20 ธันวาคม 2562 - สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เปิดบ้านจัดแถลงข่าว “10 เรื่องดาราศาสตร์น่าติดตามในปี 2563” ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ชูเรื่องเด่น “ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวเสาร์” ใกล้ที่สุดในรอบ 397 ปี เผยโฉมความคืบหน้าโครงสร้างพื้นฐานดาราศาสตร์และห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีดาราศาสตร์สุดล้ำ จับตาการส่งยานสำรวจสู่ดาวอังคาร และปรากฏการณ์ดาราศาสตร์น่าติดตามตลอดปี
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนติดตาม 10 เรื่องราว ดาราศาสตร์สำคัญในปี 2563 ดังนี้
1) The Great Conjunction 2020 ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวเสาร์ ใกล้ที่สุดในรอบ 397 ปี (20-23 ธันวาคม 2563) ระยะห่างเพียง 0.1 องศาเท่านั้น เมื่อมองด้วยตาเปล่าจะเสมือนเป็นจุดสว่างเพียงจุดเดียว หากใช้กล้องโทรทรรศน์ที่มีกำลังขยายไม่เกิน 200 เท่า จะสามารถมองเห็นดาวเสาร์และดาวพฤหัสบดีอยู่ในช่องมองภาพเดียวกัน นักดาราศาสตร์เรียกปรากฏการณ์ที่ดาวเคราะห์ทั้งสองปรากฏอยู่ใกล้กันมากบนท้องฟ้าว่า “The Great Conjunction”
2) จันทรุปราคาเงามัว และสุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย
อุปราคาในปี 2563 ที่สามารถสังเกตเห็นได้ในประเทศไทยมี 4 ครั้ง ได้แก่ จันทรุปราคาเงามัว : 11 มกราคม/ 6 มิถุนายน/ 30 พฤศจิกายน 2563 และสุริยุปราคาบางส่วน : 21 มิถุนายน 2563
• จันทรุปราคาแบบเงามัว เกิดจากดวงจันทร์โคจรเข้าไปในเงามัวของโลกบางส่วน ไม่ได้ผ่านเข้าไปในบริเวณเงามืดของโลก ดวงจันทร์จึงไม่เว้าแหว่ง ยังคงเห็นเป็นดวงจันทร์เต็มดวงแต่ความสว่างลดลง
• 21 มิถุนายน 2563 จะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวน แนวคราสวงแหวน พาดผ่านฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา คาบสมุทรอาหรับ เอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และมหาสมุทรแปซิฟิก สำหรับประเทศไทยจะเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน ดวงจันทร์จะบดบังดวงอาทิตย์บางส่วน ทำให้มองเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่ง สามารถสังเกตได้ทุกภูมิภาคของไทย แต่ละภูมิภาคจะมองเห็นดวงอาทิตย์ถูกบดบังแตกต่างกัน ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังมากที่สุดบริเวณภาคเหนือที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประมาณ 62.70% เวลา 14:42 น.
3) ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้-ไกลโลกที่สุดในรอบปี
ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี หรือ Super Full Moon ที่ระยะห่าง 357,022 กิโลเมตร (8 เมษายน 2563) คืนดังกล่าวจะสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย
ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี หรือ Micro Full Moon ที่ระยะห่าง 406,153 กิโลเมตร (31 ตุลาคม 2563) คืนดังกล่าวจะสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเล็กน้อย
4) ดาวเคราะห์ใกล้โลก
ดาวพฤหัสบดีใกล้โลก (14 กรกฎาคม 2563) ดวงอาทิตย์ โลก และดาวพฤหัสบดี เรียงอยู่ในแนวเดียวกันมีโลกอยู่ตรงกลาง ส่งผลให้ดาวพฤหัสบดีอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่างประมาณ 619 ล้านกิโลเมตร ปรากฏเด่นชัดทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า
ดาวเสาร์ใกล้โลก (21 กรกฏาคม 2563) ดวงอาทิตย์ โลก และดาวเสาร์ เรียงอยู่ในแนวเดียวกันมีโลกอยู่ตรงกลางส่งผลให้ดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่างประมาณ 1,346 ล้านกิโลเมตร ปรากฏเด่นชัดทางทิศตะวันออกเฉียงใต้หลังจากดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า
ดาวอังคารใกล้โลก (6-14 ตุลาคม 2563) - วันที่ 6 ตุลาคม 2563 ดาวอังคารจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่างประมาณ 62.07 ล้านกิโลเมตร หลังจากนั้นในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (ดวงอาทิตย์ โลก และดาวอังคาร เรียงอยู่ในแนวเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลาง) ห่างจากโลกประมาณ 62.70 ล้านกิโลเมตร ช่วงเวลาดังกล่าวดาวอังคารจะส่องสว่างสุกใส เปล่งประกายสีส้มแดงโดดเด่นบนท้องฟ้าทางทิศตะวันออก
5) ฝนดาวตก มีตลอดทั้งปี แต่ที่น่าจับตาได้แก่ ฝนดาวตกควอดรานติดส์ : 3-4 มกราคม (เฉลี่ย 120 ดวงต่อชั่วโมง) ฝนดาวตกลีโอนิดส์ : 17-18 พฤศจิกายน (เฉลี่ย 15 ดวงต่อชั่วโมง) และ ฝนดาวตกเจมินิดส์ : 13-14 ธันวาคม (เฉลี่ย 150 ดวงต่อชั่วโมง)
6) NASA ส่งยาน MARS 2020 มุ่งสู่ดาวอังคาร
ยาน MARS 2020 เป็นรถสำรวจดาวอังคาร ที่องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐอเมริกา (NASA) มีแผนจะส่งขึ้นสู่อวกาศในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 มีภารกิจหลักเพื่อศึกษาดาวอังคารในหลายประเด็น ได้แก่ สภาพแวดล้อมในอดีตบนดาวอังคารในเชิงชีวดาราศาสตร์ กระบวนการทางธรณีวิทยาบนพื้นผิวดาวอังคาร วิวัฒนาการของดาวอังคารในเชิงชีวดาราศาสตร์ เช่น สภาพเอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต (Habitability) ของดาวอังคารในอดีต ความเป็นไปได้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตสมัยดึกดำบรรพ์บนดาวอังคาร การตรวจหาสัญญาณบ่งชี้ถึงสิ่งมีชีวิต (Biosignature) คาดว่ายาน MARS 2020 จะลงสู่พื้นผิวดาวอังคารบริเวณหลุมอุกกาบาตเยเซรอ (Jezero Crater) ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
7) อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร แหล่งเรียนรู้ดาราศาสตร์ครบวงจรแห่งใหม่ของไทย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กำหนดเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร ในวันที่ 27 มกราคม 2563
อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร เป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษา ค้นคว้าวิจัยและพัฒนาทางดาราศาสตร์ของประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแหล่งรวมศิลปวิทยาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ เป็นแหล่งค้นคว้า ศึกษาวิจัย บ่มเพาะและสร้างนักวิจัยดาราศาสตร์ เป็นศูนย์บริการข้อมูล ฝึกอบรม ถ่ายทอดเทคโนโลยีดาราศาสตร์ จัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิชาการที่สำคัญของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 54 ไร่ บริเวณตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย อาคารสำนักงานใหญ่ อาคารปฏิบัติการ อาคารท้องฟ้าจำลองและนิทรรศการ ประกอบด้วย ส่วนท้องฟ้าจำลองระบบฟูลโดมดิจิทัล ความละเอียดสูงสุด 8K ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 17 เมตร ความจุ 160 ที่นั่ง และพื้นที่สำหรับรถผู้พิการ อาคารหอดูดาว เป็นอาคารสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้าด้วยกล้องโทรทรรศน์แบบต่างๆ และลานกิจกรรมอเนกประสงค์กลางแจ้ง กำหนดเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในเดือนกุมภาพันธ์ 2563
8) ติดตั้งจานรับสัญญาณกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ณ หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ
สดร. อยู่ในระหว่างการก่อสร้างหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ ติดต่อกล้องโทรทรรศน์วิทยุแบบจานเดี่ยว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี เพื่อพัฒนางานวิจัยดาราศาสตร์วิทยุและด้านธรณีวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาผลการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเปลือกโลก ซึ่งอาจมีผลต่อการเกิดภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว หรือ สึนามิ เป็นต้น คาดว่าจะดำเนินการยกจานรับสัญญาณ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ติดตั้งบนอาคารฐานรากที่ใช้เป็นอาคารควบคุมการทำงานของกล้องโทรทรรศน์ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2563
9) ปักหมุดหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนเต็มรูปแบบ แห่งที่ 4 ของไทย
หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 คาดว่าจะเปิดให้บริการประมาณปลายปี 2565 หากแล้วเสร็จ จะเป็นศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์ที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เพื่อบริการวิชาการดาราศาสตร์ สนับสนุนงานวิจัยดาราศาสตร์สำหรับนักเรียน นักศึกษา สถาบันการศึกษาภูมิภาค และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิชาการของชุมชนและท้องถิ่น
10) การพัฒนาเทคโนโลยีดาราศาสตร์ “ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีดาราศาสตร์ขั้นสูง”
นอกจากภารกิจค้นคว้าวิจัย ถ่ายทอดองค์ความรู้ทางดาราศาสตร์สู่ประชาชนแล้ว สดร. ยังให้ความสำคัญกับการออกแบบและสร้างอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับการวิจัย และมุ่งใช้ดาราศาสตร์ เป็นส่วนสำคัญเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาคน ยกระดับงานวิจัยและวิศวกรรม ให้สามารถเป็นผู้ออกแบบและสร้างอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ระดับสูงด้วยตัวเอง ลดการพึ่งพาเทคโนโลยี จากต่างประเทศ ความรู้ความเชี่ยวชาญที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะงานด้านดาราศาสตร์เท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปต่อยอดประยุกต์ในสาขาอื่น ๆ ได้อีกด้วย ปัจจุบัน สดร. มีห้องปฏิบัติการเทคโนโลยี ดาราศาสตร์ขั้นสูง 5 ด้าน ได้แก่ 1) เทคโนโลยีทางทัศนศาสตร์และโฟโตนิกส์ (Optics and Photonics) 2) เทคโนโลยีด้านความถี่ในช่วงคลื่นวิทยุ (Radio Frequency Technology) 3) เทคโนโลยีแมคคาทรอนิกส์ (Mechatronics) 4) เทคโนโลยีขึ้นรูปชิ้นงานความละเอียดสูง (High Precision Machining) 5) เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงและวิทยาศาสตร์ข้อมูล (High Performance Computing and Data Science)
ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเชิญชวนทุกท่านติดตาม 10 เรื่องดาราศาสตร์ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า และขอเชิญชวนทุกคนให้มาเยี่ยมชม เสริมสร้างแรงบันดาลใจทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรียนรู้เรื่องราวดาราศาสตร์ ผ่านท้องฟ้าจำลอง นิทรรศการดาราศาสตร์ และหอดูดาวภายในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร ที่จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ ปีหน้าด้วย
สำหรับผู้ที่สนใจข่าวสารดาราศาสตร์เพิ่มเติม ติดตามได้ที่ www.facebook.com/NARITpage หรือ www.NARIT.or.th
งานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-121268-9ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250
E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. Website : www.narit.or.th
Facebook : www.facebook.com/NARITpage
Twitter : @N_Earth, Instagram : @NongEarthNARIT
Call Center กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โทร. 1313