วย นั่นจึงเป็นสาเหตุที่นาซาใช้มาตรการเชิงรุกดำเนินการป้องกันเพื่อหลีกเลี่ยงการนำไวรัสโคโรนาไปยังสถานีอวกาศนานาชาติตั้งแต่แรก
แม้แต่องค์การอวกาศระดับโลกยังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 ดังนั้นเราควรป้องกันตัวเองจากเชื้อไวรัสอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และเราหวังว่านักบินอวกาศทั้งหมดจะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่บนสถานีอวกาศนานาชาติได้สำเร็จ และใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยบนอวกาศได้ครบตามกำหนด
ข้อมูลอ้างอิง
เรียบเรียง : นางสาวศวัสกมล ปิจดี - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.