หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ส่วนภูมิภาค

 

       จากความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ในปัจจุบันตลอดจนความตื่นตัวของประชาชน นักเรียน นักศึกษา ที่มีต่อวิชาดาราศาสตร์เพิ่มมากขึ้น สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาวิชาดาราศาสตร์ทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาและอุดมศึกษา จึงจัดตั้งหอดูดาวในส่วนภูมิภาคขึ้น จำนวน 5 แห่ง เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ ค้นคว้า และทำวิจัยทางด้านดาราศาสตร์ตลอดจนเผยแพร่ความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ไปยังหน่วยงานการศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัย และชุมชน เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในด้านดาราศาสตร์ที่ถูกต้อง สามารถนำวิชาดาราศาสตร์ไปประยุคใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอน และการดำเนินชีวิตประจำวันได้

       คณะรัฐมนตรีได้มีมติในที่ประชุมให้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินโครงการก่อสร้างหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ส่วนภูมิภาค สำหรับประชาชน เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2552 ในปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ส่วนภูมิภาคแล้วเสร็จจำนวน 2 แห่ง คือ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา และกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างอีก 3 แห่ง

       ภายในหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ในส่วนภูมิภาคแต่ละแห่งประกอบไปด้วย อาคารหอดูดาวพร้อมติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 เมตร และกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 14 นิ้ว นอกจากนี้ยังมีกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กอีกจำนวนหนึ่ง อุปกรณ์สำหรับงานวิจัย เช่น เครื่องภ่ายภาพซีซีดี เครื่องบันทึกเสปกโทรกราฟ และเครื่องมือทางดาราศาสตร์อื่นๆ เพื่อให้บริการด้านการจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ นับตั้งแต่การจัดกิจกรรมดูดาวไปจนถึงการศึกษาค้นคว้าและการทำงานวิจัยในระดับที่สูงขึ้น โดยประชาชน ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา และนักวิจัย ในเขตภูมิภาคต่างๆ จะสามารถมาเข้าใช้บริการที่หอดูดาวที่ใกล้เคียงได้ทุกๆ หอดูดาว นอกจากเครื่องมือบริการสำหรับงานค้นคว้าและการวิจัยแล้ว หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติภูมิภาค ยังได้จัดสร้างห้องท้องฟ้าจำลอง จัดฉายภาพท้องฟ้าจำลอง และสื่อมัลติมีเดียทางด้านดาราศาสตร์และอวกาศต่างๆ เพื่อให้ประชาชน นักเรียน และนักศึกษาได้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบพิกัดต่างๆ บนท้องฟ้า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอวกาศ เช่น พายุสุริยะ เพื่อเตรียมรับมือและไม่ตื่นกลัวต่อข่าวลือต่างๆ ได้ง่าย

       ในอนาคตหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ในส่วนภูมิภาค จะมีการเชื่อมโยงภาพและข้อมูลทางดาราศาสตร์เข้ากับกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ที่ติดตั้งอยู่บนหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ  7 รอบพระชนมพรรษา ดอยอินทนนท์ เพื่อให้ผู้เข้าใช้บริการหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ในส่วนภูมิภาค ได้ใช้ข้อมูลทางดาราศาสตร์ที่สำคัญๆ จากกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ 2.4 เมตร บนยอดดอยอินทนนท์ได้