โครงงานยุววิจัยดาราศาสตร์ ประจำปี 2567
ปัจจุบันนานาประเทศต่างยอมรับว่าดาราศาสตร์มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก ดาราศาสตร์สามารถดึงดูดผู้คนทุกเพศ ทุกวัยให้ชื่นชอบและหลงใหลในความสวยงามและความน่าอัศจรรย์ ดาราศาสตร์ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นศึกษาทำความเข้าใจเอกภพเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือผลักดันความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงในสาขาต่างๆ ประโยชน์ของดาราศาสตร์นอกจากจะทำให้เยาวชนมีความรู้ความเข้าใจในดาราศาสตร์มากขึ้นแล้ว ยังสามารถดึงดูดเยาวชนให้มีความสนใจใฝ่รู้ เสริมสร้างจินตนาการ และมีกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ในส่วนของประชาชนทั่วไปนอกจากความสวยงามของกลุ่มดาวต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็นบนท้องฟ้ายามค่ำคืนแล้ว ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ยังสร้างความตระหนักและความตื่นตัวทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เสริมสร้างบรรยากาศ และส่งเสริมให้เกิดสังคมการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะที่เป็นหน่วยงานด้านดาราศาสตร์และพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องของประเทศ เล็งเห็นถึงความสำคัญการพัฒนาเยาวชนที่จะเป็นอนาคตชาติ โดยให้เยาวชนได้สัมผัสกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย นวัตกรรม และโครงฐานพื้นฐานของ สดร. มากยิ่งขึ้น จึงกำหนดจัดกิจกรรม Research-base outreach หรือ โครงการยุววิจัยดาราศาสตร์ สนับสนุนให้นักเรียนระดับมัธยมทำโครงงานดาราศาสตร์ ฝึกทักษะและประสบการณ์ทำงานวิจัยดาราศาสตร์ร่วมกับนักดาราศาสตร์ของ สดร. เสมือนเป็นนักดาราศาสตร์รุ่นเยาว์ ส่งเสริมกระบวนการความคิดทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การตั้งคำถามทางวิทยาศาสตร์ การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การสรุปผล รวมถึงการนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย (สำหรับเยาวชน)
วัตถุประสงค์ของโครงการ
- เพื่อให้นักเรียน มีกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์และฝึกทักษะในการสังเกตการณ์และวิเคราะห์ข้อมูลเสมือนจริง
- สร้างผลงานวิจัยดาราศาสตร์ให้เป็นมาตรฐานงานวิจัยระดับโรงเรียน
- เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนมีประสบการณ์การทำงานวิจัยดาราศาสตร์ร่วมกับนักดาราศาสตร์
- เพื่อยกระดับงานวิจัยดาราศาสตร์ระดับโรงเรียนให้มีคุณภาพ
กลุ่มเป้าหมาย
นักเรียนระดับมัธยมปลาย จำนวน 20 คน ที่สนใจศึกษางานวิจัยหรือทำโครงงานด้านดาราศาสตร์ร่วมกับนักดาราศาสตร์ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ขอบเขตเนื้อหาในการอบรม
โครงการยุววิจัยดาราศาสตร์ ประจำปี 2567 แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่
ช่วงที่ 1 : อบรมยุววิจัยดาราศาสตร์
สำหรับการอบรมจะเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้พื้นฐานและการวางแผนการศึกษาโครงงานดาราศาสตร์ ได้ปรึกษาการศึกษาโครงงานดาราศาสตร์ที่สนใจร่วมกับนักวิจัยด้านต่างๆ โดยก่อนจบการอบรม นักเรียนที่เข้าร่วมจะต้องนำเสนอหัวข้อโครงงานที่สนใจ 1 โครงงานโดยจะมีนักวิจัยของ สดร. เป็นที่ปรึกษาโครงงานตลอดระยะเวลาที่ศึกษาโครงงาน และแผนการศึกษาโครงงานหลังจากการอบรม
โดยมี Key Science หลัก ดังนี้
Exoplanets and Life beyond solar system
Space Weather and Earth’s Climate and Near-Earth Objects
Stellar Astrophysics
Cosmology and High Energy Astrophysics
Radio Astronomy and Technology
หมายเหตุ : นอกจาก Key Science ข้างต้น ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับการสังเกตการณ์ปรากฏการณ์และโครงงานดาราศาสตร์อย่างง่าย
ช่วงที่ 2 : นำเสนอโครงงานดาราศาสตร์ รูปแบบออนไลน์
สำหรับช่วงที่ 2 เป็นการนำเสนอโครงงานดาราศาสตร์ นักเรียนที่เข้าร่วมอบรมในช่วงที่ 1 จะต้องศึกษาโครงงาน 1 โครงงานและนำผลการศึกษาโครงงานที่ได้มานำเสนอในช่วงที่ 2 นี้ ซึ่งอาจมีการซักถามในประเด็นที่สนใจจากนักวิจัยและเจ้าหน้าที่ของสถาบันฯ ร่วมถึงให้คำแนะนำในการทำโครงงานต่อไป
ข้อผูกพันธ์ระหว่างการเข้าร่วมอบรม
นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกเพื่อเข้าร่วมโครงการยุววิจัยดาราศาสตร์ จะมีข้อผูกพันระหว่างการเข้าร่วมอบรม และมีข้อควรปฏิบัติ ดังนี้
- นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ฯ ต้องศึกษาโครงงาน 1 โครงงาน และสามารถเข้าร่วมโครงการได้ตลอดทั้งปี โดยต้องเข้าร่วมการอบรมและการนำเสนอผลการศึกษาโครงงาน
- นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ฯ ต้องส่งผลงานเข้าร่วมการประชุมวิชาการดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย (สำหรับเยาวชน) (TACs) ครั้งที่ 10
หมายเหตุ :
- นักเรียนที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ ฯ สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนเอกสาร และวัสดุประกอบการอบรม ยกเว้น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากภูมิลำเนามายัง สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ จ.เชียงใหม่ โดยให้ผู้เข้าร่วมอบรมจะต้องได้รับความเห็นชอบในการสนับสนุนและเบิกจ่ายจากต้นสังกัด (ในกรณีหากต้องเดินทาง)
- ครูที่ปรึกษาสามารถเดินทางเข้าร่วมอบรมได้ แต่จะไม่ได้รับการสนับสนุนค่าอาหาร ค่าที่พักและค่าเดินทางระหว่างอบรม
- ทางสถาบันฯ จะดูแลค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างการฝึกอบรม
- นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของกิจกรรมอบรม ทางเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ https://www.narit.or.th/index.php/student/sapw (โครงการยุววิจัยดาราศาสตร์) หรือโทร 053121269 ต่อ 302
- กำหนดการและสถานที่ในการเข้ารับการอบรมจะมีการเปลี่ยนแปลง และจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งในภายหลัง