สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน  ทรงเปิดการประชุมกาแล็กซี ฟอรัม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2020 ประเทศไทย (Galaxy Forum Southeast Asia 2020) จัดโดยศูนย์ฝึกอบรมดาราศาสตร์นานาชาติภายใต้ยูเนสโก ดำเนินงานภายใต้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับสมาคมหอสังเกตการณ์   ดวงจันทร์นานาชาติ สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 3 มีนาคม 2563 ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จังหวัดเชียงใหม่

pr20200304 1 01

pr20200304 1 02

pr20200304 1 03

pr20200304 1 04

 

           เวลา 09.15 น. วันที่ 3 มีนาคม 2563 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งถึงอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร ตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประธานกรรมการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และผู้แทนคณะกรรมการจัดงาน เฝ้าฯ รับเสด็จ ภริยารองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และผู้แทนสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายพวงมาลัย จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินเข้าภายในอาคารนิทรรศการท้องฟ้าจำลองและนิทรรศการ

            เมื่อเสด็จเข้าภายในท้องฟ้าจำลอง ทรงประทับพระราชอาสน์ ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กราบบังคมทูลรายงาน ในการนี้ ทรงมีพระราชดำรัสเปิดการประชุมกาแล็กซี ฟอรัม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2020 ประเทศไทย และทรงร่วมฟังบรรยายพิเศษ จำนวน 3 หัวข้อ ได้แก่

            1) “ภาพถ่ายหลุมดำภาพแรกในกาแล็กซี M87 จากกล้องโทรทรรศน์อีเวนต์ฮอไรซอนส์” โดย ดร. พอล โฮ ผู้อำนวยการหอดูดาวเอเชียตะวันออกและผู้อำนวยการกล้องโทรทรรศน์เจมส์ เคลิร์ก แมกซ์เวลล์ หนึ่งในเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์อีเวนต์ฮอไรซอนส์ที่บันทึกภาพหลุมดำได้ครั้งแรกของโลก 

            2) “บทบาทของประเทศแถบเอเชียในการใช้ดาราศาสตร์เป็นเครื่องมือผลักดันนวัตกรรมล้ำหน้าในยุค 2020” โดย ดร. วิภู รุโจปการ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ / อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

            3) “การสร้างกล้องโทรทรรศน์บนดวงจันทร์” โดย สตีฟ เดิร์ส ผู้อำนวยการสมาคมหอสังเกตการณ์ดวงจันทร์นานาชาติ สหรัฐอเมริกา      

            หลังจบการบรรยาย เสด็จพระราชดำเนินออกจากห้องท้องฟ้าจำลอง ทอดพระเนตรนิทรรศการศูนย์ฝึกอบรมดาราศาสตร์นานาชาติภายใต้ยูเนสโก เป็นศูนย์ฝึกอบรมและวิจัยภายใต้ยูเนสโก ประเภทที่ 2 แห่งแรก       ในประเทศไทย และยังเป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านดาราศาสตร์ระดับนานาชาติแห่งแรกของโลก ดำเนินงานโดยสถาบัน    วิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ตั้งอยู่ภายในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จังหวัดเชียงใหม่ จัดตั้งขึ้นเพื่อกระชับความสัมพันธ์ในมติทวิภาคีและพหุภาคีระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การยูเนสโก ดำเนินการฝึกอบรมและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแก่ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย ครู นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจ โดยอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญจากบุคลากรด้านดาราศาสตร์และโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ของไทยทั้งในและต่างประเทศ ในกำกับของ สดร. มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในสาขาดังกล่าวทั้งในและต่างประเทศ เน้นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศสมาชิกขององค์การยูเนสโก เพื่อรังสรรค์สังคมให้เข้มแข็ง สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล และ 17 หัวข้อการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ที่ต้องการพัฒนาประชาคมโลกให้ดียิ่งขึ้น

 

pr20200304 1 05

pr20200304 1 06

pr20200304 1 07

pr20200304 1 08


            โอกาสนี้ สตีฟ เดิร์ส ผู้อำนวยการสมาคมหอสังเกตการณ์ดวงจันทร์นานาชาติ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวาย  แผ่นไม้แกะสลักตราสัญลักษณ์การจัดงาน และ รองศาสตราจารย์ ดร. พีรเดช ทองอำไพ ประธานกรรมการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายภาพถ่ายดาราศาสตร์ฝีพระหัตถ์ “กาแล็กซีแบบกังหัน (NGC 891)” ทรงบันทึกด้วยกล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกลอัตโนมัติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.0 เมตร ของ สดร. ที่ติดตั้ง ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อครั้งเสด็จฯ มาทรงเปิดอุทยานดาราศาสตร์สิรินธรอย่างเป็นทางการ วันที่ 27 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา

 

pr20200304 1 09

 

            หลังจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการดาราศาสตร์แบบมีปฏิสัมพันธ์และเพนดูลัม บริเวณส่วนจัดแสดงนิทรรศการ ชั้น 2 อาคารท้องฟ้าจำลองและนิทรรศการดาราศาสตร์ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร  และเสด็จฯ ไปยังร้านอาหาร The Planet เสวยพระกระยาหารกลางวันที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดถวาย

            เวลาประมาณ 13.00 น. เสด็จประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังท่าอากาศยานทหารกองบิน 41 อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อประทับเครื่องบินพระที่นั่งไปยังท่าอากาศยานกองบัญชาการกองทัพอากาศ  เสด็จพระราชดำเนินกลับวังสระประทุม     

            สมาคมหอสังเกตการณ์ดวงจันทร์นานาชาติ สหรัฐอเมริกา (International Lunar Observatory Association: ILOA) เป็นองค์กรวิทยาศาสตร์ภาคเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีสำนักงานตั้งอยู่ ณ หมู่เกาะฮาวาย สหรัฐอเมริกา มุ่งหวังดำเนินการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ ณ ขั้วใต้ของดวงจันทร์ และพัฒนาการวิจัยดาราศาสตร์สู่    องค์ความรู้ใหม่โดยใช้ดวงจันทร์เป็นฐาน นอกจากนี้ ยังสนับสนุนกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้นได้ โดยมีเป้าประสงค์สูงสุดในการขยายขอบเขตของมนุษยชาติในระบบสุริยะ ด้วยเทคโนโลยีของศตวรรษที่ 21

            การประชุมกาแล็กซี ฟอรัม เป็นหนึ่งในกิจกรรมบริการวิชาการของ ILOA มุ่งเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการศึกษาเกี่ยวกับดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ การวิจัยด้านกาแล็กซี สะเต็มศึกษา และด้านอวกาศ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นในแต่ละประเทศที่ร่วมเป็นเจ้าภาพ กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียน นักศึกษา ครูผู้สอน นักการศึกษา และประชาชนที่สนใจทั่วไป จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2551 ณ ซิลิคอนแวลลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีการจัดการประชุมกาแล็กซี ฟอรัม มาแล้ว 96 ครั้งกว่า 26 ประเทศทั่วโลก
            สำหรับประเทศไทย เคยได้รับเกียรติจัดการประชุมดังกล่าวมาแล้วหนึ่งครั้ง โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นเจ้าภาพร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลอง กรุงเทพมหานคร 

 

งานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

โทร. 053-121268-9ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250

E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.    Website : www.narit.or.th

Facebook : www.facebook.com/NARITpage

Twitter : @NARIT_Thailand,  Instagram : @NongEarthNARIT