สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ชวนชม “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” คืน 21 ตุลาคม 2563 ตั้งแต่ 23.00 น. จนถึงรุ่งเช้า ทางทิศตะวันออก ปีนี้โอกาสดี ไม่มีแสงจันทร์รบกวน หากฟ้าใสไร้ฝน ชมด้วยตาเปล่าได้ทั่วประเทศ แนะจุดชมให้อยู่ในที่มืดสนิทและห่างจากเมือง
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวนายพราน” จะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 2 ตุลาคม – 7 พฤศจิกายน ของทุกปี ในปีนี้คาดว่ามีอัตราการตกสูงสุดในคืน 21 - 22 ตุลาคม 2563 สามารถสังเกตเห็นตั้งแต่เวลาประมาณ 23.00 น. ของวันที่ 21 ตุลาคม จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 22 ตุลาคม 2563 มีศูนย์กลางการกระจายอยู่ทางทิศตะวันออก บริเวณแขนของกลุ่มดาวนายพราน คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 20 ดวงต่อชั่วโมง
นายศุภฤกษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้นับเป็นโอกาสดีของการเฝ้ารอชม “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นดวงจันทร์ข้างขึ้น 4 ค่ำ ดวงจันทร์จะตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 22:00 น. จึงสามารถสังเกตเห็นฝนดาวตกโอไรออนิดส์ได้ตลอดทั้งคืน จนถึงรุ่งเช้า แนะนำสถานที่ชมให้อยู่ในที่ห่างจากเมืองหรือบริเวณที่มืดสนิทเพื่อให้แสงรบกวนน้อยที่สุด สำหรับวิธีการสังเกตฝนดาวตกที่ดีที่สุด คือ นอนชมด้วยตาเปล่า ตามทิศทางการกระจายตัวของฝนดาวตก หากฟ้าใสไร้ฝนสามารถชมความสวยงามของดาวตกโอไรออนิดส์ได้ทั่วประเทศ
ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ เกิดจากโลกเคลื่อนที่ตัดผ่านเส้นทางการโคจรของดาวหางฮัลเลย์ (1P/Halley) ที่หลงเหลือเศษฝุ่นและวัตถุขนาดเล็กจำนวนมากทิ้งไว้ในวงโคจรขณะเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อปี 2529 แรงโน้มถ่วงของโลกดึงดูดเศษฝุ่นและวัตถุขนาดเล็กเข้ามาเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก เกิดการลุกไหม้ เห็นเป็นแสงวาบคล้ายลูกไฟพุ่งกระจายตัวออกมาบริเวณกลุ่มดาวนายพราน มีสีเหลืองและเขียว สวยงามพาดผ่านท้องฟ้า
การสังเกตฝนดาวตกที่ดีที่สุด คือ นอนชมด้วยตาเปล่า และเลือกสถานที่ที่ห่างจากแสงในเมืองให้มากที่สุด โดยมองหากลุ่มดาวนายพราน ตั้งแต่ช่วงเวลา 23.00 น. เป็นต้นไป ทางทิศตะวันออก แม้คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยเพียง 20 ดวงต่อชั่วโมง แต่เนื่องจากเป็นฝนดาวตกที่เกิดบริเวณกลุ่มดาวนายพราน กลุ่มดาวที่มีความสว่างโดดเด่นบนฟ้า หากสามารถบันทึกภาพการกระจายตัวของฝนดาวตกได้ ก็จะทำให้ได้ภาพฝนดาวตกที่สวยงามเคียงข้างกลุ่มดาวนายพราน อีกทั้งยังเป็นฝนดาวตกในช่วงปลายฝนต้นหนาว ท้องฟ้ามักจะมีทัศนวิสัยดี จึงเหมาะแก่การเฝ้ารอชมและถ่ายภาพฝนดาวตกได้ตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้าอีกด้วย
สำหรับผู้สนใจถ่ายภาพฝนดาวตก สามารถถ่ายภาพได้ตั้งแต่ 23.00 น. เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุด คือ ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป เนื่องจากเป็นเวลาที่ชีกโลกที่เราอยู่จะรับดาวตกที่พุ่งเข้ามาแบบตรงๆ ดาวตกจะวิ่งตามทิศทางการหมุนของโลก ทำให้เราเห็นดาวตกวิ่งช้าและมีโอกาสถ่ายภาพฝนดาวตกหางยาวได้ง่าย นายศุภฤกษ์ กล่าวปิดท้าย
งานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-121268-9 ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250
E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. Website : www.narit.or.th
Facebook : www.facebook.com/NARITpage
Twitter : @NARIT_Thailand, Instagram : @narit_thailand
Call Center กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โทร. 1313