ในภาพนี้ คือ NGC 2264 เป็นชื่อเรียกรวมๆ ของเนบิวลาแบบเรืองแสง (Emission Nebula) ขนาดใหญ่ และกระจุกดาวเปิด (Open Cluster) ที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน ซึ่งเป็นกระจุกดาวอายุน้อยและมีความสว่างมาก อยู่ในกลุ่มดาวยูนิคอร์น (Monoceros) ห่างจากโลกประมาณ 2,600 ปีแสง ลักษณะการเรียงตัวของกระจุกดาวเป็นรูปสามเหลี่ยม คล้ายกับต้นคริสต์มาส จึงเรียกว่า Christmas Tree Cluster มีดาวแปรแสงชื่อ เอส โมโนซีโรทิส (S Monocerotis) หรือ 15 โมโนซีโรทิส (15 Monocerotis) อยู่ในตำแหน่งลำต้นของต้นคริสต์มาส ในขณะที่ดาวแปรแสงอีกดวงหนึ่งซึ่งเป็นดาวยักษ์สีน้ำเงินชื่อ V429 โมโนซีโรทิส (V429 Monocerotis) อยู่ในตำแหน่งยอดต้นไม้ เหนือขึ้นไปเป็นเนบิวลามืดสีแดงคล้ำรูปแท่งกรวย เรียกว่า เนบิวลารูปโคน (Cone Nebula)
ส่วนของเนบิวลารูปโคน และบริเวณโดยรอบกระจุกดาวคือก้อนแก๊สไฮโดรเจนขนาดใหญ่ เฉพาะส่วนที่เป็นรูปโคนคือก้อนแก๊สและฝุ่นในอวกาศที่มีอุณหภูมิต่ำ แก๊สและฝุ่นเหล่านี้ดูดซับแสงเรืองของดวงดาว และเนบิวลาที่อยู่ฉากหลังทำให้มันดูมีสีคล้ำกว่า โครงสร้างรูปกรวยมีลักษณะคล้ายกับแท่นเสาแห่งการกำเนิด (Pillar of Creation) ที่อยู่ในบริเวณเนบิวลานกอินทรี (Eagle Nebula หรือ M16) บริเวณกลุ่มดาวงู (Serpens) เนบิวลารูปโคนที่เป็นแท่งสีคล้ำมีความกว้างประมาณ 7 ปีแสง ส่วนปลายมีกระจุกดาวเปิดประกอบด้วยดาวฤกษ์อายุน้อยแต่สว่างกลุ่มหนึ่ง เรียงตัวในรูปแบบที่คล้ายผลึกหิมะ บางครั้งจึงเรียกว่า สโนว์เฟลคคลัสเตอร์ (Snowflake Cluster)
บันทึกและประมวลผลภาพโดย คุณตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์ และคุณกีรติ คำคงอยู่ ใช้กล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัติโนมัติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ติดตั้ง ณ หอดูดาวสปริงบรู๊ค ประเทศออสเตรเลีย
งานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-121268-9 ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250
E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. Website : www.narit.or.th
Facebook : www.facebook.com/NARITpage
Twitter : @N_Earth Instagram : @NongEarthNARIT
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร. 1313