สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ชวนติดตาม “ดาวเคียงเดือน” ปลายพฤษภาคมนี้ 20 พ.ค. - ดาวพฤหัสบดีเคียงดวงจันทร์ สองทุ่มถึงรุ่งเช้า และ 22-23 พ.ค. - ดาวเสาร์เคียงดวงจันทร์ สี่ทุ่มถึงรุ่งเช้า สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทั่วประเทศ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
ภาพจำลองปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนจากโปรแกรม Stellarium
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2562 จะเกิดปรากฏการณ์ “ดาวเคียงเดือน” ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ ปรากฏบนท้องฟ้าเคียงดวงจันทร์ สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทั่วประเทศ ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2562 “ดาวพฤหัสบดีปรากฏเคียงดวงจันทร์” สังเกตได้ตั้งแต่เวลา 20:30 น. เป็นต้นไป บริเวณขอบฟ้าทางตะวันออกเฉียงใต้ ห่างประมาณ 2 องศา และจะปรากฏใกล้กันที่สุดเวลาประมาณ 23:50 น. ห่างเพียง 1.3 องศา จากนั้นจะค่อย ๆ ขยับห่างออกจากกัน สังเกตได้ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า และวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 “ดาวเสาร์ปรากฏเคียงดวงจันทร์” เริ่มสังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 22:20 น. เป็นต้นไป ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ห่างประมาณ 2.8 องศา และจะปรากฏใกล้กันมากที่สุดประมาณ 1 องศา ในช่วงรุ่งเช้าของวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ผู้สนใจสามารถรอชมความสวยงามของปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนดังกล่าว ดูได้ด้วยตาเปล่าทั่วประเทศ
“ปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน” ถือเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เนื่องจากดวงจันทร์และดาวเคราะห์เปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ ตามคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ ดังนั้น การที่ดวงจันทร์และดาวเคราะห์ปรากฏบนท้องฟ้าในทิศเดียวกัน หรือเคลื่อนที่มาอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกันจึงถือเป็นเรื่องปกติ
นายศุภฤกษ์กล่าวปิดท้ายว่า หลังจากนี้ โลกจะโคจรเข้าใกล้ดาวเคราะห์ทั้งสองมากขึ้นเรื่อย ๆ ดาวพฤหัสบดีจะอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี วันที่ 10 มิถุนายน 2562 และดาวเสาร์จะอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ส่งผลให้ดาวเคราะห์ทั้งสองมีขนาดปรากฏใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และจะสามารถสังเกตการณ์ได้ยาวนานขึ้นตลอดทั้งคืน
งานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-121268-9 ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250
E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. Website : www.narit.or.th
Facebook : www.facebook.com/NARITpage
Twitter : @N_Earth Instagram : @NongEarthNARIT
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร. 1313