สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เผย 21 ธันวาคม 2563 เป็น “วันเหมายัน”(เห-มา-ยัน) กลางคืนยาวที่สุดในรอบปี ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูหนาว และประเทศทางซีกโลกใต้นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน วันดังกล่าวช่วงหัวค่ำยังเกิดปรากฏการสำคัญ “ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวเสาร์” ใกล้ที่สุดในรอบ 397 ปีอีกด้วย

pr20201221 1 01

 

          นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า วันที่ 21 ธันวาคมนี้ เป็น “วันเหมายัน” (เห-มา-ยัน) (Winter Solstice) เวลากลางคืนยาวที่สุดในรอบปี ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด สำหรับประเทศไทย ในวันดังกล่าวดวงอาทิตย์ขึ้น 06:36 น. และตกเวลาประมาณ 17:55 น. ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวที่สุดในรอบปี หรือที่คนไทยเรียกว่า “ตะวันอ้อมข้าว” เวลาช่วงกลางวันเพียง 11 ชั่วโมง 19 นาที โดยประเทศทางซีกโลกเหนือจะนับเป็นวันที่เข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้จะเป็นช่วงเวลากลางวันจะยาวที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน


pr20201221 1 02

          นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กลางวัน กลางคืน เกิดจากโลกหมุนรอบตัวเอง ในขณะเดียวกันโลกก็โคจรรอบดวงอาทิตย์ แกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแกนตั้งฉากระนาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้บริเวณต่าง ๆ ของโลกในแต่ละช่วงของปีได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน และเกิดเป็นฤดูกาล 

 

pr20201221 1 03

 

          ในระยะเวลา 1 ปี โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ จะเกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการ ขึ้น - ตก ของดวงอาทิตย์ทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่ วันครีษมายัน - กลางวันยาวนานที่สุด วันเหมายัน - กลางคืนยาวนานที่สุด วันวสันตวิษุวัตและวันศารทวิษุวัต - กลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน

          นอกจากนี้ ในวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ยังมีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญที่น่าติดตามในช่วงหัวค่ำวันดังกล่าวอีกด้วย คือ ปรากฏการณ์  “ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวเสาร์” ใกล้ที่สุดในรอบ 397 ปี หรือเรียกว่า “The Great Conjunction 2020” ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ปรากฏใกล้กันที่สุดห่างเพียง 0.1 องศา สังเกตเห็นได้หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าถึงเวลาประมาณ 19:30 น. เท่านั้น ดูด้วยตาเปล่าจะเห็นเสมือนเป็นจุดสว่างเพียงจุดเดียว และหากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่เกิน 200 เท่า จะเห็นดาวเคราะห์ทั้งสองพร้อมดวงจันทร์บริวารอยู่ในช่องมองภาพเดียวกัน  จึงขอเชิญชวนผู้สนใจติดตาม ชมความสวยงามของสองดาวเคราะห์เคียงกันในวันดังกล่าว นายศุภฤกษ์ กล่าวปิดท้าย

pr20201221 1 04

pr20201221 1 05

 

งานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

โทร. 053-121268-9 ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250 

E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.  Website : www.narit.or.th

Facebook : www.facebook.com/NARITpage

Twitter : @NARIT_Thailand,  Instagram : @narit_thailand

Call Center กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โทร. 1313