คอลัมน์นี้ขอนำเสนอมุมมองและเกณฑ์ในการตัดสินภาพถ่ายดาราศาสตร์ เพื่อที่ปีถัดๆไป นักถ่ายภาพจะได้นำเอาไปปรับใช้กับการถ่ายภาพเพื่อให้ชนะใจกรรมการกันครับ โดยคณะกรรมการตัดสินภาพถ่ายประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพ นักถ่ายภาพดาราศาสตร์ระดับแนวหน้าของเมืองไทย นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปรากฏการณ์ในชั้นบรรยากาศโลก เป็นต้น ในการพิจารณาคณะกรรมการแต่ละท่านต่างก็จะมีมุมมองในด้านต่างๆ และนำเอาผลการพิจารณามารวมกันออกมาเป็นคะแนนของภาพถ่ายแต่ละภาพนั่นเองครับ
ในการจัดประกวดภาพถ่ายครั้งนี้ ถือเป็นปีที่ 13 มีจำนวนภาพถ่ายส่งเข้ามาร่วมประกวดมากถึง 851 ภาพ โดยแต่ละภาพก็ล้วนแต่เป็นภาพที่สวยงามและมีคุณภาพ ซึ่งคณะกรรมการต้องใช้เวลาในการพิจารณาคัดเลือกภาพกันเป็นเวลานานมาก กว่าจะได้มาแต่ละภาพ ต้องโหวตคะแนนแต่ละด้านของภาพถ่ายเพื่อให้ได้ภาพที่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการจัดประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์มากที่สุด
จากภาพถ่ายดาราศาสตร์ทั้ง 5 ประเภท ประกอบด้วย วัตถุในห้วงอวกาศลึก (Deep Sky Objects) ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ วัตถุในระบบสุริยะ วิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ และปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก ผมจะขอสรุปเกี่ยวกับการพิจารณาในแต่ละด้านของภาพถ่ายจะต้องประกอบคุณลักษณะต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางการถ่ายภาพในปีต่อไป ดังนี้
- ความสวยงามของภาพ เช่น ความสวยงามของภาพ วัตถุท้องฟ้า สีสันของภาพถ่าย ความโดดเด่นของภาพถ่าย
- องค์ประกอบภาพ เช่น การจัดวางตำแหน่งของวัตถุท้องฟ้า หรือภาพปรากฏการณ์ เพื่อให้ภาพถ่ายดูน่าสนใจที่สุด
- รายละเอียดของภาพ เช่น รายละเอียดของฝุ่นแก๊สของวัตถุท้องฟ้า หรือรายละเอียดต่างๆ ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้เวลาในการถ่ายภาพอันยาวนาน รวมทั้งรายละเอียดต่างๆ ของปรากฏการที่สามารถ่ายภาพมาได้อย่างครบถ้วน
- คุณภาพของภาพถ่าย เช่น ภาพมีความคมชัดสูง ภาพไม่แตก ไม่เกิดการเหลื่อมสีของภาพ และมีขนาดภาพที่ใหญ่พอจะสามารถนำไปใช้ขยายภาพได้
- การสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ เช่น เป็นภาพที่สามารถนำไปใช้ในการบรรยายหรืออธิบายปรากฏการณ์สื่อสารทางวิทยาศาสตร์ได้
- ความแปลกใหม่ เช่น ภาพปรากฏการณ์ใหม่ๆ ภาพวัตถุท้องฟ้าที่ยังไม่เคยมีใครส่งประกวด หรือภาพวัตถุท้องฟ้าที่ใช้เทคนิคการถ่ายภาพที่แปลกใหม่แต่มีความถูกต้องตามหลักการทางดาราศาสตร์ ดังนั้น ภาพบางภาพที่เคยมีผู้ส่งประกวดและได้รางวัลในปีก่อนๆ ก็อาจทำให้ได้คะแนนสู้ภาพที่ยังไม่เคยมีใครถ่ายภาพมาก่อนได้เช่นกัน
- ความยากง่ายในการถ่ายภาพ เช่น วัตถุที่ถ่ายได้ยากก็อาจทำให้ได้คะแนนมากขึ้น หรือปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง หรือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาสั้นๆ ที่ยากต่อการถ่ายภาพ
- เทคนิคการประมวลผลภาพถ่าย เช่น การจัดการสัญญาณรบกวน (Noise) ได้ดีมากน้อยแค่ไหน หรือการโปรเซสภาพที่ดีเหมาะสม ไม่ดึงรายละเอียดมากจนทำให้คุณภาพลดลง
ตัวอย่างภาพถ่ายที่ได้รางวัลชนะเลิศ แต่ละประเภท
ประเภท Deep Sky Object
ชื่อภาพ : NGC 3521 Spiral Galaxy / ผู้ถ่าย : Michael Selby
วันที่ถ่ายภาพ : 26 มีนาคม 2563 / สถานที่ : Obstech, Chile
อุปกรณ์ถ่ายภาพ : Officina Stellare RiDK 500
เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : L 12 hours 900s exp, RGB 5 hours each 600 s bin 2, Ha 6 hours 1200s exp
ความยาวโฟกัส : 3500mm / ขนาดรูรับแสง : F7 / ความไวแสง : -
เทคนิคการถ่ายภาพ : Guided system, processing Pixinsight, Ha blended to RGB
ประเภทปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์
ชื่อภาพ : ความงามที่ลงตัว / ผู้ถ่าย : นายทศพร สหกูล
วันที่ถ่ายภาพ : 26 ธันวาคม 2562 / เวลา : 11.58 น. / สถานที่ : วัดศรีสวาย อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
อุปกรณ์ถ่ายภาพ : ดิจิตอล DSLR
เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : 1/80 / ความยาวโฟกัส : 15 mm / ขนาดรูรับแสง : F7.1 / ความไวแสง: 100
เทคนิคการถ่ายภาพ : เลือกใช้เลนส์ ฟิชอายเพื่อให้ได้พื้นที่ครอบคลุมโบราณสถาน และเงาของพระอาทิตย์ที่เกิดสุริยุปราคา
ประเภทวัตถุในระบบสุริยะ
ชื่อภาพ : C/2020 F3 (NEOWISE) / ผู้ถ่าย : วชิระ โธมัส
วันที่ถ่ายภาพ : 24 ก.ค. 63 / เวลา : 20.00น / สถานที่ถ่ายภาพ : อ.สูงเม่น จ.แพร่
อุปกรณ์ถ่ายภาพ : กล้องดิจิตอล Nikon D750
เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : 60วินาที x 45 ภาพ - เวลารวม 45นาที / ความยาวโฟกัส : 250 มม.
ขนาดรูรับแสง : F4.9 / ความไวแสง : 800
เทคนิคการถ่ายภาพ
1. หาตำแหน่ง พื้นที่ ที่มีความืดมากๆ เพื่อให้สามารถจับแสงภาพดาวหางและส่วนประกอบได้ชัด
2. ตั้งกล้องบนบอร์เตอร์ตามดาว เพื่อให้สามารถเปิดหน้ากล้องได้นานและเก็บสัญญาณภาพมาให้ได้ชัด
3. สามารถถ่ายมาได้ 45นาที ก่อนที่ดาวหางจะตกลับขอบฟ้า
4. รวมภาพที่ได้มาด้วยโปรแกรม Deep Sky Stacker
5. ตกแต่งเพิ่มเติมด้วยโปรแกรม Adobe Photoshop
ประเภทวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์
ชื่อภาพ : แสงดาว ที่เสาดิน ดินแดนมหัศจรรย์ ตาพระยา ไทยแลนด์ / ผู้ถ่าย : นายวรวิทย์ จุลศิลป์
วันที่ถ่ายภาพ : 24 กุมภาพันธ์ 2563 / เวลา : 18.47 - 03.16 น. / สถานที่ถ่ายภาพ : ละลุ อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว
อุปกรณ์ถ่ายภาพ : Camera Canon EOS R, Lens Canon 16-35 F2.8L II
เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : 30 วินาที จำนวน 962 ใบ 8 ชั่วโมง 29 นาที / ความยาวโฟกัส : 16mm
ขนาดรูรับแสง : F3.2 / ความไวแสง : 400
เทคนิคการถ่ายภาพ : ใช้แอป SkySafari หาตําแหน่งของดาวเหนือ ใช้เลนส์มุมกว้างตั้งกล้องไปใกล้ๆกับเสาดิน เริ่มถ่าย เวลา 18.47 เพื่อเก็บแสงฉากหน้า และถ่ายต่อเนื่องไปเรื่อยๆ โดยตั้ง Interval 1วินาที ขั้นตอน Process ตรวจลบเส้นแสงไฟจากเครื่องบิน เพื่อให้ภาพมีแต่เส้นแสงดาวอย่างเดียว ต่อมารวมแสงดาวทั้งหมด 962 ใบ แล้วใช้เทคนิค Luminosity Mask เลือกฉากหน้าใบแรก ทั้งหมดทำในโปรแกรม Photoshop
ประเภทปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก
ชื่อภาพ : Blue Jet / ผู้ถ่าย : นายสุภฉัตร วรงค์สุรัติ
วันที่ถ่ายภาพ : 5 กันยายน 2562 / สถานที่ถ่ายภาพ : บนห้องนักบิน เหนืออ่าวเบงกอล เวลาประมาณตี 2
อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพ : กล้อง Digital Sony A9
เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : 2sec / ความยาวโฟกัส : 24mm fix / ขนาดรูรับแสง : f1.4 / ความไวแสง : 2000
เทคนิคการถ่ายภาพ : Manual focus at infinity วางกล้องไว้กับ console เครื่องบิน ใช้ mode continues shooting เพื่อเก็บภาพตอน cell active ครับ แสงของ Bluejet พุ่งออกมาไม่น่าจะถึง 1 วินาที แต่พุ่งขึ้นมาสูงและมีความแรงจนสามารถเห็นได้ไกลมาก ระยะที่ผมเห็นตอนแรกคือประมาณ 60 nm.
จากทั้ง 8 เกณฑ์การพิจารณานี้ ถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการคัดเลือกภาพถ่ายดาราศาสตร์ ซึ่งหากดูจากเทคนิคของการถ่ายภาพแต่ละคนแล้ว ต้องบอกว่าผู้ที่ได้รางวัลชนะเลิศนั้นล้วนแล้วแต่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการถ่ายภาพ วัตถุท้องฟ้า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และเทคนิคการถ่ายภาพและประมวลผลภาพ เพื่อให้ได้ภาพถ่ายออกมาได้อย่างสวยงามและมีคุณภาพ
นอกจากนั้นในปีนี้ก็เป็นที่น่าดีใจที่มีนักถ่ายภาพดาราศาสตร์สมัครเล่นหน้าใหม่น่าจับตาเพิ่มขึ้นจากปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด ผลงานมีความโดดเด่น การใช้เทคนิคที่หลากหลาย รวมทั้งความพยายามและอดทนในการถ่ายภาพ ซึ่งแต่ละภาพต้องอาศัยทักษะความรู้ทั้งด้านการถ่ายภาพ เทคนิคการประมวลผลภาพ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ด้านดาราศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจวัตถุท้องฟ้าและปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ต่าง ๆ อีกด้วย