ครูที่สนใจสามารถเข้าร่วมการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรมดาราศาสตร์ระดับโรงเรียน ได้ทั้งสิ้น 3 รูปแบบ ดังนี้
รูปแบบที่ 1 : การนำเสนอผลงาน “กิจกรรมดาราศาสตร์ระดับโรงเรียน” จำนวน 60 ผลงาน
1.1 กิจกรรมดาราศาสตร์ในโรงเรียน:
คือกิจกรรมดาราศาสตร์ที่จัดขึ้นโดย ครู นักเรียน หรือสมาชิกชมรมดาราศาสตร์ มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาทักษะความรู้ ความสนใจ และความเข้าใจทางด้านดาราศาสตร์แก่ นักเรียนในโรงเรียน/ต่างโรงเรียน เช่น การสร้างสื่อ/อุปกรณ์ดาราศาสตร์, กิจกรรมงานวันวิทยาศาสตร์, ค่ายดาราศาสตร์, กิจกรรมดูดาว, การสร้างแหล่งเรียนรู้ดาราศาสตร์ในโรงเรียน หรือการเรียนรู้ดาราศาสตร์ในรูปแบบอื่นๆ
ผู้ส่งผลงานต้องนำเสนอ กิจกรรมเด่นหรือกิจกรรมที่น่าสนใจเพียง 1 กิจกรรม เช่น วัตถุประสงค์ ผู้เข้าร่วม รูปแบบ/เนื้อหาในกิจกรรม ผลที่ได้รับ จุดเด่น ผลการดำเนินกิจกรรม ความแปลกใหม่/ความน่าสนใจของกิจกรรม ฯลฯ รวมทั้ง กิจกรรมดาราศาสตร์ในโรงเรียนในภาพรวมตลอด 1 ปีการศึกษาที่ผ่านมา (พ.ค. 63 - เม.ย. 64)
1.2 กิจกรรมดาราศาสตร์สู่ชุมชน:
คือกิจกรรมดาราศาสตร์ที่จัดขึ้นโดย ครู นักเรียน หรือสมาชิกชมรมดาราศาสตร์ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือคนในชุมชนมีส่วนร่วม กระตุ้นให้เกิดความสนใจทางด้านดาราศาสตร์ เช่น กิจกรรมสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์, กิจกรรมตามปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ในพื้นที่ชุมชน/พื้นที่ห่างไกล, การจัดกิจกรรมดูดาวในช่วงงานเทศกาลต่างๆ, กิจกรรมดาราศาสตร์สู่ชุมชน หรือ การจัดนิทรรศการดาราศาสตร์
ผู้ส่งผลงานต้องนำเสนอ กิจกรรมเด่นหรือกิจกรรมที่น่าสนใจเพียง 1 กิจกรรม เช่น วัตถุประสงค์ ผลการดำเนินกิจกรรม จำนวนผู้เข้าร่วม วัตถุท้องฟ้า รูปแบบการจัดกิจกรรม จุดเด่น ความคิดสร้างสรรค์ และ ความน่าสนใจของกิจกรรม ฯลฯ รวมทั้ง กิจกรรมดาราศาสตร์สู่ชุมชนในภาพรวมตลอด 1 ปีการศึกษาที่ผ่านมา (พ.ค. 63 - เม.ย. 64)
1.3 กิจกรรมศึกษาโครงงานดาราศาสตร์ระดับโรงเรียน:
คือกิจกรรมการศึกษาค้นคว้าในรูปแบบโครงงานดาราศาสตร์ โดยครูทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับนักเรียนตามระยะเวลาที่ศึกษาโครงงาน เพื่อแก้ปัญหาหรือข้อสงสัยของนักเรียนโดยการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์
ผู้ส่งผลงานต้องนำเสนอแผนการดำเนินโครงงานดาราศาสตร์ในช่วง 1 ปีการศึกษาที่ผ่านมา (พ.ค. 63 - เม.ย. 64) และนำเสนอโครงงานที่น่าสนใจมาอธิบายตัวอย่างโครงงานดาราศาสตร์ถึงภาพรวมของการดำเนินการและผลที่นักเรียนได้รับจากการทำโครงงานฯ เช่น บทบาทของครูที่ปรึกษาโครงงาน การกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ แนวคิดการศึกษาโครงงาน การวางแผนศึกษา ปัญหา/อุปสรรค และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำโครงงานดาราศาสตร์ ฯลฯ
รูปแบบที่ 2 : นำเสนอกิจกรรมอบรม (Workshop) “กิจกรรมการเรียนรู้ดาราศาสตร์ในชั้นเรียน” จำนวน 3-5 กิจกรรม
คือการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้แนวทางการสอนดาราศาสตร์สำหรับครู ด้วยกิจกรรมเชิงปฏิบัติการทางดาราศาสตร์ เช่น STEM, Active learning หรือ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสอนดาราศาสตร์อื่นๆ ในห้องเรียน โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความสนใจและพัฒนาการเรียนรู้เกี่ยวกับดาราศาสตร์มากขึ้น
ผู้ส่งผลงานเข้าร่วมกิจกรรมเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ดาราศาสตร์ ต้องนำเสนอและ สาธิตกิจกรรมการเรียนรู้ดาราศาสตร์ให้แก่ผู้เข้ากิจกรรม รวมทั้งอธิบายขั้นตอนของกิจกรรมโดยละเอียด เช่น วัตถุประสงค์ อุปกรณ์ ระยะเวลากิจกรรม กลุ่มเป้าหมาย และขั้นตอนการเรียนรู้ เป็นต้น
รูปแบบที่ 3 : เข้าร่วมฟังการนำเสนอผลงาน (แบบไม่นำเสนอผลงาน) จำนวน 40 คน
การประชุมนี้เปิดโอกาสให้ครู/นักเรียน ที่สนใจเข้าร่วมฟังการนำเสนอผลงาน เพื่อหาแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ดาราศาสตร์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อนำไปพัฒนาการจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ในโรงเรียนต่อไป
** ดาวโหลดเอกสารโครงการ “งานประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรมดาราศาสตร์ระดับโรงเรียน”