สำหรับคอลัมน์นี้ขอนำเสนอไอเดียการถ่ายภาพดวงจันทร์กันสักหน่อยครับ เผื่อใครที่เริ่มเบื่อการถ่ายภาพทางช้างเผือก นี่เป็นอีกทางเลือกของการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ เลยอยากชวนมาขยันเก็บภาพดวงจันทร์ เป็นคอลเลคชั่นไว้ใช้ในปีหน้ากันครับ เพราะในปีหน้า 2019 ที่จะมาถึงนี้ นักดาราศาสตร์เราถือให้เป็นปีแห่งการฉลองครบรอบ 50 ปี ของการไปเหยียบดวงจันทร์ของ นีล อาร์มสตรอง และ เอ็ดวิน บัซ อัลดริน ด้วยยานอพอลโล 11 ที่ไปถึงพื้นผิวดวงจันทร์เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ปี 1969
ดังนั้น หากใครเริ่มเก็บภาพถ่ายดวงจันทร์ไว้หลายหลายรูปแบบ ไม่แน่เราอาจจัดกิจกรรมประกวดภาพถ่ายดวงจันทร์กันก็ได้ แต่หากใครยังนึกไอเดียไม่ออก คอลัมน์นี้จะแนะนำการถ่ายภาพดวงจันทร์ ในรูปแบบต่างๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการถ่ายภาพกันได้ครับ
ดวงจันทร์สี (The Color of the Moon)
ตัวอย่างภาพถ่ายดวงจันทร์สี โดยการถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงจำนวน 22 ภาพแบบต่อเนื่อง แล้วนำภาพทั้งหมดมา Stack Image ด้วยโปรแกรม RegiStax6 และสุดท้ายนำภาพมาปรับเร่งความอิ่มสี
(ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens :Takahashi TOA 150 / Focal length : 1100 mm. / Aperture : f/7.3 / ISO : 100 / Exposure : 1/400s x 20 Images)
เทคนิคการถ่ายภาพดวงจันทร์สี ถ้าเป็นการถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงจะดีที่สุด หรือช่วงที่ดวงจันทร์มีความสว่างมากๆ สิ่งสำคัญคือ ควรเป็นช่วงที่สภาพท้องฟ้าใสเคลียร์ และถ่ายภาพดวงจันทร์ในมุมเงยที่สูงที่สุด เนื่องจากตำแหน่งที่ดวงจันทร์อยู่สูง จะสามารถหลีกหนีอุปสรรคของมวลอากาศที่หนาแน่นบริเวณขอบฟ้าได้ดี จากนั้นให้ถ่ายภาพแบบต่อเนื่องหลายๆภาพ เพื่อนำภาพมารวมกันเพื่อให้ได้ภาพที่มีรายละเอียดสูงสุด แล้วนำภาพทั้งหมดมา Stack Image ในซอฟต์แวร์ RegiStax หรือในโปรแกรม Photoshop
หลังจากได้ภาพที่ผ่านกระบวนการ Stack Image เพื่อให้มีความละเอียดสูงแล้ว นำภาพไปมาปรับเร่งความอิ่มสีของภาพขึ้น ทำให้เห็นสีต่างๆ บนผิวดวงจันทร์ “โดยแต่ละสีนั้นจะบ่งบอกถึงธาตุองค์ประกอบที่ต่างกัน ซึ่งสามารถนำไปศึกษาองค์ประกอบบนผิวดวงจันทร์ได้” ภาพที่ได้จะเป็นประโยชน์กับนักวิทยาศาสตร์เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิง และทำการศึกษาสำรวจพื้นผิวของดวงจันทร์ในอนาคตได้
ถ่ายภาพดวงจันทร์แบบภาพลวงตา Moon Illusion
ภาพถ่าย Moon Illusion โดยการถ่ายดวงจันทร์เปรียบเทียบกับวัดพระธาตุดอยสุเทพ
(ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 7D / Lens : Astrotech 5 Inch / Focal length : 1,200 mm. / Aperture : f/8 / ISO : 800 / Exposure : 1/800s)
สำหรับการถ่ายภาพ Moon Illusion หรือภาพลวงตานั้น ก็คือการถ่ายภาพดวงจันทร์ในบริเวณที่อยู่ใกล้กับขอบฟ้า หรือใกล้กับวัตถุ ไม่ว่าจะเป็น ต้นไม้ คน อาคาร หรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ ปกติดวงจันทร์เมื่อมองด้วยตาเปล่าจะมีขนาดปรากฏเชิงมุมเพียง 0.5 องศา (เหยียดแขนให้สุด ใช้นิ้วก้อยวัดขนาดเท่ากับ ครึ่งนิ้วก้อย) ดังนั้นหากต้องการถ่ายภาพเปรียบเทียบกับวัตถุบนโลก ก็ต้องให้วัตถุดังกล่าวมีระยะห่างจากจุดถ่ายภาพไกลพอที่จะทำให้มองเห็นวัตถุนั้นๆ มีขนาดใกล้เคียงกับขนาดปรากฏเชิงมุมเพียง 0.5 องศาเช่นกัน นอกจากการหาสถานที่ที่เหมาะสมแล้ว การเลือกใช้เลนส์เทเลโฟโต้ และการเลือกโฟกัสที่ฉากหน้าหรือตัววัตถุที่ต้องการถ่ายภาพเพื่อเปรียบเทียบกับขนาดของดวงจันทร์ก็เป็นอีกสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ (โดยสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมตามลิงก์ : https://goo.gl/oihGyj)
ภาพถ่ายสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ผ่านหน้าดวงจันทร์
ภาพถ่ายสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ผ่านหน้าดวงจันทร์ เหนือท้องฟ้าจังหวัดเชียงใหม่
(ภาพโดย : สิทธิพร เดือนตะคุ / Camera : Nikon D750 / Lens : Vixen VMC200L / Focal length : 1950 mm. / Aperture : f/9.5 / ISO : 800 / Video mode)
การถ่ายภาพสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ผ่านหน้าดวงจันทร์นั้น เราอาจเรียกง่ายๆว่า "ISS TRANSIT" โดยสามารถใช้เว็ปไซต์http://transit-finder.com/ ในการกำหนดสถานที่ เพื่อตรวจสอบ วัน/เวลา/สถานที่ ที่จะสามารถสังเกตเห็นสถานีอวกาศ ISS ผ่านหน้าดวงจันทร์ได้ (อ่านรายละเอียดตามลิงก์ : https://goo.gl/JqcdvW)
สำหรับเทคนิคในการถ่ายภาพก็คล้ายกับการถ่ายภาพดวงจันทร์เหมือนปกติ แต่ที่แตกต่างคือจากที่เคยถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์แบบต่ำๆ ก็ต้องเปลี่ยนมาใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงๆแทน และค่าความไวแสงก็ต้องเพิ่มขึ้นด้วยนั่นเอง เพื่อให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงมากพอที่จะจับภาพ ISS ไว้ได้โดยที่ไม่เบลอ หรืออีกวิธีที่นิยมที่สุด คือการถ่ายเป็นวีดีโอแล้วค่อยนำภาพมาแคปเจอร์ภายหลัง เนื่องจากขณะที่สถานีอวกาศ ISS ผ่านมันจะเร็วมากเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้น
ถ่ายภาพดวงจันทร์ที่กลมสมบูรณ์ที่สุด
ภาพถ่ายดวงจันทร์เต็มดวงในช่วงหลังเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา
(ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon1DX / Lens : Takahashi TOA 150 + Extender 1.5X / Focal length : 1650 mm. / Aperture : f/11 / ISO : 250 / Exposure : 1/640 sec)
ภาพตัวอย่างเป็นภาพดวงจันทร์เต็มดวงที่มีความกลมสมบูรณ์มากกว่าช่วงเต็มดวงปกติทั่วไป โดยภาพนี้ต้องสังเกตบริเวณขอบโดยรอบของดวงจันทร์ที่จะมีแสงสม่ำเสมอ เนื่องจากเป็นเทคนิคการถ่ายภาพในช่วงก่อนหรือหลังการเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง เนื่องจากในการเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงตำแหน่งของดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ จะมาเรียงในแนวเดียวกัน ดังนั้นแนวของแสงที่ไปตกกระทบผิวของดวงจันทร์ในช่วงดังกล่าวก็ จะเป็นแสงในแนวที่ค่อนข้างตรงทำให้พื้นผิวของดวงจันทร์ได้รับแสงที่สม่ำเสมอทั่วกันทั้งดวง ทำให้เราสามารถได้ภาพดวงจันทร์ที่กลมสม่ำเสมอที่สุด
ถ่ายภาพดวงจันทร์ให้ได้ขนาดใหญ่ที่สุด
ภาพถ่ายดวงจันทร์เต็มดวง ในช่วงเวลาเที่ยงคืน โดยตำแหน่งของดวงจันทร์อยู่บริเวณกลางท้องฟ้า
(ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Takahashi TOA 150 + Extender 1.5X / Focal length : 1650 mm. / Aperture : f/11 / ISO : 100 / Exposure : 1/200 sec)
เทคนิคการถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงให้ได้ขนาดใหญ่ที่สุด “คือการถ่ายภาพในช่วงเที่ยงคืน” เนื่องจากเป็นช่วงที่ดวงจันทร์จะอยู่ในตำแหน่งใกล้ผู้สังเกตบนโลก โดยตำแหน่งในช่วงเที่ยงคืนนั้นเป็นไปตามหลักการของการหมุนรอบตัวเองของโลก ที่ทำให้ตำแหน่งของผู้สังเกตในช่วงเวลาต่างๆ มีระยะห่างจากดวงจันทร์ที่แตกต่างกันนั่นเอง ดังที่เสนอในแผนภาพข้างล่าง ซึ่งในขณะเที่ยงคืนนั้น นอกจากดวงจันทร์จะอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กับผู้สังเกตแล้ว ดวงจันทร์ยังอยู่บริเวณกลางท้องฟ้าทำให้ได้ภาพดวงจันทร์ที่ชัดเจนและใสเคลียร์อีกด้วย
ภาพตัวอย่างแสดงตำแหน่งของผู้สังเกตบนโลกในการเห็นดวงจันทร์ในช่วงเวลาต่างๆ
ดวงจันทร์ในคืนวัน Super Full Moon
ภาพถ่ายดวงจันทร์เต็มดวงในคืนวันดวงจันทร์ใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี 28 กันยายน 2558 (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Lunt Telescope 560mm. + Teleconverter 1.5X / Focal length : 840 mm. / Aperture : f/11 / ISO : 1000 / Exposure : 1/20sec)
นอกจากการถ่ายภาพดวงจันทร์ในช่วงเที่ยงคืนให้ได้ภาพที่มีขนาดใหญ่แล้ว การถ่ายภาพดวงจันทร์ในช่วงปรากฏการณ์ Super Full Moon ก็เป็นอีกเทคนิคที่น่าถ่ายภาพเช่นกัน โดยในปีหน้า 2019 นั้น จะมีปรากฏการณ์ Super Full Moon ติดต่อกันถึงสามเดือนได้แก่ ครั้งที่ 1 : ตรงกับวันที่ 21 มกราคม 2019 ครั้งที่ 2 : ตรงกับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2019 และครั้งที่ 3 : ตรงกับวันที่ 21 มีนาคม 2019
เทคนิคที่ขอแนะนำให้นำมาใช้ร่วมกับการถ่ายภาพปรากฏการณ์ Super Full Moon คือการถ่ายภาพดวงจันทร์เปรียบเทียบกับวัตถุบนพื้นโลก (Moon Illusion) เพื่อให้เห็นความใหญ่อลังการของดวงจันทร์ในช่วงคืนวันเกิดปรากฏการณ์
ภาพดวงจันทร์ในช่วงปรากฏการณ์แสงโลก Earth Shine
การถ่ายภาพปรากฏการณ์แสงโลก (Earth Shine) คือการถ่ายภาพในช่วงดวงจันทร์เป็นเสี้ยวบางๆ ถ้าเราสังเกตดวงจันทร์ในข้างขึ้นและข้างแรมในคืนวันดังกล่าว เราจะเห็นดวงจันทร์เป็นทรงกลมมีแสงอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นแสงจากดวงอาทิตย์โดยตรง เราจะมองเห็นดวงจันทร์ปรากฏเป็นเสี้ยวบางๆ แบบขึ้น 1 - 3 ค่ำ หรือ แรม 12 - 14 ค่ำ (แสงจากดวงอาทิตย์) ส่วนที่ 2 ที่ด้านมืดของดวงจันทร์ (ไม่ได้รับแสงของดวงอาทิตย์โดยตรงแต่จะได้รับแสงสะท้อนจากผิวโลกซึ่งที่ผิวโลกจะได้รับแสงจากดวงอาทิตย์โดยตรง) ซึ่งพูดง่ายๆ ก็คือ ปรากฏการณ์แสงโลกเกิดจากแสงอาทิตย์ที่สะท้อนกับผิวโลกไปยังดวงจันทร์ และสะท้อนกลับมายังผู้สังเกตบนโลกอีกต่อหนึ่ง ทำให้ผู้สังเกตบนโลกเห็นแสงจางๆจากด้านกลางคืนของดวงจันทร์
ในการถ่ายภาพ Earth Shine ในช่วงววันดังกล่าวแล้ว การถ่ายจำเป็นต้องใช้ความไวแสงค่อนข้างสูง เนื่องจากดวงจันทร์เป็นเสี้ยวบางๆ (ดวงจันทร์มีความสว่างน้อย) ร่วมกับการถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องแบบตามดาวก็จะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า เนื่องจากการถ่ายบนขาตามดาวจะช่วยให้เราสามารถใช้ความไวแสงที่ต่ำ ละเปิดหน้ากล้องได้นานขึ้น ทำให้เก็บรายละเอียดของส่วนมืดของดวงจันทร์ได้ดียิ่งขึ้น หรือใช้เทคนิคการถ่ายภาพดวงจันทร์แบบ HDR ก็จะช่วยให้เก็บรายละเอียดทั้งส่วนมืดและส่วนสว่างได้เช่นกัน
ถ่ายดวงจันทร์ให้ครบทุกเฟส Phases of The Moon
ไอเดียสุดท้ายสำหรับการถ่ายภาพดวงจันทร์คือ การถ่ายภาพดวงจันทร์ให้ครบทุกเฟส คือการถ่ายภาพดวงจันทร์ทุกวัน ตามการเปลี่ยนแปลงของเสี้ยวดวงจันทร์ตั้งแต่ข้างขึ้นไปจนถึงข้างแรม ซึ่งเวลาในการถ่ายภาพในแต่ละวันก็จะช้าลงวันละ 50 นาที เนื่องจากดวงจันทร์โคจรรอบโลก ขณะที่โลกเองก็หมุนรอบตัวเอง จึงทำให้เรามองเห็นดวงจันทร์ขึ้นช้าไปวันละ 50 นาที และในช่วงที่เข้าสู้ข้างแรมนั้น เราต้องเห็นดวงจันทร์ดึกขึ้นเรื่องๆ จนถึงรุ่งเช้าในช่วงแรมแก่ๆ นอกจากความพยายามอดหลับอดนอน ตื่นขึ้นมาถ่ายแล้ว อีกปัจจัยที่สำคัญคือสภาพอากาศที่ต้องดีตลอด 1 เดือนที่ทำการถ่ายภาพ เพราะหากวันไหนที่ฟ้าปิดไม่สามารถถ่ายได้ ก็ต้องรอไปถ่ายให้ครบเฟสอีกทีเดือนหน้า เรียกได้ว่าเป็นภาพที่ดูธรรมดาแต่มาธรรมดาเลยทีเดียวครับ