ปัจจุบันนานาประเทศต่างยอมรับว่าดาราศาสตร์มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก ดาราศาสตร์สามารถดึงดูดผู้คนทุกเพศทุกวัยให้ชื่นชอบและหลงใหลในความสวยงามและความน่าอัศจรรย์ ดาราศาสตร์ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นศึกษาทำความเข้าใจเอกภพเท่านั้น แต่ยังมาพร้อมกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขาต่าง ๆ ประโยชน์ของดาราศาสตร์ทางด้านการศึกษานอกจากจะทำให้เยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจในดาราศาสตร์มากขึ้นแล้ว ยังสามารถดึงดูดเยาวชนให้มีความสนใจใฝ่รู้ เสริมสร้างจินตนาการ และมีกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ในส่วนของประชาชนทั่วไปนอกจากความสวยงามของกลุ่มดาวต่างๆ ที่ปรากฏ ให้เห็นบนท้องฟ้ายามค่ำคืนแล้ว ดาราศาสตร์ยังสามารถดึงดูดให้ประชาชนสนใจติดตามข่าวสารปรากฏการณ์ต่างๆ เป็นการเสริมสร้างบรรยากาศและส่งเสริมให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์ของคนในประเทศได้อีกด้วย
การศึกษาวิชาดาราศาสตร์ในประเทศไทยได้ถูกบรรจุเนื้อหาไว้ในสาระการเรียนรู้ โลก ดาราศาสตร์และอวกาศ ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการเมื่อปี พ.ศ. 2551 วิชาดาราศาสตร์จึงถือว่าเป็น เรื่องใหม่สำหรับครูผู้สอนและเป็นวิชาที่ยังขาดแคลนครูที่มีความรู้ ทักษะและประสบการณ์อยู่เป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อการพัฒนากำลังคนทางด้านดาราศาสตร์ของประเทศ ดังนั้น สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบงานทางด้าน ดาราศาสตร์ของประเทศ ร่วมกับ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. กระทรวงศึกษาธิการ เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา จึงได้จัดให้มีโครงการอบรมครูเชิงปฏิบัติการด้านดาราศาสตร์ขึ้น โดยแบ่งออกเป็นหลายระดับ คือ ขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นสูง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นความสนใจให้เกิดการเรียนรู้ทางด้าน ดาราศาสตร์ เกิดการพัฒนาความรู้ ทักษะ และเพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้ทางด้านดาราศาสตร์ให้กับครูผู้สอน เพื่อนำไปพัฒนาสื่อและกระบวนการเรียนการสอนในชั้นเรียน
สำหรับโครงการอบรมครูเชิงปฏิบัติการด้านดาราศาสตร์ขั้นสูง มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นให้ครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านดาราศาสตร์ ได้พัฒนาทักษะการทำโครงงานทางด้านดาราศาสตร์ สามารถเป็นที่ปรึกษาโครงงานทางด้านดาราศาสตร์ให้กับนักเรียน เกิดการสร้างเครือข่ายการทำโครงงานด้าน ดาราศาสตร์ในระดับโรงเรียน เพื่อก้าวไปสู่การทำโครงงานทางดาราศาสตร์ในระดับประเทศ และก้าวไปสู่เครือข่ายการทำโครงงานในระดับนานาชาติต่อไป
วัตถุประสงค์
1.1 เพื่อให้ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ได้เรียนรู้กระบวนการพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อนำไปสู่กระบวนการทำโครงงานทางดาราศาสตร์
1.2 เพื่อให้ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ได้เพิ่มพูนทักษะและประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษาโครงงานทางดาราศาสตร์
1.3 เพื่อให้ครูที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถเป็นที่ปรึกษาโครงงานทางดาราศาสตร์ให้กับนักเรียนได้
1.4 นักเรียนสามารถทำโครงงานทางดาราศาสตร์ได้สำเร็จ ภายใต้การให้คำปรึกษาของครูที่เข้าร่วมโครงการฯ
1.5 ครูที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถสร้างเครือข่ายการทำโครงงานดาราศาสตร์ในระดับโรงเรียนและระดับประเทศได้
1.6 เป็นการปูทางเพื่อนำไปสู่การสร้างเครือข่ายการทำโครงงานทางดาราศาสตร์ในระดับนานาชาติ
กลุ่มเป้าหมาย
ครู อาจารย์ หรือบุคลากรทางการศึกษา ที่สอนในโรงเรียน สถานศึกษา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยผู้เข้าร่วมโครงการมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาด้านดาราศาสตร์เป็นอย่างดี มีทักษะและประสบการณ์ในการดำเนินโครงงานทางวิทยาศาสตร์หรือดาราศาสตร์อย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งกลุ่มครูที่เข้าร่วม ดังนี้
1. ครูที่เข้าร่วมการอบรม ในปีงบประมาณ 2562 จำนวน 6 คน (ครูเดิมจากปีที่แล้ว)
และนักเรียน จำนวน 18 คน (โรงเรียนละ 3 คน)
2. คัดเลือกครูในปีงบประมาณ 2563 เพิ่มเติม จำนวน 3 คน
และนักเรียน จำนวน 9 คน (โรงเรียนละ 3 คน)
หมายเหตุ : การคัดเลือกนักเรียนที่เข้าร่วมทำโครงงาน ให้อยู่ในดุลยพินิจของครูที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมอบรม และควรศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 5 ในสถาบันการศึกษาเดิม
คุณสมบัติผู้สมัคร
1. เป็นครู อาจารย์ หรือบุคลากรทางการศึกษาที่สอนในโรงเรียน สถานศึกษา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางการศึกษา ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งภาครัฐและเอกชน
2. ผ่านการอบรมครูเชิงปฏิบัติการด้านดาราศาสตร์ขั้นกลาง หรือมีความรู้ความเข้าใจทางด้านดาราศาสตร์ เป็นอย่างดี
3. มีประสบการณ์การดำเนินงานและเป็นที่ปรึกษาโครงงานทางวิทยาศาสตร์หรือดาราศาสตร์
4. สามารถเข้าร่วมกิจกรรมอบรมตลอดหลักสูตรจนครบระยะเวลาอบรม 3 ปี และสามารถเข้าร่วมการนำเสนอผลงานทางดาราศาสตร์ที่ทางสถาบันฯ กำหนดขึ้นได้
5. สามารถทำการคัดเลือกนักเรียนที่มีความรู้ความสามารถที่จะเป็นตัวแทนในการเข้าร่วมทำโครงงานทาง ดาราศาสตร์ร่วมกับครู (โรงเรียนละ 3 คน)
6. ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานต้นสังกัด และสามารถสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการเดินทางจากภูมิลำเนามายังสถานที่จัดอบรม (จ.เชียงใหม่) ตลอดหลักสูตรจนครบระยะเวลาอบรม 3 ปี
หมายเหตุ
1. ครูผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้โดย ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียน เอกสาร และวัสดุประกอบการอบรม ยกเว้น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากภูมิลำเนามายัง สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ จ.เชียงใหม่ โดยให้ผู้เข้าร่วมอบรมจะต้องได้รับความเห็นชอบในการสนับสนุนและเบิกจ่ายจากต้นสังกัด ตลอดระยะเวลาหลักสูตรที่เข้าร่วมโครงการ 3 ปี
2. ครูที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมอบรมตลอดหลักสูตรจนครบระยะเวลาอบรม 3 ปี และสามารถเข้าร่วมการนำเสนอผลงานทางดาราศาสตร์ที่ทางสถาบันฯ กำหนดขึ้นได้
3. ทางสถาบันฯ จะดูแลค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างการฝึกอบรม
4. ครูผู้เข้าร่วมโครงการฯ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของกิจกรรมอบรม ผ่านทางเว็ปไซด์ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ http://www.narit.or.th/index.php/teacher/training/advance
5. กำหนดการและสถานที่ในการเข้ารับการอบรมจะมีการเปลี่ยนแปลง และจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งในภายหลัง
ดาวน์โหลดโครงการอบรมครูเชิงปฏิบัติการด้านดาราศาสตร์ขั้นสูง ประจำปี 2563