สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยกราฟแสดงค่าฝุ่น PM2.5 จากเทคโนโลยีไลดาร์ (LiDAR) บ่งชี้ค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กในแต่ละช่วงเวลา นำข้อมูลมาประยุกต์กับแบบจำลองคุณภาพอากาศ สามารถคาดการณ์อัตราการเกิดฝุ่นล่วงหน้าได้ 3 วัน แม่นยำถึง 80%
กลุ่มวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ สดร. (Atmospheric Research Unit of NARIT : ARUN) เผยกราฟการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในอากาศกับระดับชั้นความสูงผสม (ความสูงของชั้นบรรยากาศที่สามารถเจือจางสารมลพิษทางอากาศ) ตรวจวัดโดยใช้เทคโนโลยีไลดาร์ (Light Detection and Ranging: LiDAR) เครื่องมือวิจัยและเก็บข้อมูลการสังเกตการณ์ชั้นบรรยากาศ สามารถบ่งชี้ค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในแต่ละช่วงเวลา ช่วยประมาณการกระจายตัว การเคลื่อนที่ การเปลี่ยนแปลง รวมถึงการสะสมตัวของฝุ่นละอองและมลพิษต่าง ๆ ในอากาศได้
จากกราฟแสดงการผันแปรประจำวันระหว่างระดับชั้นความสูงผสมกับค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2564 สรุปได้ว่าค่าเฉลี่ยและค่ากลางมัธยฐานของระดับชั้นความสูงผสมจะแปรผกผันกับค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองในอากาศในแต่ละช่วงเวลา กล่าวคือ “หากระดับชั้นความสูงผสมกดต่ำลง จะมีค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองสูง หากระดับชั้นความสูงผสมลอยตัวสูง จะมีค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองต่ำ”
ทั้งนี้ ดร. โรนัลด์ มาคาทังงัย (Dr.Ronald Macatangay) ดร. ฐิฏาพร สุภาษี และนายจิระศักดิ์ น้อยสะปุ๋ง ทีมวิจัยบรรยากาศ สดร. เป็นผู้ดำเนินการศึกษาและจัดทำแบบจำลองคาดการณ์ระดับชั้นความสูงผสมในแนวผกผันของชั้นบรรยากาศในพื้นที่ จ. เชียงใหม่ โดยคาดการณ์ล่วงหน้าจำนวน 3 วัน พบว่ามีค่าความแม่นยำถึง 80%
ดร. วนิสา สุรพิพิธ นักวิจัยชำนาญการ กลุ่มวิจัยบรรยากาศ สดร. กล่าวว่า การประมาณลักษณะเฉพาะทางอุตุนิยมวิทยาอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชั้นความสูงผสม เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสร้างแบบจำลองคุณภาพอากาศ และเป็นปัจจัยหลักของการจำลองสภาพชั้นขอบเขตบรรยากาศโดยอาศัยชั้นอุณหภูมิผกผัน (อากาศเย็นด้านล่าง ร้อนด้านบน เนื่องจากเชียงใหม่มีความร้อนจากตัวเมืองในช่วงกลางวัน ที่ค่อยๆ คายออกในช่วงกลางคืน) โดยทั่วไปการประมาณการค่าความแม่นยำของระดับชั้นความสูงผสมในลักษณะภูมิประเทศแบบเทือกเขาสูง เช่น จังหวัดเชียงใหม่ โดยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์นั้น ต้องอาศัยผลการตรวจวัดจริงรายชั่วโมง
ดังนั้น การนำเทคโนโลยีไลดาร์ ที่สามารถเก็บข้อมูลรายนาทีเพื่อเฉลี่ยเป็นรายชั่วโมงได้ มาประยุกต์ใช้ควบคู่กับแบบจำลองทางอากาศ จะช่วยประมาณการระดับชั้นความสูงผสมจากแบบจำลองคุณภาพอากาศได้แม่นยำมากขึ้น และยังจะช่วยให้สามารถคาดการณ์ปริมาณฝุ่นละอองในอากาศได้
ทั้งนี้ ทีมวิจัยของกลุ่มวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ สดร. คาดการณ์ว่า ในช่วงนี้ภาคเหนือตอนบนจะมีหมอกควันปกคลุมไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากในเดือนมีนาคมมีช่วงเวลากลางวันยาวนานขึ้น และมีแสงอาทิตย์มากขึ้น ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาเคมีในบรรยากาศช่วงกลางวันมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการก่อตัวของละอองลอยขนาดเล็กอย่าง PM2.5 ดังนั้นการเผาในที่โล่งแม้เพียงเล็กน้อยจะทำให้ฝุ่นละอองสะสมตัวในอากาศ ไม่หายไปไหน ประกอบกับสภาพอากาศแห้งและไม่มีลม ทำให้ไม่สามารถเกิดเมฆฝน แนะนำให้งดการเผาในที่โล่งโดยเด็ดขาด และลดการขับขี่ยานพาหนะที่ใช้น้ำมันดีเซลมาตรฐานต่ำ สำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพโดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แนะนำให้อยู่ในบ้านหรือห้องปิดที่มีเครื่องฟอกอากาศ หากต้องเดินทางให้สวมหน้ากากกัน PM2.5 ตลอดเวลาจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ดร. วนิสา กล่าวปิดท้าย
ข้อมูล : กลุ่มวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ สดร.
(Atmospheric Research Unit of NARIT : ARUN)
งานประชาสัมพันธ์ และสื่อสารองค์กร สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-121268-9 ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250
E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. Website : www.narit.or.th
Facebook : www.facebook.com/NARITpage
Twitter : @NARIT_Thailand, Instagram : @narit_thailand
Call Center: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โทร. 1313