สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จับมือมหาวิทยาลัยมาลายา มาเลเซีย ลงนามความร่วมมือผนึกกำลังพัฒนาด้านดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซีในไทยและมาเลเซีย หวังขับเคลื่อนงานวิจัยใหม่ พัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรมด้านดาราศาสตร์ขั้นสูงขยายสู่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
29 มิถุนายน 2564 - ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และ ศ.ดร. นูร์ซาดาห์ อับด์ ราห์มาน รักษาการรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศมาเลเซีย ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี ต่อยอดความร่วมมือที่มีอยู่อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นระหว่างสองหน่วยงาน มุ่งสร้างงานวิจัยใหม่ และพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี รวมถึงกิจกรรมด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ดาราศาสตร์วิทยุมีบทบาทสำคัญอย่างมากที่จะนำไปสู่การศึกษาทำความเข้าใจเอกภพ เนื่องจากเป็นดาราศาสตร์พหุพาหะ ศึกษาวัตถุท้องฟ้าได้มากมายด้วยความยาวคลื่นหลากหลายช่วงคลื่น สังเกตการณ์ภาคพื้นดินได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน และสามารถสร้างกล้องโทรทรรศน์เสมือนที่มีขนาดหน้ากล้องใหญ่เท่าระยะห่างของกล้องในเครือข่ายที่อยู่ห่างกันมากที่สุดบนพื้นโลก ด้วยเทคนิคเครือข่ายแทรกสอดระยะไกล (VLBI) นอกจากนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีดาราศาสตร์วิทยุในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ยังก่อให้เกิดเทคโนโลยีมากมายในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ Wifi ไปจนถึงเครื่องมือทางการแพทย์ อาทิ MRI และ CT Scan เป็นต้น ปัจจุบัน สดร. กำลังดำเนินการก่อสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบรับสัญญาณและประมวลผลภายในโดยฝีมือคนไทย ด้วยวิสัยทัศน์ของ สดร. ที่มุ่งใช้ดาราศาสตร์เป็นโจทย์ยากในการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร โดยเฉพาะด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง หวังว่าการลงนามครั้งนี้จะช่วยผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีในสองประเทศ และเป็นตัวเร่งให้เกิดการพัฒนาสาขาดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไปในอนาคต
ศ.ดร. นูร์ซาดาห์ อับด์ ราห์มาน (Prof.Dr. Noorsaadah Abd Rahman) รักษาการรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมาลายา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมาลายามีวิสัยทัศน์เป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก มุ่งดำเนินการเรียนการสอนและการวิจัยที่มีมาตรฐานสูงสุดในระดับสากล สนับสนุนการวิจัยของนักดาราศาสตร์ ปัจจุบันมีกล้องโทรทรรศน์วิทยุ UPSI-UM เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์วิทยุ และขณะนี้กำลังก่อสร้างกล้อง VGOS หรือ VLBI Global Observing System ร่วมกับ สดร. การลงนามครั้งนี้นอกจากจะเกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ระหว่างสองหน่วยงานแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพและความร่วมมือของทั้งสองประเทศ และจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างชุมชนวิทยาศาสตร์ระดับภูมิภาค เพื่อความก้าวหน้าต่อไปในระดับโลกอย่างแท้จริง
ภายหลังพิธีลงนามความร่วมมือ สดร. ร่วมกับมหาวิทยาลัยมาลายาได้จัดการประชุมทวิภาคีออนไลน์ในหัวข้อ “BRIDGING MALAYSIA - THAILAND RADIO ASTRONOMY NETWORKING OPPORTUNITIES” มีผู้เข้าร่วมกว่า 30 คน และมีผลงานนำเสนอกว่า 17 หัวข้อ อาทิ พัลซาร์ การเกิดดาวฤกษ์ นิวเคลียสกาแล็กซีกัมมันต์ ยีออเดซี การพัฒนากล้องโทรทรรศน์วิทยุ การพัฒนาเครื่องรับสัญญาณวิทยุ เป็นต้น
รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ที่ปรึกษา สดร. ประธานเปิดการประชุมในครั้งนี้ กล่าวว่า ประเทศไทยและมาเลเซียได้เข้าร่วมเครือข่ายดาราศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAAN) ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2550 และมีบทบาทด้านดาราศาสตร์มาอย่างยาวนาน ทั้งสองประเทศได้ทุ่มเททำงานร่วมกันตลอด 14 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านงานวิจัย การจัดฝึกอบรมด้านดาราศาสตร์ให้กับนักวิจัยและนักศึกษา จนกระทั่งปัจจุบันได้ขยายความร่วมมือเพิ่มเติมในด้านดาราศาสตร์วิทยุและเทคโนโลยีการสื่อสาร เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน องค์ความรู้ และขีดความสามารถของบุคลากรทางด้านดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซีร่วมกันได้ต่อไปในอนาคต
ดร. โคอิชิโร่ ซุกิยะมะ (Dr. Koichiro Sugiyama) นักวิจัยด้านการกำเนิดของดาวฤกษ์มวลมาก กลุ่มวิจัยดาราศาสตร์วิทยุ สดร. หนึ่งในผู้จัดการประชุมครั้งนี้ กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่จะได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างใกล้ชิดกับนักวิจัยและวิศวกรผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยมาลายา การนำเสนองานวิจัยและอภิปรายผลงานทั้งหมดในการประชุมครั้งนี้จะช่วยยกระดับความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขับเคลื่อนการวิจัยใหม่ด้านดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซีและการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงระหว่างไทย มาเลเซีย ตลอดจนประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ดียิ่งขึ้น
รายละเอียดเพิ่มเติม
เว็บไซต์ : https://sites.google.com/view/um-naritonlinebilateralseminar/home
หนังสือบทคัดย่อ : https://sites.google.com/view/um-naritonlinebilateralseminar/abstract-book
ข้อมูลโดย:
กลุ่มวิจัย งานบริหารงานวิจัย งานวิเทศสัมพันธ์
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ ศูนย์ปฏิบัติการดาราศาสตร์วิทยุ
เผยแพร่โดย:
งานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-121268-9 ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250
ที่อยู่อีเมล์: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. เว็บไซต์: www.narit.or.th
เฟซบุ๊ก: www.facebook.com/NARITpage
Twitter : @NARIT_Thailand, Instagram : @narit_thailand