สำหรับในคอลัมน์นี้ยังคงเป็นเทคนิคในการถ่ายภาพดวงจันทร์ต่อเนื่องจากคอลัมน์ก่อน โดยจะขอนำเสนอเทคนิคง่ายๆ ในการโฟกัสภาพดวงจันทร์อย่างไรให้ได้ภาพที่คมชัด ซึ่งในการถ่ายภาพดวงจันทร์นั้น ก็มีหลากหลายรูปแบบ หลายไอเดียในการถ่ายภาพ โดยปกติทั่วไปเราก็จถ่ายภาพกันอยู่ 2 แบบ หลักๆ คือ
(ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon1DX / Lens : Takahashi TOA 150 + Extender 1.5X / Focal length : 1650 mm. / Aperture : f/11 / ISO : 200 / Exposure : 1/400 sec)
1. การถ่ายภาพดวงจันทร์แบบเดี่ยวๆ หรือแบบ โคลสอัพ
2. การถ่ายภาพดวงจันทร์กับฉากหน้าที่เป็นวัตถุหรือสถานที่
ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพดวงจันทร์กับวัตถุที่อยู่บริเวณขอบฟ้า หรือการถ่ายภาพดวงจันทร์แบบเดี่ยวๆ หรือแม้แต่การถ่ายดวงจันทร์ในช่วงเกิดปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ก็ล้วนแต่ต้องให้ความสำคัญกับการโฟกัสภาพให้คมชัดก่อนเป็นอันดับแรกก่อนเสมอ
โดยในการเลือกจุดที่โฟกัสภาพดวงจันทร์ของการถ่ายภาพแต่ละประเภทนั้น อาจมีความแตกต่างกันบ้างตามลักษณะของภาพถ่ายดวงจันทร์แต่ละแบบ โดยขออธิบายง่าย ๆ ดังนี้ครับ
1. การถ่ายภาพดวงจันทร์แบบเดี่ยวๆ หรือดวงจันทร์เมื่ออยู่กลางท้องฟ้า
(ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon1DX / Lens : Takahashi TOA 150 + Extender 1.5X / Focal length : 1650 mm. / Aperture : f/11 / ISO : 100 / Exposure : 1/200 sec)
สำหรับการโฟกัสภาพดวงจันทร์แบบเดี่ยวๆ หรือดวงจันทร์เมื่ออยู่กลางท้องฟ้า นั้น เป็นการถ่ายภาพดวงจันทร์อย่าเดียวไม่มีวัตถุอื่นในภาพ ซึ่งผู้ถ่ายควรถ่ายในช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่งสูงที่สุดบนท้องฟ้า เพื่อหลีกหนีชั้นบรรยากาศบริเวณขอบฟ้า ซึ่งเราต้องให้ความสำคัญกับรายลเอียดพื้นผิวและหลุมดวงจันทร์เป็นพิเศษ ดังนี้
1. ตั้งค่าโหมดถ่ายภาพ M (Manual) เพื่อให้สามารถปรับค่าต่างๆ ได้ตามที่ต้องการ
2. ใช้การโฟกัสภาพที่บริเวณขอบและหลุมของดวงจันทร์ช่วยในการโฟกัส
3. เปิดจอหลังกล้อง Live View โดยหน้าจอ LCD ขนาดใหญ่ช่วยกำหนดจุดโฟกัสได้ง่ายขึ้น
4. ใช้การวัดค่าแสงด้วย ฮิสโตแกรม (Histogram) ซึ่งจะแสดงในรูปของกราฟที่บอกปริมาณความสว่างในแกนตั้งและจำนวนพิกเซลที่แต่ละระดับของความสว่างในแกนนอน
5. ปิดระบบกันสั่นทุกครั้ง เมื่อถ่ายภาพดวงจันทร์บนขาตั้งกล้อง
การใช้จอหลังกล้อง Live View โดยหน้าจอ LCD ขนาดใหญ่ช่วยกำหนดจุดโฟกัส บริเวณขอบและหลุมของดวงจันทร์ในการปรับโฟกัสให้คมชัดที่สุด
การวัดค่าแสงด้วย ฮิสโตแกรม (Histogram) ในรูปของกราฟที่บอกปริมาณความสว่างให้มีลักษณะรูประฆังคว่ำแสดงให้เห็นค่าความสว่างที่พอดี ไม่สว่างหรือมืดจนเกินไป
ปิดระบบกันสั่นทุกครั้ง เมื่อถ่ายภาพดวงจันทร์บนขาตั้งกล้อง
2. การถ่ายภาพดวงจันทร์กับฉากหน้าที่เป็นวัตถุหรือสถานที่ ที่อยู่บริเวณใกล้กับขอบฟ้า
(ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 7D / Lens : Astrotech 5 Inch / Focal length : 1,200 mm. / Aperture : f/8 / ISO : 800 / Exposure : 1/800s)
ในการถ่ายภาพดวงจันทร์กับวัตถุที่อยู่บริเวณใกล้กับขอบฟ้า จะแตกต่างจากการถ่ายภาพดวงจันทร์โดยทั่วไป เนื่องจากบริเวณขอบฟ้ามีความหนาแน่นของชั้นบรรยากาศ ดังนั้นการโฟกัสที่ผิวดวงจันทร์จะค่อนข้างยาก เพราะระยะโฟกัสจะเปลี่ยนแปลงตลอดตามสภาพของชั้นบรรยากาศที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา
ดังนั้น ในการถ่ายภาพดวงจันทร์กับวัตถุที่อยู่บริเวณใกล้กับขอบฟ้า จากประสบการณ์ “ควรเลือกโฟกัสที่วัตถุที่เป็นฉากหน้า” เพราะสามารถโฟกัสได้ง่ายกว่าและระยะโฟกัสจะไม่เปลี่ยนแปลงมาก ยิ่งถ้าเป็นการโฟกัสดวงจันทร์ทางทิศตะวันออกที่กำลังเคลื่อนที่ขึ้นจากขอบฟ้า ยิ่งโฟกัสยาก (แต่หากท้องฟ้าใสเคลียร์มากๆ ก็อาจจะพอใช้การโฟกัสที่ดวงจันทร์ได้)
เกร็ดความรู้
ดวงจันทร์เป็นบริวารดวงเดียวของโลก มีพื้นผิวที่เต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตมากมาย ส่วนมากเกิดจากการชนของอุกกาบาตปริมาณมหาศาลเมื่อนับพันล้านปีมาแล้ว เราสามารถมองเห็นแสงดวงจันทร์ได้นั้นเป็นเพราะแสงอาทิตย์ที่สะท้อนจากพื้นผิวดวงจันทร์ ในขณะที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก บริเวณสว่างบนดวงจันทร์ที่หันเข้าหาโลกจะมีลักษณะแตกต่างกันในแต่ละวัน เกิดเป็น เฟส หรือ ข้างขึ้นข้างแรม ของดวงจันทร์ โดยคาบของการเกิดข้างขึ้นข้างแรมคือ 29.5 วัน
ดวงจันทร์มีอิทฺธิพลต่อบนโลกมากที่สุด คือทำให้เกิดน้ำขึ้น-น้ำลง เกิดจากอิทธิพลแรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ แต่ดวงจันทร์ส่งอิทธิพลมากกว่าดวงอาทิตย์ แรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์จะดึงน้ำในมหาสมุทรด้านใกล้ดวงจันทร์ให้สูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันผู้สังเกตที่อยู่อีกด้านหนึ่งของโลกก็จะเห็นน้ำทะเลสูงขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากผลต่างของแรงโน้มถ่วงทำให้อีกด้านเหมือนถูกดึงออก ส่งผลให้หนึ่งวันเกิดน้ำขึ้นสองครั้ง
ยานอวกาศลำแรกที่เดินทางไปสำรวจดวงจันทร์ คือ ยานลูนา 2 ของประเทศรัสเซีย ในปี พ.ศ. 2502 และยานอะพอลโล 11 เป็นยานอวกาศลำแรกที่พามนุษย์ไปลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 โดยพบว่าดวงจันทร์ไม่มีชั้นบรรยากาศห่อหุ้ม จึงเป็นสาเหตุให้พื้นผิวดวงจันทร์ เต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตมากมาย ทั้งขนาดใหญ่และเล็ก เราสามารถมองเห็นหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ได้ด้วยตาเปล่าคือ บริเวณที่เราจินตนาการว่า เป็นกระต่ายบนดวงจันทร์นั่นเอง
นอกจากนี้ยังพบว่าหินบนดวงจันทร์มีอายุมากถึง 3,000 – 4,600 ล้านปี ซึ่งเก่าแก่กว่าหินบนพื้นโลกมาก ดังนั้นจึงเป็นหลักฐานที่สำคัญเกี่ยวกับการเกิดของระบบสุริยะในยุคเริ่มแรก