โครงสร้างหลักของหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา ได้แก่ อาคารนิทรรศการ อาคารหอดูดาวและอาคารสำนักงาน
อาคารนิทรรศการ : ภายในอาคารมีการจัดแสดง 14 ฐานนิทรรศการดาราศาสตร์แบบมีปฏิสัมพันธ์ มุ่งเน้นการเรียนรู้นิทรรศการผ่านประสบการณ์ของผู้เข้าชมเอง
" บริเวณนิทรรศการดาราศาสตร์ 14 ฐานกิจกรรม "
ตัวอาคารเชื่อมต่อไปยังส่วนฉายดาว ประกอบด้วยนิทรรศการดาราศาสตร์แบบหมุนเวียน ที่จัดแสดงเรื่องดาราศาสตร์ที่ใกล้ตัวและน่าสนใจ ปัจจุบันจัดแสดงเรื่องระบบสุริยะ ภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ฝีมือคนไทย และ 10 เรื่องปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าสนใจ ด้านในสุดของอาคารคือส่วนฉายดาว ติดตั้งโดมฉายดาว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เมตร พร้อมเครื่องฉายดาวระบบฟูลโดมดิจิทัล ความละเอียดมากกว่า 12 ล้านพิกเซล
" ภาพถ่ายภายในห้องฉายดาว "
อาคารหอดูดาว : เป็นอาคาร 2 ชั้น บริเวณด้านหน้าเป็นลานเปิดโล่งใช้สำหรับตั้งกล้องโทรทรรศน์ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้หรือเป็นลานสำหรับรองรับปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่มีผู้เข้าชมเป็นจำนวนมาก
ชั้นที่ 2 ของอาคารติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ความละเอียดสูง จำนวน 5 ตัว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 5 นิ้ว ถึง 14 นิ้ว คลุมด้วยหลังคาแบบเลื่อนเปิด - ปิด ด้านข้างเป็นลานโล่ง สำหรับรองรับผู้เข้าชมที่ขึ้นมาสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้าด้านบน ความจุประมาณ 200 คน
อีกด้านหนึ่งของอาคารหอดูดาวเป็นโดมไฟเบอร์กลาสทรงเปลือกหอย ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 18 ฟุต สามารถเปิดออกได้ 180 องศา สังเกตท้องฟ้าได้รอบทิศทาง ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน อันดับสามของประเทศ ถือเป็นกล้องโทรทรรศน์คุณภาพสูงทันสมัยที่สุดอีกแห่งในไทยที่ใช้สำหรับบริการประชาชนเป็นหลัก สามารถสังเกตวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจได้หลากหลาย อาทิ ดาวพฤหัสบดี (ดาวเคราะห์ใหญ่อันดับหนึ่งในระบบสุริยะ) ดาวเสาร์ (ดาวเคราะห์ที่มีวงแหวนใหญ่และสวยงามที่สุดในระบบสุริยะ) กาแล็กซี่แอนโครเมดา (กาแล็กซี่อื่นที่ใกล้กาแล็กซี่ทางช้างเผือกมากที่สุด) เนบิลานายพราน (เนบิวลาสว่างใหญ่) เป็นต้น
" หอดูดาวและกล้องโทรทรรศน์ 0.7 เมตร "
อาคารสำนักงาน : เป็นสถานที่ปฏิบัติงานของบุคลากรภายในหอดูดาวภูมิภาค