สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) ชวนประชาชนโหวต “ชื่อไทยให้ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ” ชูความเป็นไทยร่วมเป็นหนึ่งในเอกภพ ผ่านช่องทางออนไลน์ http://bit.ly/VoteNameExoWorldsTH ภายใต้เงื่อนไข 1 คน 1 สิทธิ์โหวต เพื่อส่งชื่อเสนอต่อสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติรับรองและประกาศชื่ออย่างเป็นทางการ หมดเขตโหวต 31 ตุลาคม 2562
สดร. จัดกิจกรรม “ตั้งชื่อไทยให้ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ” เปิดโอกาสให้คนไทยร่วมเสนอชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ WASP-50b และดาวฤกษ์แม่ WASP-50 ผ่านช่องทางออนไลน์ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา จากนั้น คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทางด้านดาราศาสตร์ ภาษาศาสตร์และผู้แทนสื่อมวลชน จำนวน 7 ท่าน ได้ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกชื่อจากจำนวนชื่อที่เสนอเข้ามามากกว่า 1,500 ชื่อ ให้เหลือเพียง 3 รายชื่อสุดท้าย สดร. จึงนำรายชื่อนำกล่าว เปิดให้ประชาชนร่วมโหวตชื่อที่ถูกใจที่สุด ผ่านช่องทางออนไลน์ตั้งแต่เดือนตุลาคม และจะปิดรับผลโหวตในวันที่ 31 ตุลาคม นี้ โดยชื่อที่มีคะแนนโหวตสูงสุด จะนำเสนอไปยังสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ เพื่อพิจารณาประกาศชื่ออย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 2562 ต่อไป และจะถูกใช้ควบคู่กับชื่อทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ รวมทั้งให้เครดิตแก่ผู้ตั้งชื่อด้วย
คู่ชื่อดาวฤกษ์แม่ - ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ที่คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกและเปิดให้ประชาชนร่วมโหวต ได้แก่
1) เจ้าพระยา (Chao Phraya) – แม่ปิง (Mae Ping)
แนวคิดการตั้งชื่อ : เนื่องจากดาวทั้งสองอยู่ในกลุ่มดาวแม่น้ำ และแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศไทยซึ่งเกิดจากการไหลรวมของแม่น้ำแม่ปิง วัง ยม และน่าน ในอนาคตหากพบดาวเคราะห์เพิ่มเติมก็สามารถตั้งชื่อเป็นแม่น้ำสายอื่นๆ ได้อีก
2) ประกายแก้ว (Prakaikaeo) -ประกายดาว (Prakaidao)
แนวคิดการตั้งชื่อ : ประกายเเก้ว คือเเสงของความเเวววาวที่กระจายออกไปโดยรอบ เปรียบเสมือนดาวฤกษ์ ส่วนประกายดาว เปรียบเป็นแสงสะท้อนจากดาวฤกษ์ที่ตกกระทบดาวเคราะห์ที่โคจรเคียงคู่กัน
3) ฟ้าหลวง (Fahluang) - ฟ้าริน (Fahrin)
แนวคิดการตั้งชื่อ : เนื่องจากเป็นวัตถุที่เราสังเกตไปในท้องฟ้าจึงใช้คำว่า "ฟ้า" นำ ส่วนคำว่าหลวงหมายถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ฟ้าหลวงจึงหมายถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่และเจิดจรัสบนท้องฟ้า จึงเหมาะสมต่อการตั้งเป็นชื่อดาวฤกษ์ ส่วนคำว่าฟ้าริน หมายถึงหยาดน้ำฟ้าหรือสิ่งที่รินไหลลงมาจากฟากฟ้า เป็นตัวแทนของดาวเคราะห์บริวารของฟ้าหลวง
ผู้สนใจสามารถร่วมโหวตได้ที่ http://bit.ly/VoteNameExoWorldsTH ภายใต้เงื่อนไข 1 คน 1 สิทธิ์โหวต พร้อมลุ้นรับของที่ระลึกสุดคลูจำนวนจำกัดเพียง 10 รางวัล โหวตได้ตั้งแต่บัดนี้ - วันที่ 31 ตุลาคม 2562
งานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-121268-9 ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250
E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. Website : www.narit.or.th
Facebook : www.facebook.com/NARITpage
Twitter : @N_Earth, Instagram : @NongEarthNARIT
Call Center กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โทร. 1313
ข้อมูลเพิ่มเติม
กิจกรรมชื่อไทยให้ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ” ชูความเป็นไทยร่วมเป็นหนึ่งในเอกภพ จัดขึ้นเนื่องจากสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ มีวาระครบรอบ 100 ปี จึงเปิดโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกร่วมกันตั้งชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ประเทศละ 1 ระบบ ประกอบด้วยดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ 1 ดวง และดาวฤกษ์แม่ 1 ดวง โดยพิจารณาให้สิทธิ์ตั้งชื่อระบบที่สามารถสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ได้ในประเทศนั้นๆ สำหรับประเทศไทยเป็น 1 ใน 82 สมาชิกระดับประเทศของสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ ได้รับสิทธิ์ตั้งชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ WASP-50b และดาวฤกษ์แม่ WASP-50
ข้อมูลจำเพาะดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะและดาวฤกษ์แม่
ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ WASP-50b ถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2554 ภายใต้โครงการ Wide Angle Search for Planets (WASP) ด้วยวิธีการผ่านหน้า (Transit Method) จัดเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะประเภทดาวพฤหัสบดีร้อน (Hot Jupiter) ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงนี้ โคจรรอบดาวฤกษ์แม่ WASP-50 ซึ่งเป็นดาวฤกษ์สีเหลือง ประเภทเดียวกับดวงอาทิตย์ อยู่บริเวณทางใต้ของกลุ่มดาวแม่น้ำ (Eridanus) ห่างจากระบบสุริยะประมาณ 750 ปีแสง ปัจจุบัน ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ WASP-50b ยังคงเป็นบริวารดวงเดียวที่โคจรรอบดาวฤกษ์แม่ดวงนี้
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.narit.or.th
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
รายชื่อคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกชื่อไทยให้ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ที่ สดร. แต่งตั้งและสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติเห็นชอบ จำนวน 7 ท่าน ดังนี้
1. ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
2. รศ. บุญรักษา สุนทรธรรม ที่ปรึกษากลุ่มวิจัย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
3. นางสาวจุลลดา ขาวสะอาด ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
4. ผศ. ดร. ศิรามาศ โกมลจินดา อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
5. ดร. ศุภชัย อาวิพันธุ์ นักวิจัยด้านดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
6. นายอธิพงษ์ อมรวงศ์ปีติ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
7. นายกิตติ สิงหาปัด สื่อมวลชนและผู้ประกาศข่าว