สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เผยบรรยากาศสังเกตการณ์ “ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” คืน 9 กรกฎาคม 2562 ที่ 4 หอดูดาว เชียงใหม่ โคราช ฉะเชิงเทราและสงขลา จัดส่องวงแหวนดาวเสาร์ และวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจผ่านกล้องโทรทรรศน์ แม้หลายพื้นที่สภาพท้องฟ้าไม่เป็นใจ แต่ทางใต้ฟ้าดีสุด หอดูดาวภูมิภาคสงขลา ดาวเสาร์ปรากฏชัดตั้งแต่หัวค่ำ มีชาวสงขลาและใกล้เคียงให้ความสนใจร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ถือเป็นการเปิดบ้านต้อนรับประชาชนครั้งแรก ก่อนจัดพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ 25 ก.ค.นี้
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ กล่าวว่า สดร. จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี 4 จุดสังเกตการณ์หลัก ได้แก่ หอดูดาว อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และ สงขลา ในค่ำคืนนี้หลายพื้นที่สภาพอากาศไม่เป็นใจ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน แต่ทางภาคใต้ฟ้าใสไร้เมฆ ส่งผลให้ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา สามารถสังเกตเห็นดาวเสาร์แจ่มชัดเต็มตาตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ร่วมกิจกรรมเป็นอย่างยิ่ง และครั้งนี้ ถือเป็นการจัดกิจกรรมดูดาวสำหรับประชาชน ณ หอดูดาวภูมิภาคสงขลาประชาชนเป็นครั้งแรกก่อนจัดพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้
บรรยากาศ ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา
สำหรับจุดสังเกตการณ์ ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา และ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา สามารถสังเกตเห็นดาวเสาร์ได้เช่นกัน รวมถึงวัตถุท้องฟ้าอื่น ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ ดวงจันทร์และดาวพฤหัสบดีได้อีกด้วย ส่วนที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ แม้ฟ้าไม่เป็นใจแต่ประชาชนยังคงทยอยมารอชมดาวเสาร์ตั้งแต่หัวค่ำ และพากันร่วมกิจกรรมอื่นกันอย่างเพลิดเพลิน อาทิ รับฟังความรู้เรื่องดาวเสาร์ ประดิษฐ์โมเดล และชมนิทรรศการดาราศาสตร์
ดาวเสาร์จะโคจรเข้าใกล้โลกทุกๆ ประมาณ 378 วัน โดยครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 21 กรกฎาคม 2563
วงเสวนาในหัวข้อ "มหัศจรรย์ดาวเสาร์" โดย “พี่หวาย” - พิสิฏฐ นิธิยานันท์ แชมป์แฟนพันธ์แท้ดวงดาว รองแชมป์แฟนพันธ์แท้ระบบสุริยะ และเจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ
บรรยากาศ ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา
งานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-121268-9ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250
E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. Website : www.narit.or.th
Facebook : www.facebook.com/NARITpage
Twitter : @N_Earth, Instagram : @NongEarthNARIT
Call Center กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โทร. 1313