ในการจัดกิจกรรมในค่ายเยาวชนคนดูดาวและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เป็นการจัดกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้เกิดทักษะการเรียนข้อมูลทางดาราศาสตร์ใหม่ๆ โดยอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้เน้นให้มีการจัดกิจกรรมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ กิจกรรมภาคบรรยาย และกิจกรรมภาคปฏิบัติ โดยมีรายละเอียดกิจกรรม ดังนี้
กิจกรรมภาคบรรยาย
หัวข้อบรรยาย : การดูดาวเบื้องต้นและการเตรียมตัวสำหรับดูดาว
รายละเอียด : การบรรยายให้รู้จัดถึงหลักการดูดาวเบื้องต้น พื้นฐานที่จำเป็นของนักดูดาว หลักการพื้นฐานทางดาราศาสตร์ รวมไปถึงการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับดูดาวการใช้งานอุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการสังเกตการณ์ เช่น แผนที่ดาว กล้องสองตา เลเซอร์ชี้ดาว กล้องโทรทรรศน์ และอุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็น
กิจกรรมภาคปฏิบัติ
หัวข้อกิจกรรม : การสร้างเครื่องวัดมุมอย่างง่าย
รายละเอียด : สร้างอุปกรณ์สำหรับวัดมุมหรือตำแหน่งของวัตถุท้องฟ้า โดยสร้างจากอุปกรณ์อย่างง่าย รวมทั้งการนำไปใช้สำหรับสังเกตการณ์ในท้องฟ้าจริงในช่วงกลางคืน เพื่อวัดตำแหน่งและการเคลื่อนที่ของวัตถุท้องฟ้า
หัวข้อกิจกรรม : การติดตั้งกล้องโทรทรรศน์เพื่อใช้งานจริง
รายละเอียด : เรียนรู้หลักการทำงานของกล้องโทรทรรสน์ขนาดเล็ก วิธีการติดตั้ง และการนำไปใช้ในการสังเกตการณ์จริง ซึ่งน้องๆ จะได้ฝึกปฏิบัติและได้สัมผัสกล้องโทรทรรศน์ด้วยตัวเองเพื่อใช้ในการสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้าในภาคกลางคืนต่อไป
หัวข้อกิจกรรม : เยี่ยมชมหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา (หอดูดาวแห่งชาติ)
รายละเอียด : ทัศนศึกษาเพื่อเยี่ยมชมหอดูดาวที่ถือว่าเป็นหอดูดาวที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียนรู้หลักการทำงานของกล้องโทรทรรศน์ สัมผัสพื้นที่ทำงานของนักวิจัยดาราศาสตร์ รวมทั้งได้สัมผัสกับประสบการณ์ได้เข้าไปสังเกตพื้นที่ภายในโดมกล้องโทรทรรศน์ ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสที่น้อยคนนักจะได้สัมผัสและได้มายืนในจุดนี้
หัวข้อกิจกรรม : กิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ณ กิ่วแม่ปาน
รายละเอียด : กิ่วแม่ปาน เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่นับว่าสวยงามติดอันดับ 1 ใน 3 ของเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่สวยที่สุดในประเทศไทยเส้นทางผ่านพื้นที่ป่าที่เรียกว่าป่าเมฆ (Forest Cloud) ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศ
หัวข้อกิจกรรม : การสังเกตการณ์และนับจุดบนดวงอาทิตย์
รายละเอียด : การสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์เป็นกิจกรรมทางดาราศาสตร์อย่างหนึ่งที่สามารถทำการสังเกตการณ์ในช่วงกลางวัน และการสังเกตการณ์จุดบนดวงอาทิตย์ก็นับว่าเป็นกิจกรรมที่สนุกสนานและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งน้องๆ จะได้เรียนรู้ถึงวิธีการนับจุดบนดวงอาทิตย์ที่เป็นสากล และเรียนรู้ที่มาและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์
หัวข้อกิจกรรม : การสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้าในช่วงกลางคืน
รายละเอียด : เป็นกิจกรรมที่น้องๆ จะได้รู้จักกับวัตถุท้องฟ้า การเคลื่อนที่ของวัตถุท้องฟ้า รวมไปถึงการได้สัมผัสประสบการณ์จากการสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์หลากหลายรูปแบบและการได้ฝึกปฏิบัติใช้งานกล้องโทรทรรศน์ค้นหาวัตถุท้องฟ้าด้วนตัวเอง ณ จุดที่มีท้องฟ้าดีที่สุดแห่งประเทศไทย สูงที่สุดแห่งประเทศไทย
กิจกรรม ( พิเศษ ) : การสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้าช่วงเช้ามืด
รายละเอียด : เป็นโอกาสพิเศษที่น้องๆ จะได้ตื่นมาสัมผัสกับการสังเกตการณ์ในช่วงเช้ามืด ได้สัมผัสกับดวงดาวพร้อมความหนาวเหน็บบนดอยอินทนนท์ ได้สัมผัสและรอคอยแสงแรกของวันอันสวยงาม และที่เป็นไฮไลท์ที่สุด ก็คือ “ทางช้างเผือก” (Milky Way) ซึ่งน้องๆ จะได้สัมผัสด้วยตาเปล่า และได้ถ่ายภาพที่มีพื้นหลังเป็นทางช้างเผือกสุดอลังการ