สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ชวนชาวไทยชม “สุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย” 21 มิถุนายน 2563 เวลาประมาณ 13:00 - 16:10 น. ภาคเหนือเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งมากที่สุด แนะชมผ่านอุปกรณ์กรองแสง ห้ามดูด้วยตาเปล่า หรือแว่นกันแดดโดยเด็ดขาด เตรียมถ่ายทอดสดปรากฏการณ์จากหอดูดาวภูมิภาคทางเพจเฟซบุ๊ก
สุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2563
ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า ในวันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน 2563 จะเกิดปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาวงแหวน” แนวคราสวงแหวนพาดผ่านสาธารณรัฐอัฟริกากลาง คองโก เอธิโอเปีย ตอนใต้ของปากีสถาน ตอนเหนือของอินเดีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนประเทศไทยจะเห็นเป็น “สุริยุปราคาบางส่วน” ดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์เพียงบางส่วน ทำให้มองเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่ง สามารถสังเกตได้ทุกภูมิภาคของไทย แต่ละภูมิภาคจะมองเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งมากน้อยแตกต่างกัน ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังมากที่สุดบริเวณภาคเหนือที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประมาณร้อยละ 63 ส่วนภาคใต้ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังน้อยที่สุดเพียงร้อยละ 16 สำหรับกรุงเทพมหานคร ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังประมาณร้อยละ 40 สามารถสังเกตได้ในช่วงเวลาประมาณ 13:00 - 16:10 น. ตามเวลาประเทศไทย ดวงอาทิตย์จะปรากฏเว้าแหว่งมากที่สุด เวลาประมาณ 14:49 น.
ภาพแสดงแนวคราสสุริยุปราคาวงแหวน วันที่ 21 มิถุนายน 2563
ภาพแสดงข้อมูลการเกิดสุริยุปราคาบางส่วนในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย
“สุริยุปราคา” เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน มีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง เมื่อสังเกตจากโลกจะเห็นดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้ามาบดบังดวงอาทิตย์ สำหรับ “สุริยุปราคาบางส่วน” เกิดจากโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ไม่ได้เรียงอยู่ในแนวเดียวกัน ขณะเกิดสุริยุปราคาบางส่วน ดวงจันทร์จึงบดบังดวงอาทิตย์เพียงบางส่วนเท่านั้น ทำให้มีเพียงเงามัวของดวงจันทร์ทอดผ่านพื้นผิวโลก ผู้สังเกตบนโลกภายในบริเวณที่เงามัวของดวงจันทร์พาดผ่านจะเห็นดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บดบังเพียงบางส่วนเท่านั้น
ภาพจำลองการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคา
นายศุภฤกษ์ กล่าวเน้นย้ำสำหรับผู้สนใจชมปรากฏการณ์ว่า ห้ามสังเกตการณ์ด้วยตาเปล่า แว่นกันแดด ฟิล์มเอ็กซ์เรย์ หรือแผ่นซีดี เนื่องจากแสงอาทิตย์สามารถทำลายเซลส์ประสาทตาจนตาบอดได้ ควรสังเกตการณ์ผ่านอุปกรณ์เฉพาะ ที่มีคุณสมบัติกรองแสงได้อย่างปลอดภัย อาทิ แว่นตาดูดวงอาทิตย์ทำจากแผ่นกรองแสงพอลิเมอร์ดำ แผ่นกรองแสงอะลูมิเนียมไมลาร์ กระจกแผ่นกรองแสงสำหรับหน้ากากเชื่อมโลหะ เบอร์ 14 หรือมากกว่า และอุปกรณ์สังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ทางอ้อม เช่น การดูเงาของแสงอาทิตย์ผ่านฉากรับภาพ หรือใช้หลักการของกล้องรูเข็ม ซึ่งเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยไม่เกิดอันตรายต่อดวงตา และยังสามารถดูปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ทีละหลายคน
หากสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ ต้องเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ติดฟิลเตอร์กรองแสงดวงอาทิตย์เท่านั้น เนื่องจากกล้องโทรทรรศน์มีเลนส์รวมแสงทำให้แสงอาทิตย์ทวีกำลังมากขึ้น เป็นอันตรายอย่างยิ่งแก่ดวงตา
ภาพตัวอย่างอุปกรณ์และวิธีสังเกตการณ์สุริยุปราคาอย่างปลอดภัย
เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมจากการตั้งจุดสังเกตการณ์หลักเพื่อให้บริการประชาชน มาเป็นการถ่ายทอดสดปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน จากหอดูดาวภูมิภาคทั้ง 4 แห่ง ของ สดร. ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา ในวันที่ 21 มิถุนายน 2563 ตั้งแต่เวลา 13:00 - 16:10 น. สามารถติดตามได้ทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ www.facebook.com/NARITpage
สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาครั้งต่อไปที่สามารถสังเกตได้ในประเทศไทยคือ สุริยุปราคาบางส่วน ในวันที่ 2 สิงหาคม 2570 ซึ่งจะต้องรออีก 7 ปีต่อจากนี้ นายศุภฤกษ์กล่าวปิดท้าย
งานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-121268-9 ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250
E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. Website : www.narit.or.th
Facebook : www.facebook.com/NARITpage
Twitter : @NARIT_Thailand, Instagram : @NARIT_Thailand
Call Center กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โทร. 131