เกร็ดความรู้สำหรับ “กูรูถ่ายภาพดาวอังคาร”

ในเดือนตุลาคมนี้ ดาวอังคารจะโคจรมาใกล้โลกทุกๆประมาณ 2 ปี 2 เดือน อยากชวนคนรักดวงดาวมาติดตามถ่ายภาพดาวอังคารกัน โดยในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ถือเป็นช่วงที่เหมาะสมในการสังเกตการณ์ดาวอังคารมากที่สุด เนื่องจากในวันที่ 6 ตุลาคม 2563 ดาวอังคารจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุด ที่ระยะทางประมาณ 62 ล้านกิโลเมตร จากนั้นจะโคจรมาอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ที่ระยะห่างประมาณ 62.7 ล้านกิโลเมตร (ช่วงปกติห่างจากโลกเฉลี่ย 78 ล้านกิโลเมตร)

001

ภาพถ่ายดาวอังคาร บันทึกโดยกล้องโทรทรรศน์ควบคุมอัตโนมัติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.4 เมตร ณ หอดูดาวภูมิภาค สงขลา เมื่อ 24 ก.ย. 63 (ROP-SKA / CFF Telescope / ASI290) ภาพโดย : ธนกฤต  สันติคุณาภรณ์

 

          ในช่วงตุลาคมนี้ จะสามารถสังเกตดาวอังคารได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันออก ดาวอังคารจะสุกสว่างสีส้มแดง บริเวณกลุ่มดาวปลาคู่ (Pisces) เห็นด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน หากใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางหน้ากล้องตั้งแต่ 10 นิ้ว และมีกำลังขยายตั้งแต่ 100 เท่าขึ้นไป โดยความพิเศษในช่วงดาวอังคารใกล้โลก เราจะมีโอกาสได้เห็นรายละเอียดพื้นผิวและขั้วน้ำแข็งของดาวอังคารได้อีกด้วย

 

002

ภาพเปรียบเทียบขนาดปรากฏของดางอังคารในช่วงปี พ.ศ. 2561 ในเดือนพฤษภาคมกับช่วงเข้าใกล้โลกในเดือนกรกฎาคม และมีขนาดเล็กลงในเดือนตุลาคม ซึ่งแสดงให้เห็นขนาดปรากฏการณ์เมื่อเข้าใกล้โลกอย่างชัดเจน ภาพโดย : NASA

 

สิ่งที่ควรทำความเข้าใจสำหรับนักถ่ายภาพดาวเคราะห์

          ในการถ่ายภาพดาวเคราะห์ นั้น เราจำเป็นต้องถ่ายภาพกล้องโทรทรรศน์ที่มีทางยาวโฟกัสสูงๆ เนื่องจากดาวเคราะห์นั้นมีขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับการถ่ายภาพพวกกาแล็กซี หรือเนบิวลา และควรบันทึกภาพด้วยกล้องเว็บแคม (WebCam) หรือกล้องถ่ายภาพที่มีขนาดของเซ็นเซอร์เล็ก ซึ่งส่งผลต่อขนาดของภาพแล้ว ยังมีรายละเอียดต่างๆ ที่นักถ่ายภาพดาวเคราะห์ควรคำนึงถึงดังนี้

 

003

 

          ความยาวโฟกัส กล้องโทรทรรศน์หรือเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสมาก ก็จะมีกำลังขยายมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งส่งผลต่อภาพดาวเคราะห์ที่จะมีขนาดใหญ่ตามมาด้วย นอกจากนี้ความยาวโฟกัส ยังสามารถนำไปคำนวณขนาดของวัตถุท้องฟ้า หรือขนาดภาพ  ที่จะเกิดขึ้นจริงบนอุปกรณ์ถ่ายภาพ หรือ CCD ดาราศาสตร์ได้อีกด้วย

          ขนาดหน้ากล้อง เปรียบได้กับพื้นที่รับแสงของวัตถุท้องฟ้า ยิ่งกล้องโทรทรรศน์หรือเลนส์ มีขนาดใหญ่เท่าไรความสามารถในการรับแสงก็จะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น รวมทั้งส่งผลโดยตรงกับระยะเวลาในการถ่ายภาพก็จะน้อยลง ตามไปด้วย

          Frame rate หรือจำนวนภาพต่อวินาที ยิ่งอุปกรณ์มีจำนวน frame rate มากเท่าไหร่ เราก็จะได้จำนวนภาพที่มากขึ้นเท่านั้น และส่งผลดีต่อการนำภาพไปประมวลผลภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการประมวลผล เราจะคัดเลือกภาพถ่ายที่ดีที่สุดมาใช้ในการประมวลผล ดังนั้นหากมีจำนวนภาพถ่ายมากก็จะมีตัวเลือกมากขึ้น ตัวอย่างเช่น  หากถ่ายภาพได้ 2,000 เฟรม ก็อาจเลือกเฉพาะเฟรมที่ดีที่สุดแค่ 1,000 เฟรมเท่านั้นเพื่อนำมาใช้ในการประมวลผล ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถของอุปกรณ์บันทึกภาพ

ระยะเวลาการเปิดหน้ากล้อง ดาวอังคารมีความเร็วในการหมุนรอบตัวเองโดยใช้เวลา 24 ชั่วโมง 37 นาที ในการหมุนรอบตัวเอง 1 รอบ ดังนั้นควรใช้เวลาในการถ่ายภาพไม่เกิน 4 นาที เนื่องจากดาวอังคารมีขนาดค่อนข้างเล็ก และหมุนช้ากว่าดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ จึงสามารถใช้เวลาในการถ่ายได้มากกว่า และใช้กำลังขยายไม่ต่ำกว่า 50 เท่า ของขนาดหน้ากล้องโทรทรรศน์

          ตำแหน่งดาวเคราะห์ แนะนำให้เริ่มถ่ายดาวเคราะห์ในตำแหน่งที่ดาวเคราะห์อยู่ในมุมเงยที่สูงที่สุด เพื่อหลีกหนีปัญหาของมวลอากาศที่หนาแน่นบริเวณขอบฟ้า ซึ่งมักทำให้เกิดภาพที่สั่นไหว

การควบคุมอุณหภูมิสถานที่ถ่ายภาพ ควรควบคุมอุณหภูมิของสถานที่ถ่ายภาพโดยรอบให้มีอุณภูมิต่ำ(ไม่ร้อน) โดยอาจใช้น้ำราดพื้นบริเวณที่กล้องถ่ายภาพติดตั้งอยู่เพื่อป้องกันไม่ให้มวลอากาศร้อนไหลผ่านหน้ากล้องโทรทรรศน์ ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพของภาพถ่ายได้เช่นกัน

แผนภาพดาวอังคารแสดงส่วนต่างๆ ของพื้นผิวดาวอังคาร

 004

 แผนภาพดาวอังคารแสดงรายละเอียดต่างๆ ของดาวอังคารทั้งขั้วเหนือ / ขั้วใต้ ภูเขาไฟโอลิมปัส และพื้นผิวบนดาวอังคาร

 

ข่าวลือภาพในสังคมออนไลน์ 'ดาวอังคารใกล้โลก และใหญ่เท่าดวงจันทร์' เป็นไปไม่ได้อย่าหลงเชื่อ!

 005

 

          นอกจากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการถ่ายภาพดาวอังคารแล้ว นักถ่ายภาพควรทราบเกี่ยวกับเกร็ดความรู้ เกี่ยวกับข่างลือ ที่มักจะเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ เกือบทุกๆ ปีเช่นกันครับ

โดยข่าวลือ”ดาวอังคารใกล้โลก และใหญ่เท่าดวงจันทร์” เป็นข้อมูลที่ถูกบิดเบือนจากความจริงที่ว่า ดาวอังคารจะใกล้โลกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นผลให้มองเห็นดาวอังคารมีขนาดเท่าดวงจันทร์ เมื่อดูด้วยกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายเพียง 75 เท่า จนกลายเป็นข้อความชวนตื่นเต้นว่า จะมีโอกาสเห็นดาวอังคารใหญ่เท่าดวงจันทร์ หรือ ดาวอังคารจะมีขนาดใหญ่ราวกับเห็นดวงจันทร์สองดวงบนท้องฟ้า

          โดยดาวอังคารไม่เคยและไม่มีวันที่จะเข้าใกล้โลกจนมีขนาดปรากฏใหญ่เท่ากับดวงจันทร์ได้เลย เนื่องจากดาวอังคารมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 6,792 กิโลเมตร ห่างจากโลกเฉลี่ย 78,270,000 กิโลเมตร ขณะที่ดวงจันทร์มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3,476 กิโลเมตร ห่างจากโลกเฉลี่ย 384,400 กิโลเมตร แม้ดาวอังคารจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่าดวงจันทร์ แต่เพราะโคจรอยู่ห่างจากโลกในระยะทางที่ไกลมาก การสังเกตดาวอังคารด้วยตาเปล่าจึงมองเห็นเป็นจุดสว่างเล็กๆ บนท้องฟ้าเท่านั้น ต่างจากดวงจันทร์ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า แต่โคจรอยู่ใกล้โลกมากกว่า จึงมองเห็นดวงจันทร์ด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน และมีขนาดใหญ่มาก การที่ดาวอังคารจะมีขนาดปรากฏบนท้องฟ้าใหญ่เท่าดวงจันทร์จึงไม่มีทางเป็นไปได้เลย

          อย่างไรก็ตาม ดาวอังคารจะมีขนาดปรากฏบนท้องฟ้าใหญ่เท่าดวงจันทร์ได้ ก็ต่อเมื่ออยู่ห่างจากโลกเพียง 780,000 กิโลเมตร หรือไกลกว่าดวงจันทร์ประมาณ 2 เท่า ซึ่งไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย เพราะตามปกติแล้วดาวอังคารจะโคจรมาใกล้โลกทุกๆ 2 ปี 2 เดือน (26 เดือน) ซึ่งดาวอังคารจะโคจรเข้ามาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ (opposition) เป็นตำแหน่งที่ดาวอังคาร โลก และดวงอาทิตย์ เรียงอยู่ในเส้นตรงเดียวกันโดยมีโลกอยู่ตรงกลาง ดาวอังคารเคยเข้าใกล้โลกมากที่สุดเมื่อวันที่ 27 ส.ค.46 ขณะนั้นอยู่ห่างจากโลกที่ระยะห่างประมาณ 56 ล้านกิโลเมตร