จากความฝันในวัยเยาว์ สู่การมุ่งมั่นเรียนรู้ จนเป็นผู้ที่สามารถสร้างดาวเทียมสัญชาติไทยดวงแรกของไทย ส่งไปโลดแล่นอยู่ในอวกาศในปี 2018 และยังเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการสร้างดาวเทียมดวงที่สองผีมือเด็กมัธยม และเขากำลังจะสร้างตำนานด้วยการสร้างยานอวกาศไปดวงจันทร์ในอีก  7 ปีข้างหน้า

image

ดร.พงศธร สายสุจริต มนุษย์ผู้ไม่เคยหยุดแค่ความฝัน

 

ใครจะคิดว่าเด็กบ้านนอกเรียนโรงเรียนเพิงเล้าไก่ จะสามารถทำได้ 

วันนี้เรามาพูดคุยกับ “มนุษย์ดาวเทียม” ที่จะเปิดโลกทัศน์ของคนรุ่นใหม่ ต่อยอดความฝันสู่ความเป็นจริง มุมมองอันเฉียบคมกับประสบการณ์ตรงกว่า 20 ปี  ที่เจ้าตัวบอกว่าในบางจังหวะชีวิต เลือดตาแทบกระเด็น ต้องต่อสู้ทั้งคำสบประมาท ดูแคลน และระบบที่ไม่ให้โอกาส แต่ไม่เคยย่อท้อ ต่อสู้จนมีวันนี้

ดร. พงศธร สายสุจริต หรือ อาจารย์ปอม อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบินอวกาศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และในหมวกอีกใบคือ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทย (INSTED) เด็กต่างจังหวัดที่เกิดและเติบโตจากอุตรดิตถ์ ก่อนจะย้ายมาอาศัยอยู่กับลุง ที่ศูนย์สงครามพิเศษ ลพบุรี จากสาเหตุไม่สนใจเรียน วัน ๆ เอาแต่นั่งรื้อวิทยุ โทรทัศน์ จนต้องส่งตัวมาดัดนิสัยในค่ายทหาร และศึกษาต่อระดับมัธยมต้น ที่โรงเรียนพระนารายณ์ สมัยเพิ่งดัดแปลงเล้าไก่เป็นห้องเรียน เจ้าตัวและเพื่อนก็นั่งเรียนกับพื้นไม้กระดานมีเพียงหลังคาใบจากคุ้มแดดฝน

 

pr20210416 1 02

 

อาจารย์ปอมเล่าถึงภาพจำตั้งแต่วัยเด็กที่เขาเห็น จรวดทยานขึ้นสู่ฟากฟ้า มีกลุ่มควันมหึมาพวยพุ่งออกมาจากฐานปล่อย มันทำให้เกิดคำถามในหัวว่า มันคืออะไร จรวดนั้นถูกส่งไปที่ไหน และมันไปทำอะไร  ทำไมมันดูล้ำ มันดูเจ๋งมาก และจุดพีคสุดในชีวิตคือ วันที่ 18 ธันวาคม 2536 มีการถ่ายทอดสดการส่งดาวเทียมไทยคมดวงแรกของไทย จากฐานส่งประเทศฝรั่งเศส วินาทีนั้นเขาบอกกับตัวเองว่า “อยากสร้างดาวเทียม” และมันเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาไม่เคยหยุดฝันอีกเลย เวลาใครถามโตขึ้นอยากทำอะไร ก็จะตอบว่าอยากสร้างดาวเทียม แน่นอน ทุกคนหัวเราะและไล่เขาไปซ่อมวิทยุ ทีวี ที่รื้อและไม่เคยซ่อมมันได้แม้แต่ครั้งเดียว มีเพียงครูวิชัย ครูสอนวิทยาศาสตร์เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ให้กำลังใจและพูดว่ายุคนี้ต้องคิดแบบนี้

 

pr20210416 1 03 pr20210416 1 04

18 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ดาวเทียมไทยคม (THAICOM) ดาวเทียมดวงแรกของไทย ถูกส่งขึ้นวงโคจร จากฐานส่งของบริษัท Arianespace ประเทศฝรั่งเศส ที่เมือง Kourou ประเทศ French Guiana ทวีปอเมริกาใต้  (ภาพ : arianespace.com, space.skyrocket.de)

 

แม้จะพยายามบอกกับใครเสมอว่าเป็นคนเรียนไม่เก่ง แต่หลังจากจบการศึกษาระดับมัธยม 3 แล้วเขาได้สอบเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนมัธยมอันดับ 1 ของเมืองไทยคือ เตรียมอุดมศึกษา และยังคิดเรื่องการสร้างดาวเทียมอยู่ในหัวเสมอ แม้จะยังมองไม่เห็นหนทางที่จะเดินไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร จนในที่สุดโอกาสก็มาถึงเมื่อเพื่อนชวนไปสอบชิงทุนไปต่างประเทศ เป็นการตัดสินใจที่รวดเร็วเนื่องจากเป็นวันสุดท้ายของการสมัครสอบ อาจารย์ปอมสมัครไปตามเพื่อนเท่านั้น และไม่คิดว่าจะสอบได้ จนกระทั่งผลสอบออกมาว่าเขาติด 1 ใน 3 ของประเทศ โดยคะแนนมาเป็นที่ 1 มีสิทธิไปศึกษาต่อต่างประเทศ ซึ่งโดยปกติ นักเรียนจะสามารถเลือกไปเรียนได้ 3 ประเทศ คือ เยอรมัน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น แต่ในปีที่เขาสอบ มีเพียงประเทศเดียวคือ ญี่ปุ่น ซึ่งแน่นอนว่าเขาต้องไปเรียนที่นั่น อย่างไม่มีทางเลือก

อาจารย์ปอม เข้าเรียนภาษาญี่ปุ่นถึง 2 ปี เนื่องจากการเรียนใช้ภาษาญี่ปุ่น และเพื่อเป้าหมายที่จะค้นคว้าหาหนทางว่าการจะสร้างยานอวกาศนั้นต้องไปเรียนที่ไหน สมัยปี 1996 (2539) ถ้าจะไปเรียนก็มีแค่ 2 มหาวิทยาลัยเท่านั้นคือมหาวิทยาลัยโตเกียว กับสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว (Tokyo Tech) ที่สอนการสร้างยานอวกาศ ก็เลยตั้งเป้าว่าต้องเข้ามหาวิทยาลัยโตเกียวให้ได้ และต้องเข้าสาขาที่ยากที่สุดของคณะวิศวกรรมศาสตร์ คือ วิศวกรรมการบินอวกาศ เพราะความอยากสร้างดาวเทียมไม่เคยออกจากหัว ด้วยความที่เจ้าตัวบอกว่าเป็นคนธรรมดา ไม่ใช่อัจฉริยะ อยากได้คะแนนดีก็ต้องพยายาม ไม่มีอะไรที่ได้มาแบบง่าย ๆ หากไม่ลงมือทำ หลายครั้งที่ท้อก็คิดว่าไม่มีใครอ่านหนังสือจนตาย

 

pr20210416 1 05

อาจารย์ปอมกับคุณพ่อ (ขวา) และ Host ชาวญี่ปุ่น (ซ้าย) ที่อาศัยอยู่ขณะเรียนมัธยม ในวันเปิดเรียนวันแรกที่โรงเรียนสาธิตกักคุเก

 

จากนั้นก็เดินทางตามฝัน เริ่มจากการเข้าเรียนที่ไฮสคูลที่โรงเรียนสาธิตกักคุเก ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาลอันดับ 1 ของญี่ปุ่น ถ้าไม่ได้คะแนนระดับท็อป เราก็จะไม่สามารถเข้ามหาวิทยาลัยโตเกียวได้ หมายถึงความฝันที่เราจะสร้างดาวเทียมก็จบไปด้วย อาจารย์ปอมบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากการสอบต้องใช้ภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด ยิ่งวิชาที่เราไม่รู้มาก่อนเช่น วรรณคดีญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น พอถึงวันสอบในห้องมี 35 คน เราได้ที่ 32 ตอนนั้นคิดว่า ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป เราคงไม่สามารถเข้าเรียนที่อยากจะเข้าได้แน่นอน ยิ่งในสาขาที่ยากที่สุดของวิศวกรรมศาสตร์ที่มีคนแข่งขันกันถึง 3,000 คน และ 50 คนแรกที่คะแนนสูงสุดจะสามารถเข้าเรียนสาขา วิศวกรรมการบินอวกาศได้ จากนั้นก็ต้องแข่งกันอีก มี 5 คนเท่านั้นที่จะเข้าเรียนในห้องแล็ปที่สร้างยานอวกาศได้ ผมไม่เคยเห็นใครอ่านหนังสือตายเลยสักคน แต่ถ้าผมจะต้องตายก็คิดว่ามันต้องเป็นแบบนั้น จากนั้นก็อ่านหนังสืออย่างหนัก มันไม่มีเคยมีครั้งไหนได้คะแนนดีเพราะรู้สึกว่าตัวเองฉลาด เราต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก คนญี่ปุ่นอ่าน 1 รอบ เราต้องอ่าน 10 รอบ จำได้ทุกหน้า ทุกตัวอักษร รู้เลยว่าเรื่องนี้ อยู่หน้าไหนบรรทัดที่เท่าไหร่ บอกกับตัวเองว่า ถ้าทำคะแนนไม่ดี ชนะคนญี่ปุ่นไม่ได้จะเผาตำราทิ้งแล้วก็เลือกที่จะไม่เรียนอีกต่อไป ผลปรากฎว่าได้คะแนนเป็นที่หนึ่งของชั้นในวิชานั้น

 

pr20210416 1 06

อ่านหนังสือ ชีวิตวัยมัธยมของเด็กชายปอม

 

“และเพื่อเป็นการเตือนใจ ที่โต๊ะเรียนหนังสือผม ติดคำพูดที่ตัวเองเขียนไว้ว่า “ผมจะเรียนสร้างดาวเทียมให้เป็น ไม่งั้นผมจะไม่กลับประเทศไทย และถ้าผมกลับประเทศไทยไปแล้ว ผมจะสร้างดาวเทียมของประเทศไทยให้ได้”

แต่แล้วปัญหาก็มาอีก อาจารย์ปอมบอกว่า ที่เราพยายามทุกอย่างเพราะเป้าหมายเดียวซึ่งมันธรรมดามาก คือ “อยากสร้างดาวเทียมเป็น อยากสร้างยานอวกาศของตัวเองให้เป็น” แต่พอเรียนจบไฮสคูล ตอนจะเอนทรานซ์ตอนปี 2001 (2544) รัฐบาลไทยไม่อนุญาตให้เรียนวิศวกรรมอวกาศ เพราะไม่มีอยู่ในรายการที่รัฐบาลกำหนดว่าให้เรียนได้ ผมเลยเขียนหนังสือถึงเลขาธิการ กพ. ในขณะนั้น ขออนุญาตเรียนสาขานี้เนื่องจากมันมีประโยชน์ต่อประเทศอย่างมาก สุดท้ายเขาก็อนุญาต (เป็นคนแรก) 

ในที่สุดอาจารย์ปอมก็ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยโตเกียวใน คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมการบินอวกาศ และได้เรียนในห้องแล็ปที่สร้างยานอวกาศ  ได้เป็นผลสำเร็จ ห้องแล็ปนี้เปิดสอนมาร้อยกว่าปีแล้ว เขาเป็นคนไทยคนแรกที่ได้เข้าไปเรียน

 

pr20210416 1 07 pr20210416 1 08

ระหว่างเรียนปริญญาตรี เอา CanSat ใส่จรวดไปทดลองปล่อยที่ทะเลทราย

 

สิ่งที่น่าสนใจของญี่ปุ่นอีกอย่างคือ การสืบทอดดีเอ็นเอของบรรพบุรุษ ใครจะคิดว่าญี่ปุ่นมีโรงแรมเก่าแก่อายุ 1,300 ปี ปัจจุบันยังบริหารด้วยทายาทรุ่น 52  ห้องแล็ปก็เช่นกัน ห้องแล็ปยานอวกาศ ก็ก่อตั้งจากอาจารย์คนแรกเลยที่จะทำเรื่องอวกาศในประเทศญี่ปุ่น ชื่ออาจารย์ทานาเบะ ที่สร้างงานวิจัยเกี่ยวกับการสร้างยานอวกาศ ราว ๆ 60 ปีที่แล้ว ส่วนอาจารย์ที่ปรึกษาของอาจารย์ปอม ชื่อ ซูกิชิ นากาซึกะ เป็นลูกศิษย์เบอร์หนึ่งของอาจารย์ทานาเบะ ตอนที่ท่านจะเสียชีวิต อาจารย์นากาซึกะ เพิ่งจบปริญญาเอกไปทำงานอยู่ที่ไอบีเอ็มได้สองปี อาจารย์ทานาเบะเรียกอาจารย์นากาซึกะกลับมาที่มหาวิทยาลัยโตเกียว เพื่อสืบทอดห้องแล็ปและจะเปลี่ยนชื่อไปตามชื่อของผู้สืบทอด แล้วอาจารย์นากาซึกะก็จะสร้างผู้สืบทอดรุ่นต่อไปเตรียมรอไว้ตอนท่านจะเสีย ท่านจะไม่เก็บคนเก่งไว้ทั้งหมด ลูกศิษย์ 5 คนที่ถูกคัดมาจะถูกส่งไปทำงานในภาครัฐ ภาคเอกชน และเก็บไว้ข้างตัว หนึ่งในนั้นก็จะมีคนที่สืบทอดดีเอ็นเอ ของท่านต่อไป

อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นถ้าไปถามบริษัทที่ทำยานอวกาศ หรือจรวดอะไรก็แล้วแต่ หรือแม้แต่ JAXA (องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น) ทุกคนจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า 30% ของคนที่อยู่ในวงการอุตสาหกรรมอวกาศ มาจากห้องแล็ปอาจารย์ทานาเบะ ซึ่งทุกวันนี้คือห้องแล็ปนากาซึกะ

“ผมเข้าไปตอนช่วงที่แล็ปกำลังสร้างดาวเทียมไมโครแซทดวงแรก อาจารย์นากาซึกะ เลยส่งลูกศิษย์ไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ แต่ให้ผมไปอยู่ในโรงงานกับพวกคุณลุงที่ทำชิ้นส่วนดาวเทียม แต่เชื่อไหมว่าคนพวกนี้เป็นมืออาชีพโดยธรรมชาติ เขาหลับตาแล้วลูบก้อนโลหะ รู้เลยว่าอันไหน แมกนีเซียม อันไหนอลูมิเนียม บอกถึงเบอร์ได้เลยด้วยซ้ำ ผมเขียนแบบดาวเทียมแล้วเอาไปให้คุณลุง แกด่าผมกลับมาว่า เขียนแบบโง่งี่เง่า ไปเขียนมาใหม่มันใช้ไม่ได้ จริง ๆ คุณลุงพวกนั้นจบอาชีวะ เริ่มจากเป็นช่าง และใช้ประสบการทั้งชีวิตในการทำงาน ซึ่งทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า ไม่ว่าจะเทคโนโลยีอะไรก็ตามจะล้ำสมัยแค่ไหน สุดท้ายมันจบด้วยมือคน”

 

pr20210416 1 09 pr20210416 1 10

CanSat ที่อาจารย์ปอมสร้างเองสมัยเรียนปริญญาตรี ถูกนำไปเขียนเป็นการ์ตูนเรื่อง Space Brothers ซึ่งต่อมาถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์

 

อาจารย์ปอม ยังได้เล่าถึงความประทับใจที่ไม่เคยลืมคือ อาจารย์นากาซึกะให้กลุ่มนักศึกษา ปริญญาตรี โท และเอก ช่วยกันสร้างดาวเทียมดวงเล็ก  โดยให้พี่ปริญญาเอกออกแบบ สมัยนั้นยังไม่มีใครสร้างดาวเทียมเป็น ในพิพิธภัณฑ์สมัยก่อนก็ไม่ค่อยมี มันใหม่มากเมื่อ 20 ปีที่แล้ว พวกเราเลยไปขอความรู้จากองค์การอวกาศประเทศญี่ปุ่น มีแต่คนหัวเราะเยาะ แล้วก็พูดทำนองว่า ไอ้หนูดาวเทียมแบบนี้ไม่ใช่ของเล่นนะ จะไปทำงานได้อย่างไรในอวกาศ แต่มีวิศวกรท่านหนึ่งชื่อ อาจารย์โนดะหนึ่งในเทพด้านดาวเทียมขนาดเล็กของญี่ปุ่น อยู่ใน JAXA แอบมาเปิดห้องแล็ปเอาดาวเทียมของเราไปช่วยทดสอบ แรก ๆ ก็ล้มเหลว ระเบิดกระจาย เพราะอุปกรณ์เราก็ซื้อจากอากีคาบาร่าหรือบ้านหม้อบ้านเรา ก็เอามากอง ๆ แล้วทำ พวกเราทำกันและคิดว่า ดาวเทียมดวงนี้อยู่ในอวกาศได้สักเดือนนึงก็เก่งแล้ว (แต่วันนี้มันอยู่มา 18 ปี แล้วก็ยังใช้ได้อยู่)

พอทำเสร็จ ก็มีปัญหาอีกว่าจะส่งออกไปนอกโลกได้อย่างไร เพราะตั้งแต่มีองค์การอวกาศ ก็ยังไม่เคยมีดาวเทียมดวงไหนที่มันเล็กขนาดนี้ เอาไปฝากใครส่งเขาก็ไม่รับ อาจารย์นากาซึกะก็เลยเดินทางไปทั่วโลก ไปหาบริษัทจรวดเขาก็ไม่รับส่ง จนไปรัสเซีย ก็ไปเจอบริษัทนึงรับส่งจรวด ครั้งแรกเขาไม่รับอาจารย์นากาซึกะก็อ้อนวอนว่า นี่เป็นดาวเทียมดวงแรกของโลกที่นักเรียนเป็นคนทำ เขาก็ยังไม่สนใจ จากนั้นอาจารย์นากาซึกะก็เลยบินกลับญี่ปุ่น ควักเงินตัวเองให้ซื้อตั๋วเครื่องบินให้นักศึกษาซึ่งเป็นทีมงานไปรัสเซีย แล้วก็บอกกับ ซีอีโอของบริษัทจรวดนั้นว่า “ให้จำหน้าพวกเขาเหล่านี้ไว้ อีกไม่กี่สิบปี พวกเขาเหล่านี้คือผู้ที่จะกำหนดทิศทางกิจการอวกาศของประเทศญี่ปุ่น ช่วยเขาหน่อยได้ไหม” จนเจ้าของบริษัทยอม

 

pr20210416 1 11

 

“และแล้ว ยี่สิบปีต่อมา ดาวเทียมขนาดเล็กของญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ส่งจากรัสเซีย แล้วหนึ่งในนักศึกษาวันนั้น วันนี้เขาคือ อาจารย์อาซะดะ ยูอิจิ  Project Manager ของ Hayabusa 2 และอีกท่านก็เป็น ซีอีโอของบริษัท Axelspace หนึ่งในท็อปเท็นของสตาร์ทอัพประเทศญี่ปุ่น แล้วก็เป็นบริษัทชั้นนำด้าน Space Tech จนทุกวันนี้ ที่เหลือเป็นนักบินอวกาศ คนที่ทำระบบลงจอดแนวตั้งของจรวดของ อิลอน มัสก์ ก็ทีมนี้เป็นรุ่นพี่ที่จบภาคเดียวกับกันผม อีกคนชื่อ Masahiro Ono เราทำ CanSat มาด้วยกัน จบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยโตเกียวแล้วไปต่อปริญญาโทเอกที่ MIT แล้วก็ไปทำงานที่ Jet Propulsion Laboratory หรือ JPL ห้องปฏิบัติการที่สร้างยานอวกาศต่างๆให้กับ NASA (เป็นหนึ่งวิศวกรพัฒนายาน Perseverance ที่กำลังสำรวจดาวอังคารอยู่ในขณะนี้)

หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโตเกียว (The University of Tokyo) ตั้งแต่ปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมการบินอวกาศ (ด้าน Satellite System) ปริญญาโท สาขาวิศวกรรมการบินอวกาศ (ด้าน Space Robot) มหาวิทยาลัย โทโฮคุ (Tohoku) และกลับมาศึกษาต่อสาขาวิศวกรรมการบินอวกาศ จนจบปริญญาเอก มหาวิทยาลัยโตเกียว (ด้าน Space Robot + Satellite System) จากนั้นได้กลับมาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบินอวกาศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และนำต้นแบบการบริหารคนมาใช้สอนนักเรียนจนได้ลูกศิษย์ที่มีดีเอ็นเอเดียวกันคือ ชื่อจ๊อด – นวรัตน์ วรกุล จากวิทยาลัยเทคนิคลำปาง แล้วสุดท้ายมาจบปริญญาโท สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ วันนี้เขาคือตัวตายตัวแทนของอาจารย์ปอมที่สามารถสร้างดาวเทียมทั้งลูกได้ นอกจากนี้ยังมีลูกศิษย์ดีเอ็นเอดาวเทียมอีกหลายคนที่กระจายออกไปทำงานในที่ต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น อาร์ต-พงศกร มีมาก ไปอยู่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ปัจจุบันเป็นหนึ่งในวิศวกรดาวเทียมของโครงการ Thai Space Consortium  เปา-อภิวัฒน์ จิรวัฒนผล  ปัจจุบันเป็น CEO หน่วยธุรกิจใหม่ Start up ในนาม บริษัท NBSpace ทำธุรกิจด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีดาวเทียม ส่งเสริมให้เกิดธุรกิจและอุตสาหกรรมในประเทศ

 

pr20210416 1 12

ดาวเทียมดวงแรกที่ประกอบเอง และใช้เป็นต้นแบบในการขอทุนจากหน่วยงานต่างๆ

 

แต่การเริ่มต้นไม่ใช่เรื่องง่าย ทีมของอาจารย์ปอมได้เอาดาวเทียมที่ประกอบเอง ไปขอทุนแต่ไม่มีใครให้ มีที่เดียวที่ให้โอกาสคือ กสทช. จากวันนั้นผ่านไปสองปี ความฝันของอาจารย์ปอมก็เป็นความจริง เมื่อดาวเทียมดวงแรกของไทย ผลงานของ มจพ. ชื่อ KNACKSAT ได้ถูกส่งไปโคจรในอวกาศแล้วเมื่อปี 2018 แต่มันไม่เวิร์คร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันก็ยังไม่ตายแต่ไม่เสถียรก็เลยทำให้ขอทุนไม่ได้อีก ทำให้รู้สึกกดดันมาก และก็ตั้งเป้าหมายว่าเราจะต้องแก้ไขมันให้ได้ เราก็มานั่งคุยกันว่ามันไม่เวิร์คอย่างไร หลังจากนั้นอีก 1 ปี โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนมาขอให้ทีมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สอนเขาทำดาวเทียม เราก็เลยเอาปัญหาที่เราเจอไปสอนที่นั่น น้อง ๆ ที่เรียนก็เป็นเด็ก ม.4-6 เราไปสอนมีอยู่วันนึง เราก็เอาปัญหาที่เราใช้เวลาปีกว่าเพื่อหาคำตอบทำไมดาวเทียมมันถึงไม่เวิร์ค จนวันนี้เรารู้แล้วว่าปัญหาคืออะไรไปบอกกับนักเรียน น้อง ๆ  เด็กบอกว่าพี่ไม่ต้องเป็นห่วงนะ เดี๋ยวน้องจะแก้มือให้พี่เอง ดาวเทียมที่น้องทำมันจะไม่เกิดปัญหานี้ โมเมนท์นั้น ดร.ปอมบอกว่าแทบน้ำตาไหล

ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม 2564  ดาวเทียม BCC-SAT ของน้อง ๆ กรุงเทพคริสเตียน ถูกปล่อยเข้าสู่วงโคจร ปรากฏว่ามันทำงานได้เวิร์คร้อยเปอร์เซ็นต์ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากดาวเทียม KNACKSAT มันถูกแก้ไขเรียบร้อย แล้วมันก็พิสูจน์ทราบว่า ปัญหาที่เราค้นพบ มันถูกแก้แล้ว ตอนนี้นักดาวเทียมทุกคน นักวิทยุสมัครเล่นทั่วโลกสามารถรับสัญญาณได้ อีกไม่นานเราคงได้ภาพถ่ายจากอวกาศจากดาวเทียมดวงนี้เป็นรูปแรก

 

pr20210416 1 13

 

“ถ้าเราไม่มีความล้มเหลวอันเกิดจาก KNACKSAT ในวันนั้น จะไม่มี BCC-SAT ในวันนี้ แล้วผมกล้าบอกกับทุกคนว่า ผมขอขอบคุณ กสทช. มาก ที่ให้ทุนเรา แล้วขอบคุณที่มีปัญหาเมื่อสองปีก่อน เพราะจากนี้ไปดาวเทียมที่ผมสร้างจะไม่เกิดปัญหานี้อีกต่อไป เพราะเรารู้ว่ามันมีปัญหาเพราะอะไร และตอนนี้กำลัง ทำดวงที่สอง KNACKSAT-2 ซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม”

แม้ปัจจุบันเรื่องอวกาศจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่ไม่ได้ความว่าการสร้างดาวเทียม หรือยานอวกาศมันจะทำได้ง่าย ชนิดที่ใครจะเอามาพูดว่า ใคร ๆ ก็ทำได้ มันไม่ได้ยาก แต่มันก็ไม่ง่าย เวลานี้มีเด็กอยู่สองแบบคือ เด็กมองว่า “ยากทำไม่ได้หรอก” คนที่คิดแบบนี้ เราก็จะบอกว่าถ้ามันเป็นเรื่องที่คนอื่นทำได้ และทำมานานแล้ว ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะทำไม่ได้ และถ้าเราทำไม่ได้ คุณก็ต้องพิจารณาตัวเอง เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ส่วนเด็กอีกกลุ่มหนึ่งจะมองว่า ดาวเทียมเป็นเรื่องง่ายใครๆ เค้าก็ทำ เราก็จะถามกลับว่า ไหนล่ะดาวเทียมที่คุณสร้าง แต่ถ้าเป็นดาวเทียมที่เราสร้างเราเอามาโชว์ได้   

 

pr20210416 1 14

อาจารย์ปอมกับบทบาทการสอนนักศึกษา

 

หลายคนมองแค่ความสำเร็จที่อยู่เบื้องหน้า แต่หารู้ไม่ว่าเบื้องหลังมันเจ็บปวดแค่ไหนกว่าจะผ่านมาแต่ละด่าน ไม่มีใครรู้เลยถ้าไม่ลงมือทำเอง คนอื่นมองเหมือนง่าย แต่จริง ๆ คนทำสำเร็จมีไม่เยอะ การมีความมั่นใจเป็นเรื่องที่ดี แต่การที่ over confident ว่าคนอื่นทำได้ เราไม่ต้องทำหรอก ถ้าเราเอาจริงก็ได้อยู่แล้ว แต่คนที่ประสบความสำเร็จ เขาจะเอาจริงตลอดเวลาและไม่เคยเล่น มันไม่ได้ยากเกินความสามารถ แต่ก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น

“ยิ่งผ่านความล้มเหลวมาหลายครั้งยิ่งเข้าใกล้ความสำเร็จมากเท่านั้น”

เมื่อถามว่า ความฝันสูงสุดของชีวิตนี้คืออะไร อาจารย์บอกว่า ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ เนื่องจากตัวเองจะฝันทีละเฟส ตอนนี้เป้าหมายคือ อยากจะสร้างยานอวกาศไปดวงจันทร์ให้ได้ จากการเข้าร่วมเป็นหนึ่งใน ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium: TSC) อาจารย์ปอมรับหน้าที่เป็นผู้จัดการโครงการสร้างดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ TSC-1 ซึ่งเป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ ส่งออกไปโคจรรอบโลก ขนาดประมาณ 100 กิโลกรัม มีอุปกรณ์ Payload เป็นกล้องถ่ายภาพหลายช่วงคลื่น ดาวเทียมแต่ละดวงประกอบด้วยระบบต่างๆ อาทิ ระบบสื่อสาร ระบบความร้อน ระบบไฟฟ้า ระบบรับสัญญาน ฯลฯ ผมมีหน้าที่ทำอย่างไรก็ได้ สร้างดาวเทียมนี้ให้สำเร็จ ส่งไปสู่อวกาศ และปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วง  หากดาวเทียม TSC-1 สำเร็จ การต่อยอดไปสู่ดาวเทียม TSC-2 ที่จะไปโคจรรอบดวงจันทร์ก็เป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินฝันอีกต่อไป หากไม่มีอุปสรรค (ที่ทำให้เราทำอะไรไม่ได้) ระหว่างทาง ภายใน 7 ปี ยานอวกาศสัญชาติไทยที่จะไปดวงจันทร์เกิดได้แน่

ส่งทุกกำลังใจไปให้ อาจารย์ปอม ดร.พงศธร สายสุจริต

มิสเตอร์ดาวเทียมคนแรกของไทย

 

pr20210416 1 15

จากซ้าย ดร.พีรพงศ์. ต่อฑีฆะ – Project Manager ดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ TSC-Pathfinder, ศ. พิเศษ ดร. อเนก เหล่าธรรมทัศน์ – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม, ดร. พงศธร. สายสุจริต - Project Manager ดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ TSC-1

 

pr20210416 1 16

แบบร่างของดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ TSC-1