โครงสร้างพื้นฐานภายในหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา

1.1 อาคารฉายดาว มีโดมฉายดาว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เมตร ติดตั้งเครื่องฉายดาวระบบฟูลโดมดิจิทัล ความละเอียด 25 ล้านพิกเซล  รองรับการฉายดาวด้วยโปรแกรมดูดาว Stellarium สามารถแสดงภาพดวงดาวบนท้องฟ้าตามวัน และเวลาที่ต้องการ ฉายภาพดาวฤกษ์ ภาพกลุ่มดาว ภาพกลุ่มดาวในจินตนาการ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์  กาแล็กซี เนบิวลา กระจุกดาว และดาวเคราะห์ต่างๆ ได้ นอกจากนี้ยังสามารถอธิบายและให้ความรู้เกี่ยวกับทรงกลมท้องฟ้า ระบบพิกัดท้องฟ้า  รวมถึงฉายภาพยนตร์จำลองระบบสุริยะ วัตถุในห้วงอวกาศลึก และภาพยนตร์ทางดาราศาสตร์ต่างๆ

pasted image 1

1.2 อาคารนิทรรศการดาราศาสตร์ จัดแสดงในรูปแบบชุดการเรียนรู้ดาราศาสตร์แบบมีปฏิสัมพันธ์ เพื่อให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้ เสมือนจริง ประกอบด้วยนิทรรศการทั้งหมด 14 โซน ได้แก่

 - สเปกตรัมกับการค้นพบทางดาราศาสตร์   - การสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ 
- การรวมแสงของกล้องโทรทรรศน์   - น้ำหนักบนดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ
- การหักเหของแสง   - แสงกับภาพถ่ายดาราศาสตร์
- การรวมสีของแสง   - อุกกาบาต
- การเกิดเฟสของดวงจันทร์   - ความสำคัญของขนาดรูรับแสงของกล้องโทรทรรศน์
- การหมุนรอบตัวเองของดาวเคราะห์แก๊ส   - การสำรวจดวงจันทร์
- หลุมดวงจันทร์   - ฤดูกาลและการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์

 

cco e 1  cco e 2


1.3 อาคารหอดูดาว ประกอบด้วยโดมไฟเบอร์กลาสทรงคล้ายเปลือกหอยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 18 ฟุต ภายในติดตั้งกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร เป็นกล้องโทรทรรศน์หลักสำหรับงานวิจัยทางดาราศาสตร์ ควบคุมการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์มีอุปกรณ์ถ่ายภาพแบบซีซีดีสำหรับเก็บบันทึกข้อมูลทางดาราศาสตร์เพี่อใช้ในการศึกษาวิจัย และมีช่องมองภาพเพื่อให้ผู้เข้าชมได้ส่องดูวัตถุท้องฟ้าต่าง ๆ ที่น่าสนใจ  นอกจากนี้ สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์สำหรับงานวิจัยทางดาราศาสตร์ อาทิ สเปกโทรกราฟ และเครื่องมือทาง  ดาราศาสตร์อื่น ๆ เป็นต้น

pasted image 4  pasted image 2 

1.4 อาคารศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์ อาคารสำหรับจัดกิจกรรมการเรียนรู้  อบรม บรรยาย จัดค่ายดาราศาสตร์  และจัดแสดงนิทรรศการดาราศาสตร์ 

 cco building 1  cco building 2 

 

1.5 แบบจำลองวงโคจรของระบบสุริยะ ( Planet Walk ) แนวคิดการออกแบบต้องการให้เกิดการเรียนรู้ดาราศาสตร์ระหว่างการเดินชมบริเวณโดยรอบและเนื่องจากระบบสุริยะเป็นพื้นฐานของดาราศาสตร์เป็นสิ่งที่ผู้คนคุ้นเคย จึงนำระบบสุริยะมาผนวกเข้ากับส่วนต่าง ๆ ของหอดูดาวฯ เพื่อให้เข้าใจเรื่องราวของพื้นที่ได้ง่ายขึ้น
        อาคารฉายดาวเปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ที่เป็นจุดศูนย์กลางของระบบสุริยะ เป็นจุดศูนย์กลางถ่ายทอดเรื่องราวของดาราศาสตร์ให้กับผู้สนใจ และรายล้อมด้วยดาวเคราะห์ดวงต่างๆ

 cco building 3  cco building 4 

1.6 สโตนเฮนจ์จำลอง สโตนเฮนจ์ เป็นวงกลมที่ใช้ในการสังเกตตำแหน่ง ขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ ในวันครีษมายันที่กลางวันยาวที่สุด ดวงอาทิตย์จะขึ้นเหนือขอบฟ้าบริเวณที่แนวเกือกม้าหันไปพอดี และในวันเหมายันที่กลางวันสั้นที่สุด ดวงอาทิตย์จะตกบริเวณกึ่งกลางผ่านช่องของเกือกม้าพอดี การสังเกตตำแหน่งดวงอาทิตย์ขึ้นจากกึ่งกลางสโตนเฮนจ์นี้ จึงทำให้มนุษย์ยุคโบราณสามารถคำนวณได้ว่าหนึ่งปีมี 365 วัน และทำนายได้ว่าฤดูกาลจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
        สำหรับสโตนเฮนจ์จำลองนี้ เป็นสโตนเฮนจ์ที่ย่อส่วนลงมาเหลือเพียงหนึ่งในสาม แล้วหันทิศทางให้สอดคล้องกับ ละติจูด 13.6°N ซึ่งเป็นที่ตั้งของหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดฉะเชิงเทรา

cco stone 1  cco stone 2 


1.7 สัมราฏยันตระจำลอง สัมราฏยันตระ ( Samrat Yantra )
ที่นำมาจำลองในที่นี้ เป็นหอสังเกตการณ์เก็บข้อมูลทางดาราศาสตร์ เครื่องมือนี้ทำหน้าที่เป็นนาฬิกาแดดเพื่อบอกเวลา เป็นหนึ่งในอนุสรณ์จากอนุสรณ์สถานยันตระมันตรา (Jantar Mantar) ซึ่งเป็นบริเวณรวบรวมสถาปัตยกรรม ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ สร้างโดยมหาราชสะหวายจัย สิงห์ เสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1738 ตั้งอยู่ที่เมืองชัยปุระ (Jaipur) ประเทศอินเดีย 
        การทำงานของนาฬิกาแดดทั่วไป ประกอบด้วยตัวเข็ม (gnomon) เพื่อทอดเงาลงบนฉาก มีขีดบอกเวลา สำหรับสัมราฏยันตระจำลองนี้ ตัวเข็มทำขึ้นจากพื้นลาดเอียง เป็นมุมเท่ากับละติจูดของผู้สังเกต (13.6°N สำหรับ  หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดฉะเชิงเทรา) ชี้ไปยังทางทิศเหนือ มีฉากรับเป็นวงกลมเอียงตามกับเข็ม การที่เข็มเอียงเท่ากับละติจูดนี้ ทำให้พื้นลาดชี้ไปในทิศทางที่ขนานกับแกนหมุนของโลก เงาของดวงอาทิตย์จะทอดไปเป็นวงกลมรอบๆ พื้นเอียงนี้ ไม่ว่าดวงอาทิตย์จะอยู่ในพิกัดใดๆ ก็ตามบนท้องฟ้า 
        เวลาที่นาฬิกาแดดบอกได้ ก็คือเวลาสุริยคติท้องถิ่น เช่น ณ เวลาสุริยคติท้องถิ่น 12.00 น. ดวงอาทิตย์ จะอยู่บริเวณเส้นเมอริเดียนพอดี และเงาของสัมราฏยันตระจะหดสั้นที่สุดและไม่ทอดลงบนฉากรับ แต่อย่างไรก็ตาม     เวลาบนนาฬิกาที่เราใช้นั้นเป็นเวลามาตรฐานประเทศไทย เป็นการเทียบเวลาสุริยคติท้องถิ่นเฉลี่ยที่เส้นลองจิจูด 105° (บริเวณจังหวัดอุบลราชธานี) และยังไม่ได้คำนึงถึงวงโคจรที่เป็นวงรีของโลกที่ทำให้เวลาสุริยคติ คลาดเคลื่อนกับเวลามาตรฐานบ้างเล็กน้อยตามรอบของปี

 cco solar time 1  cco solar time 2 


1.7 กำแพงภาพวาดดาราศาสตร์

cco wall 1

1.8 ลานดูดาวสำหรับจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ ลานดูดาวสำหรับจัดกิจกรรมสังเกตวัตถุท้องฟ้า หรือปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ต่างๆ ความจุประมาณ 1,500 คน

 cco building 5  star event 


1.9 ลานกางเต็นท์
 ลานกว้างสำหรับให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกางเต็นท์พักค้างแรม เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมค่ายดาราศาสตร์และ  กิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์

 cco building 6  cco building 7 

 

1.10 สวนพฤกษศาสตร์หอดูดาว หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออกจำกัด (มหาชน) จัดสร้างสวน  พฤกษศาสตร์บริเวณรอบหอดูดาว ทั้งสวนพฤกษศาสตร์พันธุ์พืชกินได้ และสวนพฤกษศาสตร์พันธุ์พืชทางศาสนา พร้อมระบบท่อส่งน้ำ ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิสันติธรรมมาธร เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติควบคู่ไปกับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

cco garden 2  cco garden 1