ถ่ายภาพสุริยุปราคาบางส่วนอย่างไร ให้ไม่ธรรมดา

สำหรับการถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนในประเทศไทย วันที่ 21 มิถุนายน 2563 นี้ สามารถเริ่มต้นถ่ายภาพปรากฏการณ์ตั้งแต่เวลา 13.00 ไปจนถึงเวลา 16.10 น. โดยประมาณ ซึ่งเปอร์เซ็นต์การถูกบังก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค โดยพื้นที่ทางภาคเหนือจะเห็นดวงอาทิตย์ถูกบังมากที่สุด ที่อำเภอแม่สาย จ.เชียงราย ร้อยละ 63 เปอร์เซ็นต์ เวลาประมาณ 14:49 น.

001ตัวอย่างรูปแบบการถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน

 

          ความน่าสนใจของปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนครั้งนี้ อาจเรียกว่าเป็นสุริยุปราคาส่งท้ายของประเทศไทยในช่วงนี้ ซึ่งหลังจากนี้ต้องรอไปอีกถึง 7 ปีเลยทีเดียว จึงจะเกิดขึ้นในประเทศไทยอีกครั้ง และนอกจากนั้นในวันดังกล่าวยังตรงกับวันครีษมายัน  (Summer Solstice) ซึ่งเป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนืออีกด้วย

 

ทำไมเราถึงไม่สามารถเห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาได้ทุกเดือน

          ดวงอาทิตย์มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่าดวงจันทร์​ 400 เท่า และอยู่ห่างจากโลกมากกว่าดวงจันทร์ 400 เท่า เราจึงมองเห็นดวงอาทิตย์และดวงจันทร์มีขนาดปรากฎเท่ากันพอดี สุริยุปราคาเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากดวงจันทร์โคจรผ่านหน้าดวงอาทิตย์ เราจึงมองเห็นดวงอาทิตย์ค่อยๆ แหว่งจากการถูกดวงจันทร์บดบัง นั่นเอง

          สุริยุปราคาจะเกิดขึ้นเฉพาะในวันแรม 14-15 ค่ำ แต่จะไม่เกิดขึ้นทุกเดือน เนื่องจากระนาบที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์และดวงจันทร์โคจรรอบโลกไม่ใช่ระนาบเดียวกัน โดยตัดกันเป็นมุม 5 องศา ดังนั้นในแต่ละปีจึงมีโอกาสเกิดสุริยุปราคาบนโลกได้อย่างน้อย 2 ครั้ง สูงสุดไม่เกิน 5 ครั้ง และเกิดไม่ซ้ำที่กัน เนื่องจากเงาของดวงจันทร์ที่ทาบไปบนพื้นผิวโลกครอบคลุมพื้นที่ขนาดเล็ก

002

         

หลากหลายไอเดีย การถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน

          สำหรับการถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาปกติเราคงเห็นภาพดวงอาทิตย์แหว่งกันจนชินตา สำหรับคอลัมน์นี้จึงอยากนำเสนอไอเดียการถ่ายภาพปรากฏการณ์ในหลายรูปแบบที่ทำให้ภาพสุริยุปราคาบางส่วนมีความน่าสนใจและแปลกตามากยิ่งขึ้น โดยได้รวบรวมภาพจากหลากหลายช่างภาพทั่วโลกที่มีการแชร์ในโลกออนไลน์ เพื่อจะได้ใช้เป็นแนวทางในการถ่ายภาพปรากฏการณ์ในครั้งนี้

 

การถ่ายภาพสุริยุปราคาบางส่วนเปรียบเทียบขนาดกับวัตถุที่ขอบฟ้า

 003

          สำหรับรูปแบบแรกของการถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคา เป็นการถ่ายภาพปรากฏการณ์เปรียบเทียบขนาดกับวัตถุที่ขอบฟ้า หรือวัตถุบนโลก ซึ่งส่วนตัวคิดว่าสุริยุปราคาบางส่วน หากสามารถถ่ายภาพแนวนี้ได้ก็จะทำให้ภาพสุริยุปราคาบางส่วนมีความน่าสนใจและสวยงามมากกว่าการถ่ายภาพแค่ดวงอาทิตย์ถึงบังแบบเดี่ยวๆ  ซึ่งการถ่ายภาพสุริยุปราคาโดยมีจุดสนใจแค่ดวงอาทิตย์นั้นน่าเหมาะกับสุริยุปราคาแบบเต็มดวงมากกว่า

          การถ่ายภาพลักษณะนี้ เราจะต้องวางแผนและสำรวจสถานที่ก่อนการถ่ายภาพปรากฏการณ์ล่วงหน้า นอกจากนั้นยังจำเป็นต้องเลือกใช้เลนส์แบบเทเลโฟโต้ เพื่อให้ได้ภาพดวงอาทิตย์ที่มีขนาดใหญ่รวมทั้งเลือกสถานที่หรือวัตถุที่ต้องการจะนำมาถ่ายเทียบกับดวงอาทิตย์ขณะเกิดปรากฏการณ์ ให้มีระยะห่างจากจุดที่เราจะถ่ายภาพหลายร้อยเมตรหรือมากกว่า เพื่อให้ภาพดวงอาทิตย์เทียบกับวัตถุให้ภาพออกมาดูใหญ่อลังการ ดังภาพตัวอย่างข้างต้น (สามารถอ่านรายละเอียดเทคนิคการถ่ายภาพเพิ่มเติมตามลิงก์ : https://mgronline.com/science/detail/9590000110921)

 

การถ่ายภาพสุริยุปราคาบางส่วนแบบซีรีย์

004

ตัวอย่างภาพถ่ายปรากฏการณ์สุริยุปราคาบาส่วน เหนือกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน Image : VCG Photo

          การถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาแบบซีรีย์ คือการถ่ายภาพตลอดช่วงเกิดปรากฏการณ์เริ่มตั้งแต่เกิดปรากฏการณ์ไปจนสิ้นสุดปรากฏการณ์แบบต่อเนื่อง ในครั้งนี้หากใครต้องการถ่ายภาพในรูปแบบนี้ แนะนำให้เริ่มถ่ายภาพก่อนเริ่มเกิดปรากฏการณ์เพื่อเช็คตำแหน่งแนวการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ ซึ่งสามารถใช้แอพพลิเคชั่น Photo Pills (ดาวน์โหลด : https://www.photopills.com/) ในการหาตำแหน่งและแนวการเคลื่อนที่ได้ และถ่ายภาพปรากฏการณ์โดยเว้นช่วงการถ่ายภาพทุกๆ 2-4 นาทีโดยประมาณ แล้วจึงนำเอาภาพทั้งหมดมาต่อกันในโปรแกรม Photoshop ภายหลัง

005

ตัวอย่างแอพพลิเคชั่น Photo Pills ในการหาตำแหน่งและแนวการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ สามารถดาวน์โหลด ได้ที่: https://www.photopills.com/

 

006

ภาพจำลองแสดงแนวการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ ขณะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคา วันที่ 21 มิถุนายน 2563 ตั้งแต่เวลา 13.00 – 16.00 น.

 

การถ่ายภาพสุริยุปราคาบางส่วนด้วยกล้องไฮโดรเจนแอลฟา

 007

ภาพถ่ายปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนในช่วงความยาวคลื่นของไฮโดรเจน-อัลฟา

ภาพโดย : ธนกฤต  สันติคุณาภรต์ / Camera : Nikon D810A / Lens : SolarMax II 90 Double Stack / Focal length : 800 mm. / Aperture : f/8.8 / ISO : 1000 / Exposure : 1/40 sec

         

          การถ่ายภาพปรากฏการณ์ด้วยกล้องโทรทรรศน์ในช่วงคลื่นไฮโดรเจน-อัลฟา เป็นอีกรูปแบบของการถ่ายภาพปรากฏการณ์ ภาพถ่ายในช่วงคลื่นนี้จะสามารถมองเห็นรายละเอียดของพื้นผิวดวงอาทิตย์ได้ชัดเจน และช่วยให้เห็นพวยก๊าซบนดวงอาทิตย์ (Prominence หรือ เปลวสุริยะ) ได้อีกด้วย

          ภาพถ่ายปรากฏการณ์ในช่วงคลื่นไฮโดรเจน-อัลฟา นอกจากจะเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งแล้ว ยังแสดงให้เห็นผิวดวงอาทิตย์ที่ไม่เรียบ มีความแปรปรวนสูง และมีก๊าซหมุนวนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณใกล้จุดบนดวงอาทิตย์จะสังเกตความแปรปรวนของก๊าซได้ชัดเจน

 

008

ตัวอย่างกล้องโทรทรรศน์ในช่วงคลื่นไฮโดรเจน-อัลฟา

 

สิ่งสำคัญสำหรับการถ่ายภาพและสังเกตการณ์สุริยุปราคา

สำหรับสิ่งที่สำคัญของการถ่ายภาพสุริยุปราคา นั้นจำเป็นต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะแสงอาทิตย์มีความเข้มแสงมาก หากพลาดอาจทำให้ตาเราบอดได้ ดังนั้นก่อนการถ่ายภาพหรือการใช้กล้องส่องดูนั้น ต้องมีอุปกรณ์กรองแสงอาทิตย์ที่ได้มาตรฐาน อย่างเช่น แผ่นกรองแสงอลูมิเนียมไมลาร์ (ทำให้เห็นดวงอาทิตย์เป็นสีขาว) แผ่นกรองแสงแบล็คพอลิเมอร์ (ทำให้มองเห็นดวงอาทิตย์เป็นสีส้มหรือสีเหลือง) แผ่นกรองแสง ND ความเข้ม 10 Stop แผ่นกรองแสงแบบกระจกเคลือบโลหะ กระจกบังตาเชื่อมโลหะเบอร์ 14 ขึ้นไป