สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เผยภาพ “ดาวหางลีโอนาร์ด” C/2021 A1 (Leonard) บันทึกเมื่อช่วงหัวค่ำ 17 ธันวาคม 2564 แนะชมด้วยกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ ช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า สังเกตได้จนถึงช่วงต้นมกราคม 2565 เป็นโอกาสสุดท้ายที่จะได้เห็นดาวหางดวงนี้ เพราะเป็นครั้งสุดท้ายที่ดาวหางดวงนี้จะเข้ามาในระบบสุริยะ ก่อนที่จะจากไปโดยไม่กลับมาอีก
ดร. มติพล ตั้งมติธรรม นักวิชาการ สดร. เปิดเผยว่า ขณะนี้ดาวหาง C/2021 A1 (Leonard) โคจรข้ามจากฝั่งตะวันตกของดวงอาทิตย์ ไปยังฝั่งตะวันออก ทำให้สามารถสังเกตดาวหางดวงนี้ได้ในช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณด้านซ้ายบนของดวงอาทิตย์ที่ลับขอบฟ้าไป และด้วยตำแหน่งของดาวหางที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ ฝุ่นละอองของดาวหางจะสะท้อนแสงอาทิตย์มายังผู้สังเกตบนโลกได้มากขึ้น ทำให้ความสว่างสูงขึ้นเล็กน้อย สังเกตได้ง่ายขึ้น คาดอาจมีค่าความสว่างปรากฏถึง 2.6 อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้มีแสงสว่างจากดวงจันทร์ข้างขึ้นรบกวน จนกระทั่งวันที่ 20 ธันวาคมเป็นต้นไป ดวงจันทร์จะเริ่มเข้าสู่ช่วงข้างแรมและยังไม่ขึ้นจากขอบฟ้าในช่วงหัวค่ำ ทำให้ปราศจากแสงจันทร์รบกวน บวกกับช่วงปลายเดือนธันวาคมนี้เป็นช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย หลายพื้นที่มีสภาพอากาศที่ปลอดโปร่ง ไร้ความชื้นในอากาศ จึงเป็นช่วงที่ดีที่สุดที่จะสามารถสังเกตเห็นดาวหางดวงนี้ได้ พร้อมกับการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่
ดร. มติพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สนใจชมแนะนำให้ชมผ่านกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตา และควรรอให้ฟ้าเริ่มมืดเสียก่อน เนื่องจากดาวหางนั้นอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ แสงจากดวงอาทิตย์ในยามเย็นอาจจะรบกวนการสังเกตดาวหาง ในขณะเดียวกันยิ่งดึกดาวหางก็จะยิ่งลดต่ำลงใกล้ขอบฟ้า ก่อนที่จะตกลับขอบฟ้าตามดวงอาทิตย์ไปด้วย เวลาที่เหมาะที่สุดในการสังเกตการณ์ดาวหางดวงนี้จึงเป็นช่วงเวลาสั้นๆ หลังดวงอาทิตย์ตก ประมาณหนึ่งทุ่ม
ดาวหาง C/2021 A1 (Leonard) ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2564 โดย G. J. Leonard จาก Mount Lemmon Observatory และตลอดทั้งปีดาวหางก็ได้ค่อยๆ เคลื่อนที่ใกล้เข้ามายังระบบสุริยะชั้นใน แสงจากดวงอาทิตย์ค่อยๆ ทำให้แก๊สในดาวหางระเหิดออก ฟุ้งกระจายไปทั่วอวกาศโดยรอบ ปรากฏเป็นดาวหางที่มีหางยาวออกมา ได้โคจรเข้าใกล้โลกที่สุดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมาที่ระยะห่าง 34.9 ล้านกิโลเมตร และกำลังเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ และจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 3 มกราคม 2565 ก่อนที่จะถูกเหวี่ยงออกไปจากระบบสุริยะ นี่จึงเป็นโอกาสเดียวในชีวิตที่เราจะได้ชมดาวหางดวงนี้ ถือเป็นของขวัญส่งท้ายปี 2564 ที่สุดแสนมหัศจรรย์
งานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-121268-9 ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250
E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. Website : www.narit.or.th
Facebook : www.facebook.com/NARITpage
Twitter : @NARIT_Thailand, Instagram : @narit_thailand