วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2562 นาซาแถลงข่าว เปิดตัวภารกิจสำรวจดวงจันทร์ “ไททัน” หนึ่งในดวงจันทร์ของดาวเสาร์ที่น่าสนใจที่สุด ด้วย “Dragonfly” โดรนยักษ์ขนาด 3 เมตร เพื่อศึกษาพื้นผิวของดวงจันทร์ไททัน ค้นหาสัญญาณต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตในระบบสุริยะ

pr20190107 1 01

http://dragonfly.jhuapl.edu/What-Is-Dragonfly/

“เจ้าแมลงปอยักษ์ขนาดเท่ารถยนต์”

“Dragonfly” หรือ “แมลงปอ” เป็นหุ่นยนต์ลักษณะคล้ายโดรนขนาด 3 เมตร มีใบพัด 8 ใบ ใช้ในการบินย้ายตำแหน่งบนดวงจันทร์ไททัน  จะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศภายในปี พ.ศ. 2569 และจะเดินทางถึงดวงจันทร์ไททันภายในปี พ.ศ. 2577 จะเป็นยานสำรวจระบบสุริยะลำแรกที่สามารถบินเปลี่ยนตำแหน่งได้โดยใช้ใบพัด

“ดวงจันทร์ไททัน ดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์”

ดวงจันทร์ไททัน (Titan) มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5,100  กิโลเมตร เป็นดวงจันทร์ดวงเดียวในระบบสุริยะที่มีชั้นบรรยากาศหนาแน่นจนคลื่นแสงที่ตามองเห็นไม่สามารถทะลุผ่านชั้นบรรยากาศได้  และพบว่ามีโมเลกุลที่ซับซ้อนที่อาจบ่งชี้ถึงต้นกำเนิดของสิ่งมีชิวตในระบบสุริยะได้

“โดรนบินง่ายกว่าอยู่บนโลก”

ภารกิจนี้อาศัยคุณสมบัติของดวงจันทร์ไททัน ได้แก่ ชั้นบรรยากาศที่มีความหนาแน่นสูงกว่าโลก 4 เท่า และแรงโน้มถ่วงน้อยกว่าโลก 7 เท่า ทำให้การลอยตัวโดยใช้ใบพัดทำได้ง่ายกว่าอยู่บนโลกมาก  ซึ่งแมลงปอจะบินเป็นระยะทางทั้งหมด 176 กิโลเมตร ตลอดระยะเวลาภารกิจ 2.7 ปี ทั้งนี้ เป็นเพียงระยะเวลาที่กำหนดไว้เบื้องต้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วระยะเวลาภารกิจจะถูกขยายออกไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งยานไม่สามารถทำงานต่อได้

แมลงปอ จะลงจอดบนเนินทรายขนาดใหญ่ของดวงจันทร์ไททันที่ชื่อว่า “Shangri-La”  ซึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2548 เคยมียานลงจอดที่ตำแหน่งนี้แล้ว คือ ยานฮอยเก็นส์ (Huygens)  เป็นยานประเภทลงจอด ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ และภารกิจจบสิ้นไปแล้ว  แมลงปอจะศึกษาบริเวณเนินทรายนี้เพียงเวลาสั้น ๆ ก่อนที่จะบินย้ายตำแหน่งไปยังหลุมอุกกาบาต Selk  ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พบหลักฐานของน้ำในอดีต รวมถึงพบสารอินทรีย์ และโมเลกุลที่ซับซ้อนอื่น ๆ ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตบนโลก

การศึกษาวัตถุต่าง ๆ ที่อยู่ในระบบสุริยะจะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจใหม่ ๆ ให้กับเราเสมอ องค์ความรู้เหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการตอบคำถามว่า “สิ่งมีชีวิตในระบบสุริยะเกิดขึ้นได้อย่างไร ?” ความท้าทายที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่การพัฒนาขีดจำกัดทางเทคโนโลยีให้ล้ำหน้าอยู่เสมอ  ซึ่งสุดท้ายแล้วเทคโนโลยีสำรวจอวกาศเหล่านี้ก็จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันมนุษย์

อ้างอิง : https://www.nasa.gov/press-release/nasas-dragonfly-will-fly-around-titan-looking-for-origins-signs-of-life/

เรียบเรียง :  ธนกร อังค์วัฒนะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.