จากดาวเทียมดวงเล็ก (Cubesat) ชื่อ KNACKSAT ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และดาวเทียมดวงเล็ก BCCSAT-1 จากนักเรียนมัธยมจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน สู่ปฏิบัติการล่าฝันของทีมวิศวกรไทย กับการสร้างและพัฒนาไมโครแซทสัญชาติไทย TSC-1 ดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ ตั้งเป้าพลิกโฉมประเทศไทย จาก “ผู้ซื้อ” เป็น “ผู้สร้าง”
อาจารย์ปอม ดร. พงศธร สายสุจริต เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบินอวกาศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และรักษาการผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทย (INSTED) และอีกหมวกใบสำคัญ เป็นผู้จัดการโครงการดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ TSC-1 ภายใต้ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย
“ผมจะเรียนสร้างดาวเทียมให้เป็น
ไม่งั้นผมจะไม่กลับประเทศไทย
และถ้าผมกลับประเทศไทยไปแล้ว
ผมจะสร้างดาวเทียมของประเทศไทยให้ได้”
หนึ่งในประโยคที่เขียนติดไว้ที่โต๊ะอ่านหนังสือของเด็กชายพงศธร หรือปอม ขณะเรียนระดับไฮสคูลที่โรงเรียนสาธิตกักคุเก โรงเรียนรัฐบาลอันดับ 1 ของญี่ปุ่น หลังจากสอบชิงทุนรัฐบาลไทยไปศึกษาต่อระดับมัธยมปลายจนถึงปริญญาเอกที่ประเทศญี่ปุ่น เดินทางตามความฝันในวัยเด็ก ที่นั่งดูถ่ายทอดสดการส่งดาวเทียมไทยคม 1 ขึ้นสู่อวกาศเมื่อปี พ.ศ. 2536 ภาพจรวดทยานขึ้นสู่ฟากฟ้า มีกลุ่มควันมหึมาพวยพุ่งออกมาจากฐานปล่อย จุดประกายสร้างแรงบันดาลใจ “อยากสร้างดาวเทียมให้เป็น” 18 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ดาวเทียมไทยคม (THAICOM) ดาวเทียมดวงแรกของไทย ถูกส่งขึ้นวงโคจร จากฐานส่งของบริษัท Arianespace ประเทศฝรั่งเศส ที่เมือง Kourou ประเทศ French Guiana ทวีปอเมริกาใต้ (ภาพ : arianespace.com, space.skyrocket.de)
เส้นทางสู่ความฝัน: สร้างดาวเทียมให้เป็น
16 ปี ในระบบการศึกษาของประเทศญี่ปุ่นของอาจารย์ปอม ผ่านมาด้วยความยากลำบาก ต่อสู้กับปัญหาที่รุมเร้าทั้งเรื่องภาษา และการแข่งขันของนักเรียนญี่ปุ่น ด้วยเป้าหมายที่แน่วแน่คือ “อยากสร้างดาวเทียมให้เป็น” อาจารย์ปอมเล่าว่า เราจึงต้องอ่านหนังสืออย่างหนัก มันไม่มีเคยมีครั้งไหนได้คะแนนดีเพราะรู้สึกว่าตัวเองฉลาด เราต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก ผมไม่เคยเห็นใครอ่านหนังสือตายเลยสักคน แต่ถ้าผมจะต้องตายก็คิดว่ามันต้องเป็นแบบนั้น จากนั้นก็อ่านหนังสืออย่างหนัก คนญี่ปุ่นอ่าน 1 รอบ เราต้องอ่าน 10 รอบ มีอยู่วิชาหนึ่ง อ่านหนังสือจนจำได้ทุกหน้า ทุกตัวอักษร รู้เลยว่าเรื่องนี้ อยู่หน้าไหนบรรทัดที่เท่าไหร่ บอกกับตัวเองว่า ถ้าทำคะแนนไม่ดี ชนะคนญี่ปุ่นไม่ได้จะเผาตำราทิ้งแล้วก็เลือกที่จะไม่เรียนอีกต่อไป ผลปรากฎว่าได้คะแนนเป็นที่หนึ่งของชั้นในวิชานั้น
อาจารย์ปอมในห้องปฏิบัติการสร้างดาวเทียม ขณะเรียนที่ีมหาวิทยาลัยโตเกียว
หลังจากฝันแรกบรรลุเป้าหมาย “ผมจะเรียนสร้างดาวเทียมให้เป็น ไม่งั้นผมจะไม่กลับประเทศไทย” อาจารย์ปอมเรียนจบปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขา Aeronautics and Astronautics จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขา Aerospace Engineering และปริญญาเอก คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขา Aeronautics and Astronautics จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ระหว่างเรียนก็ได้สั่งสมประสบการณ์การสร้างดาวเทียมหลายดวง อาทิ XI-IV ดาวเทียม CubeSat ดวงแรกของโลก, XI-V, PRISM และ Nano-Jasmin
ดาวเทียมดวงแรกในชีวิตของ ดร. พงศธร ที่ร่วมสร้างขณะเรียนปริญญาตรี ณ มหาวิทยาลัยโตเกียว
เดินตามฝันที่ 2: สร้างดาวเทียมของประเทศไทย
หลังจากกลับมาประเทศไทยในปี 2556 อาจารย์ปอมมาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบินอวกาศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เริ่มเดินทางตามฝันที่ 2 “ถ้าผมกลับประเทศไทยไปแล้ว ผมจะสร้างดาวเทียมของประเทศไทยให้ได้”
อาจารย์ปอมเริ่มสอนหนังสือ และในขณะเดียวกันก็ตั้งห้องปฏิบัติการดาวเทียมให้นักศึกษาเรียนรู้ และฝึกปฏิบัติการสร้างดาวเทียม ในช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ ผมกับนักศึกษาก็ออกเงินกันเอง นักศึกษาพาผมไปตามหาอะไหล่มือสองจากบ้านหม้อ พยายามสร้างต้นแบบดาวเทียมดวงเล็กๆ หวังจะใช้เป็นเดโมในการขอทุนจากหน่วยงานต่างๆ ครั้งแรกเราได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ประมาณ 700,000 บาท เราก็เอามาทำดาวเทียมดวงเล็กๆ เป็นชุดต้นแบบเพื่อการศึกษา แต่ยังไม่สามารถใช้งานจริงในอวกาศได้ แต่รูปร่างหน้าตาก็ดีขึ้น อุปกรณ์ก็ดีขึ้นจาก “ดาวเทียมบ้านหม้อ” ที่ทีมเราสร้างดวงแรก เราก็ยังไม่ละความพยายาม เดินหน้าขอทุนต่อไป พานักศึกษาไปเสนอขอทุนจากที่ต่างๆ หลายปี แต่ก็ไม่มีที่ไหนสนใจ หาว่าเพ้อเจ้อ เป็นไปไม่ได้ ไม่มีประโยชน์ หรืออย่างดีที่สุดก็ตอบกลับมาว่า สู้ๆ นะ จนในปี 2558 ฝันที่ดูเหมือนจะเลือนรางก็เริ่มกระจ่างชัดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งเมื่อโครงการ KNACKSAT โครงการออกแบบและจัดส่งดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประมาณ 9.6 ล้านบาท
ดาวเทียมต้นแบบเพื่อการศึกษา
ดาวเทียมที่ใช้อุปกรณ์ที่หาซื้อจากบ้านหม้อ
KNACKSAT: ดาวเทียม Thai-made ดวงแรก
เมื่อได้งบประมาณมาก้อนหนึ่ง ถึงเวลาต้องเดินหน้าต่อ พอมาวางแผนการเงินตลอดทั้งโครงการ ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการส่งก็เกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมด หมายความว่าเราเหลือในไม่มากนักในการสร้างดาวเทียม 1 ดวง เพื่อส่งไปในอวกาศ ตอนนี้เราเริ่มทำในปี 2015 มีอุปกรณ์หลายอย่างมีวางขายพร้อมใช้งานอยู่แล้ว เพราะ CubeSat ไม่ใช่เรื่องใหม่ มหาวิทยาลัยโตเกียวสร้าง CubeSat ดวงแรกของโลก เมื่อ 13 ปีแล้ว โดยนักศึกษาเป็นผู้ออกแบบก็จริง แต่ผู้ผลิตคือบริษัทชั้นนำที่มีประสบการณ์ หากเรามีงบประมาณพอที่จะซื้ออุปกรณ์หรือระบบเหล่านั้นแล้วนำมาสร้าง CubeSat โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็มีความเป็นไปได้สูง แต่ปัญหาสำคัญคือ เรามีงบประมาณไม่พอที่เราจะซื้ออุปกรณ์ที่มีคุณภาพต่างๆ มาประกอบเป็น CubeSat ผมมานั่งตกผลึกอยู่นานมาก นึกถึงข้อดี ข้อเสีย ความเสี่ยง ซื้อแล้วจะคุ้มไหม ซื้อแล้วจะมีเงินพอที่จะเดินหน้าโครงการให้สำเร็จไหม ประกอบกับในปีนั้นค่าส่งดาวเทียมขึ้นราคาจาก 1 ล้าน เป็น 2-3 ล้านบาท มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ 2-3 เท่า ถ้าเราซื้อเราคงไม่มีเงินเหลือพอที่จะทำส่วนอื่น ใจผมก็ไม่อยากทำเองทั้งดวง เพราะไม่มีที่ไหนเค้าทำเองหมด เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดสูงมาก ควรค่อยๆ พัฒนาทีละระบบ ซื้อบ้าง ทำเองบ้าง ค่อยๆ พัฒนาเป็นขั้นเป็นตอน แต่เมื่อไม่มีทางเลือกอื่นใดที่ดีกว่านี้ คำตอบสุดท้ายที่ผมเลือกคือ “เราจะทำเองทั้งหมด” รู้ว่าเสี่ยงยังไงก็ขอลอง
ถึงเวลาลงมือทำจริง จากสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ลองผิด ลองถูก จากทีมวิศวกร ประมาณ 20 คน มีที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยโตเกียว องค์การอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) เราเริ่มต้นจากศูนย์ เพราะในเมืองไทยไม่มีผู้ประกอบการที่ผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวกับดาวเทียมโดยเฉพาะ บางแห่งที่ใกล้เคียงก็ไม่สามารถผลิตชิ้นงานเพื่อให้เราโดยเฉพาะได้ และที่สำคัญไม่มีที่ไหนจะลงทุนเพื่อผลิตชิ้นงานให้เราเพียง 1 ชิ้น ดังนั้น เป็นหน้าที่ของทีมวิศวกรที่ต้องทำเองทั้งหมด บนพื้นฐานของความไม่มั่นใจว่ามันจะทำงานได้ไหม ผมในฐานะผู้จัดการโครงการ ผมบอกทีมเสมอว่า เราเป็นวิศวกร อย่าไปคิดเองว่ามัน work หรือ ไม่ work เราต้องเชื่อผลการทดสอบหากทดสอบตามมาตรฐานแล้วผ่าน แสดงว่ามันใช้ได้
การทำงานของทีมวิศวกรในโครงการพัฒนาดาวเทียม KNACKSAT
ในปี พ.ศ. 2561 เราทำ KNACKSAT สำเร็จ และผ่านการทดสอบตามมาตรฐานของ NASA วันที่จะปิดกล่องดาวเทียมเพื่อเตรียมเดินทางไปสหรัฐอเมริกา ผมกับทีมวิศวกรใช้เวลาทบทวนระบบทั้งหมดอย่างถี่ถ้วน ประมาณ 1 อาทิตย์ คิดแล้วคิดอีก ทบทวนแล้ว ทบทวนอีก เพื่อให้มั่นใจว่าดาวเทียมที่เราส่งขึ้นไปมันจะสามารถทำงานได้ในอวกาศ นี่คือความยากของดาวเทียม เพราะหากทดสอบแล้วว่ามันทำงานได้บนโลก ไม่ได้หมายความว่ามันจะทำงานได้ในอวกาศ
พอเราส่งออกไปในอวกาศ ปรากฏว่ามีคนบนโลกรับสัญญานจากมันได้ แต่เราไม่สามารถส่งสัญญานควบคุมมันได้ แถมสัญญานที่ส่งมายังโลกก็อ่อนมากๆ อีกด้วย เราใช้เวลาประมาณ 1 ปี เพื่อศึกษาทบทวนหาจุดบกพร่องที่เกิดขึ้น แล้วในที่สุดเราก็พบสาเหตุของความผิดพลาดนั้นๆ ผมบอกกับลูกทีมว่า “ดาวเทียมดวงต่อไปของเราจะต้องไม่เกิดข้อผิดพลาดเช่นนี้อีกแล้ว”
KNACKSAT เป็นดาวเทียม 1-Unit CubeSat ขนาด 10 x 10 x 11.4 ซม. น้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 เวลา 01:34 น. (ตามเวลาในประเทศไทย จากฐานทัพอากาศ Vandenberg สหรัฐอเมริกา ภายใต้มิชชั่น SSO-A ด้วยจรวด SpaceX Falcon 9 และถูกปล่อยออกจากอุปกรณ์ปล่อยดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรประเภท Sun-Synchronous Orbit ที่ระดับความสูง 575 กิโลเมตร สัญญาณแรกจากดาวเทียมแนคแซทถูกตรวจจับได้โดยนักวิทยุสมัครเล่นชื่อ Mike Rupprecht (dk3wn) ในวันที่ 4 ธันวาคม 2561 เวลา 09:04 UTC (ตรงกับเวลา 14:04 น. ตามเวลาในประเทศไทย) เป็นการยืนยันว่าดาวเทียมได้เริ่มทำงานในอวกาศแล้ว สัญญาณจากดาวเทียมแนคแซทถูกรับได้อีกในวันที่ 5 และ 7 ธันวาคม 2561 โดยนักวิทยุสมัครเล่นชื่อ Fatc Mubin ทั้งนี้ ดาวเทียมยังคงโคจรต่อไปอีกไม่น้อยกว่า 6 ปี โดยระดับความสูงของวงโคจรจะลดลงอย่างช้าๆ และเมื่อเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ดาวเทียมจะเสียดสีและเผาไหม้จนหมดไปในที่สุด
ทีมพัฒนาดาวเทียม KNACKSAT คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
BCCSAT-1 จุดเริ่มต้นแห่งความภูมิใจของเยาวชนในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย
ในระหว่างการศึกษาหาจุดบกพร่องของ KNACKSAT อาจารย์จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ได้ขอให้ทีมพัฒนาดาวเทียมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นที่ปรึกษาในโครงการ BCC Space Program ที่จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนมีความสนใจด้านเทคโนโลยีอวกาศ และสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี และมีเป้าหมายสร้างดาวเทียม BCCSAT-1 ที่เป็นฝีมือของนักเรียน แรกๆ ผมปฏิเสธไปเนื่องจากเห็นว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะสอนนักศึกษาก็ว่ายากแล้ว การจะให้ไปสอนเด็กมัธยมน่าจะยากมากๆ สุดท้ายอาจารย์ที่ปรึกษาชาวญี่ปุ่นของผมก็แนะนำให้ผมรับสอนในโปรแกรมนี้ โดยแนะนำให้ปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้นักเรียนออกแบบ แต่ไม่ต้องสร้าง แล้วไปหาผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ประกอบการมาผลิตให้
หลังจากนั้น อาจารย์ปอมได้นำทีมนักศึกษาจากห้องปฏิบัติการพัฒนาดาวเทียมไปสอนน้องๆ ในโครงการให้สร้างดาวเทียม และเนื่องจากเป็นเด็กมัธยมที่ยังไม่มีสมาธิในการเรียน วันแรกที่ไปสอนเด็กๆ วิ่งเล่นรอบห้อง แทบไม่มีสักคนที่มีสมาธิและตั้งใจฟังอย่างจริงจัง ผมคิดอยู่ตลอดเวลาว่าสอนอย่างไรให้เค้าอยากทำตลอดเวลา เมื่อมีปัญหาจะช่วยเค้ายังไง อาจารย์ปอมและพี่ๆ นักศึกษา ต่างช่วยกันสอนและปรับพฤติกรรมของน้องๆ จากเด็กที่ไม่มีสมาธิในการเรียน กลายไปเด็กที่มุ่งมั่น ตั้งใจ และค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆ อย่างไม่หยุดนิ่ง จนระยะหลัง เมื่อให้โจทย์ไป เด็กๆ จะพยายามค้นคว้าหาคำตอบด้วยตัวเอง และมาปรึกษาเมื่อคำตอบนั้นไม่สามารถหาข้อสรุปได้จากอินเทอร์เน็ต และที่สำคัญได้เล่าถึงประสบการณ์ และปัญหาของดาวเทียม KNACKSAT ที่พยายามเฟ้นหามามากกว่า 1 ปี เนื่องจากการทำงานที่ไม่สำเร็จ 100% เพื่อให้นักเรียนได้ทราบปัญหาที่เคยประสบ
“พี่ครับ เดียวผมจะแก้มือให้พี่เอง” ประโยคเพียงไม่กี่คำแต่เปี่ยมไปด้วยความหมายอันยิ่งใหญ่จากน้องมัธยมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ในโครงการ BCC Space Program ทำให้อาจารย์ปอมแทบน้ำตาไหล
จากเด็กมัธยมศึกษาปีที่ 4 จากผู้ที่ไม่มีความรู้ด้านการสร้างดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศ สู่การออกแบบภารกิจการถ่ายภาพหลายช่วงคลื่น (Multispectral Images) จากดาวเทียม KNACKSAT ที่มีกล้องถ่ายภาพกล้องเดียว มาสู่ BCCSAT-1 ที่มีกล้อง 4 ตัว ถ่ายภาพแล้วนำมาสร้างเป็นภาพใหม่ เด็กๆ บอกว่าอยากถ่ายภาพคลอโรฟิลล์จากอวกาศ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ด้านการวัดดัชนีพืชพรรณ (Normalized Difference Vegetation Index: NDVI) นอกจากนี้เด็กๆ ยังไปค้นคว้าข้อมูลต่างๆ และยังออกแบบระบบทัศนศาสตร์ของกล้องอีกด้วย ปัจจุบัน น้องๆ ในทีมบางคนไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยระดับโลก เช่น Purdue University, University of Corolado, MIT, University of Washington ฯลฯ
ปัจจุบัน BCCSAT-1 เป็นดาวเทียม CubeSat ขนาด 1U ดวงแรกของโลกที่สามารถทำภารกิจประเภทนี้ได้ ทำให้ทุกคนต่างพากันประหลาดใจกับความคิดของนักเรียนที่เพิ่งเข้าศึกษาต่อในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และยิ่งไปกว่านั้นการออกแบบ การทดสอบ รวมถึงการประมวลผลข้อมูลทั้งหมด ถูกพัฒนาโดยทีมนักเรียนทั้งสิ้น
นักเรียนในโครงการ BCC Space Program โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน
หลังจากดาวเทียม BCCSAT-1 ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องภายใน 2 ปี และประสบการณ์แก้ไขปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับดาวเทียม KNACKSAT ทำให้ดาวเทียม BCCSAT-1 พร้อมทะยานขึ้นสู่อวกาศ เพื่อทำภารกิจที่ตั้งใจไว้ และในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2564 เป็นวันที่ประวัติศาสตร์ของวงการเทคโนโลยีของประเทศไทยต้องจารึกไว้อีกครั้ง ว่าดาวเทียมฝีมือนักเรียนชั้นมัธยมตอนปลายได้ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจร และกลายเป็นสัญญาณที่สำคัญแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศตั้งแต่ในระดับเตรียมอุดมศึกษา และในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลา 8.19 น. ตามเวลาประเทศไทย สิ่งที่ทุกคนเฝ้ารอก็มาถึง สัญญาณแรกจากดาวเทียม BCCSAT-1 ถูกตรวจจับเสียงแรก (First Voice) ผ่าน Twitter ของ SatNOGS นักวิทยุสมัครเล่นชื่อ Fredy Damkalis ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลา 8.19 น. ตามเวลาประเทศไทย ทำให้ทีมผู้พัฒนาทุกคนต่างพากันยินดีกับความสำเร็จในเบื้องต้นและพร้อมที่จะทำภารกิจต่อไป อีกไม่นานเราคงได้ภาพถ่ายจากอวกาศจากดาวเทียมดวงนี้เป็นรูปแรก
ทีมนักเรียนในโครงการ BCC Space Program โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน
BCCSAT- 1 เป็นดาวเทียม 1-Unit CubeSat ขนาด 10 x 10 x 11.4 ซม. น้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม มีภารกิจ คือ การถ่ายภาพหลายช่วงคลื่น ถูกพัฒนาโดยโครงการ BCC Space Program โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ร่วมมือกับบริษัทอัสโตรเบอร์รี่ จำกัด บริษัทด้านธุรกิจอวกาศ และมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเป็นที่ปรึกษาโครงการ ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 เวลา 13:07 น. (ตามเวลาในประเทศไทย) จากฐานปล่อยจรวด Baikonour Cosmodrome ประเทศคาซัคสถาน ด้วยจรวด Soyuz-2 และถูกปล่อยเข้าสู่วงโคจรประเภท Sun-Synchronous Orbit ที่ระดับความสูง 550 กิโลเมตร
สัญญานแรกจาก BCCSAT-1 ที่นักวิทยุสมัครเล่นรับสัญญานได้
ระบบติดตามสถานะของดาวเทียม BCCSAT-1
บทพิสูจน์ครั้งสำคัญจากคิวบ์แซท KNACKSAT และ BCCSAT-1 สู่ไมโครแซท TSC ดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์
“ถ้าเราไม่มีความล้มเหลวอันเกิดจาก KNACKSAT ในวันนั้น จะไม่มี BCCSAT-1 ในวันนี้ แล้วผมกล้าบอกกับทุกคนว่า ผมขอขอบคุณ กสทช. มาก ที่ให้ทุนเราทำดาวเทียมดวงแรกคือ KNACKSAT แล้วขอบคุณที่มีปัญหาเมื่อสองปีก่อน เพราะจากนี้ไปดาวเทียมที่ผมสร้างจะไม่เกิดปัญหานี้อีกต่อไป เพราะเรารู้ว่ามันมีปัญหาเพราะอะไร และตอนนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือกำลังทำดวงที่สอง KNACKSAT-2 ซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม และอีกโครงการหนึ่งภายใต้ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย เรากำลังจะสร้างดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ด้วยฝีมือของวิศวกรไทย”
สำหรับดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ ภายใต้โครงการภาคีความร่วมมืออวกาศไทย Thai Space Consortium (TSC) ได้วางแผนว่าใน 7 ปีแรก (พ.ศ. 2564-2570) กำหนดสร้างไม่ต่ำกว่า 5 ดวง ทั้งดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ดาวเทียมสำหรับภารกิจถ่ายภาพหลายช่วงคลื่น ดาวเทียมสำหรับทดสอบเทคโนโลยีต่างๆ และดาวเทียมที่จะส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์ และหลังจากปี พ.ศ. 2570 จะมีการกำหนดภารกิจอื่นๆ ต่อไป
ปัจจุบัน อาจารย์ปอมรับหน้าที่เป็นผู้จัดการโครงการดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ TSC-1 ซึ่งเป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ ที่จะส่งออกไปโคจรรอบโลก ขนาดประมาณ 100 กิโลกรัม มีอุปกรณ์ Payload หลักเป็นกล้องถ่ายภาพหลายช่วงคลื่น (Hyperspectral Imaging) และ Payload รองสำหรับศึกษาสภาพอากาศในอวกาศ (Space Weather) ดาวเทียมแต่ละดวงประกอบด้วยระบบต่างๆ อาทิ ระบบสื่อสาร ระบบความร้อน ระบบไฟฟ้า ระบบรับสัญญาน ฯลฯ ประสบการณ์จาก KNACKSAT และ BCCSAT-1 สอนให้รู้ว่าเราไม่จำเป็นต้องทำชิ้นส่วนเองทั้งดวง เนื่องจากอะไรที่ไม่เคยทำ แล้วทำเองทั้งหมด คือความเสี่ยง ชิ้นส่วนบางอย่างไม่จำเป็นต้องทำเอง เราอาจทำเองเพียง 30% และค่อยๆ ขยับขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึง 100% เราต้องเรียนรู้และบริหารความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นให้ได้
สำหรับดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ TSC-1 กำลังอยู่ในระหว่างการออกแบบภารกิจและระบบย่อยภายในดาวเทียม อาจารย์ปอมต้องเดินทางไปประชุมติดตามความก้าวหน้ากับทีมวิศวกรในโครงการที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นประจำทุกเดือน นอกจากนี้ก็จะมีการประชุมทางไกลกันทุกสัปดาห์ ในเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ มาร่วมตรวจสอบแบบภารกิจขั้นต้นของดาวเทียม TSC-1 ส่วนอุปกรณ์ Payload หลัก กล้องถ่ายภาพหลายช่วงคลื่น กำลังอยู่ระหว่างการออกแบบสร้างโดยศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีทัศนศาสตร์และโฟโตนิกส์ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และอุปกรณ์ Payload รอง สำหรับศึกษาสภาพอากาศในอวกาศ กำลังอยู่ระหว่างการออกแบบสร้างโดยมหาวิทยาลัยมหิดล
แบบร่างของดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ TSC-1
ถอดบทเรียนวิชาสร้างดาวเทียม
จากปัญหาของ KNACKSAT ถูกนำมาแก้ไขใน BCCSAT-1 เป็นบทเรียนล้ำค่าที่บอกกับทุกคนในโลกว่า ดาวเทียมที่ผมสร้างจะไม่เกิดปัญหาเช่นนี้อีกต่อไป มันสอนอะไรหลายๆ อย่างให้กับผมและทีม ข้อ 1 เราต้องไม่กลัวที่จะล้มเหลว เรียนรู้จากความผิดพลาด ยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ช่วงที่ทำ KNACKSAT มีที่ปรึกษาหลายท่านมาเตือนผมว่า อย่าทำ ไม่มีใครเค้าสร้างเองทั้งดวงแบบนี้ เคยมีบางบริษัททดลองทำแต่ก็ไม่สำเร็จ เกิดความเสียหายมากมาย แต่ผมก็ยังยืนยันที่จะทำ เนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอ การทำเองทั้งหมดจึงเป็นคำตอบสุดท้าย และในที่สุดมันก็ไม่สำเร็จจริงๆ แม้ว่า KNACKSAT จะยังทำงานได้ แต่ก็ถือว่ายังทำงานไม่สมบูรณ์เนื่องจากยังส่งสัญญานกลับมาไม่ได้ เรายินดีและยอมรับความเสี่ยงนี้ ตอนที่จะเริ่มทำ BCCSAT-1 ผมตัดสินใจอยู่นานว่าจะทำเองหรือจะซื้อ สรุปแล้วผมตัดสินใจให้เด็กทำเอง ถ้าวันนั้นผมตัดสินใจซื้อ เราคงไม่มีวันนี้ ตอนนี้เรามั่นใจว่าสิ่งที่เราพบว่าเป็นปัญหา มันได้ถูกแก้ไขแล้ว เราต้องไม่กลัวที่จะล้มเหลว ถ้าเรากลัวล้มเหลว เราต้องซื้อ มันก็จะย้อนแย้งกับสิ่งที่เราประกาศว่าเราจะเปลี่ยนประเทศจาก “ผู้ซื้อมาเป็นผู้สร้าง” ข้อ 2 ต้องทำเยอะๆ ถ้าไม่มี BCCSAT-1 ความรู้และปัญหาที่เราพบจาก KNACKSAT จะเอาไปพิสูจน์ที่ไหน จะแก้ไขได้จริงหรือเปล่า วิธีสร้างประสบการณ์และลดความเสี่ยงได้ดีที่สุดคือทำเยอะๆ ผมอยากให้โครงการ Space Program แบบนี้มีในประเทศไทยเยอะๆ โรงเรียนไหนอยากให้ทีมเราไปสอน เรายินดีไปถ่ายทอดให้เต็มที่ เทคโนโลยีต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นในประเทศไทย เด็กไทยที่มีความสามารถก็จะมีจำนวนมากขึ้น ไม่มีหนทางอื่นนอกจากทำเยอะๆ กว่าสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น จะประสบความสำเร็จดังเช่นทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่ผ่านความล้มเหลวมาแล้วทั้งนั้น ไม่มีใครทำอะไรสำเร็จได้โดยไม่ผ่านความล้มเหลวมาก่อน ไม่มีเหตุผลอะไรที่ประเทศไทยไม่เคยทำเลย ทำแล้วจะไม่ล้มเหลว ประสบการณ์จะสร้างการเรียนรู้ หนทางยาวไกล ไม่มีทางลัด สิ่งที่ดีที่สุดคือต้องลงมือทำ เรียนรู้ และพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ “ยิ่งผ่านความล้มเหลวมามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเข้าใกล้ความสำเร็จมากเท่านั้น” อาจารย์ปอมได้กล่าวไว้
ส่วนหนึ่งของทีมงานภายใต้โครงการภาคีความร่วมมืออวกาศไทย