สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เผยภาพสุริยุปราคาเต็มดวง ณ เมืองวิกุนญา สาธารณรัฐชิลี ท่ามกลางนักดาราศาสตร์จากทั่วโลก และประชาชนชาวชิลีที่เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงอย่างแน่นขนัด  สภาพท้องฟ้าใสไร้เมฆ สังเกตเห็นปรากฏการณ์ลูกปัดของเบลีย์ ปรากฏการณ์แหวนเพชร ชั้นโคโรนา ปรากฏการณ์แสงโลก และเปลวสุริยะ ได้อย่างชัดเจน คราสเต็มดวงพาดผ่านมหาสมุทรแปซิฟิก ทวีปอเมริกาใต้ สาธารณรัฐชิลีและประเทศอาร์เจนตินา ช่วงบ่ายของวันที่ 2 กรกฎาคม 2562 ตามเวลาท้องถิ่น

pr20190703 1 01

pr20190703 1 02  pr20190703 1 03  pr20190703 1 04 

        ดร. ศรัณย์  โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ  นำทีมเดินทางศึกษาปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ณ สาธารณรัฐชิลี  เมื่อวันอังคารที่ 2 กรกฎาคม 2562 ตามเวลาท้องถิ่นสาธารณรัฐชิลี ตั้งจุดสังเกตการณ์บริเวณลานอเนกประสงค์ของเมืองวิกุนญา อยู่ห่างจากจุดกึ่งกลางของแนวคราสเต็มดวงประมาณ 25 กิโลเมตร นำกล้องโทรทรรศน์ อุปกรณ์สังเกตการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมชนิดต่าง ๆ  รวมถึงอากาศยานไร้คนขับ มาใช้บันทึกบรรยากาศมุมสูง ทำให้เห็นภาพรวมของพื้นที่ ขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้อีกด้วย 

        ส่วนบรรยากาศการเฝ้าสังเกตการณ์สุริยุปราคาภายในเมืองวิกุนญา เต็มไปด้วยประชาชนชาวชิลี นักท่องเที่ยว และนักดาราศาสตร์จากทั่วโลก เดินทางมาจับจองพื้นที่เพื่อเฝ้าชมสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ นับหมื่นคน ภายในตัวเมืองมีการจัดกิจกรรมสุริยุปราคาเต็มดวงหลากหลายรูปแบบ หลายครอบครัวเดินทางไกลมาจากรัฐต่าง ๆ เพื่อมาดูปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สุดมหัศจรรย์ครั้งนี้โดยเฉพาะ และยังประดิษฐ์อุปกรณ์ดูดวงอาทิตย์ทางอ้อมมาใช้ดูสุริยุปราคาสำหรับวันนี้ด้วย

pr20190703 1 05   pr20190703 1 06
 pr20190703 1 07 pr20190703 1 08 


        ขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ทัศนวิสัยท้องฟ้าดีมาก ฟ้าใส ไร้เมฆ สามารถชมปรากฏการณ์ได้ตลอดตั้งแต่ต้นจนสิ้นสุดอย่างสมบูรณ์ อาทิ ปรากฏการณ์ลูกปัดของเบลีย์ ปรากฏการณ์แหวนเพชร ชั้นโคโรนา ปรากฏการณ์แสงโลก และเปลวสุริยะ นอกจากนี้ในช่วงก่อนและหลังสุริยุปราคาเต็มดวง ยังสามารถสังเกตปรากฏการณ์ข้างเคียงได้อย่างชัดเจน อาทิ ปรากฏการณ์เงาเสี้ยว ปรากฏการณ์แถบเงา ขณะเงามืดของดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์จนมิด ท้องฟ้ามืดจนสามารถสังเกตเห็นดาวศุกร์ ดาวพุธ ดาวอังคาร และดาวฤกษ์หลายดวงสว่างอยู่กลางท้องฟ้าเป็นเวลานานกว่า 2 นาที ผู้ที่มาเฝ้าชมต่างประทับใจในปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญครั้งนี้เป็นอย่างมาก

        ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในวันที่ 2 กรกฎาคม 2562 ครั้งนี้ เป็นสุริยุปราคาลำดับที่ 58/82 ในชุดซารอสที่ 127 แนวคราสเต็มดวงเริ่มต้นจากมหาสมุทรแปซิฟิก หลังจากนั้นจะเคลื่อนผ่านทวีปอเมริกาใต้ สาธารณรัฐชิลีและประเทศอาร์เจนตินา บริเวณเมืองลาเซเรนา โกกิมโบ ลาอิเกรา และบีกูญา ในแคว้นโกกิมโบและบางส่วนในแคว้นอาตากามา สาธารณรัฐชิลี และรัฐซานฆวน ลาริโอฆา ซานลุยส์ กอร์โดบา ซานตาเฟ และบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา

        ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 ธันวาคม 2563 คราสเต็มดวงพาดผ่านมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก สาธารณรัฐชีลี และประเทศอาร์เจนตินา  สำหรับประเทศไทย จะเกิด “สุริยุปราคาบางส่วน” ในช่วงปลายปีนี้ ตรงกับวันที่ 26 ธันวาคม 2562 เป็น ”ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน” สังเกตได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ตั้งแต่เวลาประมาณ 10.18 - 13.57 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ดวงอาทิตย์ถูกบังมากที่สุดบริเวณภาคใต้ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ประมาณร้อยละ 81 ส่วน “สุริยุปราคาเต็มดวง” จะเกิดขึ้นในอีก 51 ปีข้าง ตรงกับวันที่ 11 เมษายน 2613

pr20190703 1 09  pr20190703 1 10 
 pr20190703 1 11 pr20190703 1 12 

pr20190703 1 13

ภาพลำดับการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดปรากฏการณ์

pr20190703 1 14

ผู้อำนวยการฯ ทีมเจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และคณะผู้สังเกตการณ์
สุริยุปราคาเต็มดวง วันที่ 2 กรกฎาคม 2562 ณ เมืองวีกุนญ่า สาธารณรัฐชิลี
งานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-121268-9ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250
E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.    Website : www.narit.or.th
Facebook : www.facebook.com/NARITpage
Twitter : @N_Earth,  Instagram : @NongEarthNARIT
Call Center กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โทร. 1313