ถ่ายทางช้างเผือกเชือกสุดท้าย ปลายปี 2561

ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมาก็ถือว่าเป็นช่วงสุดท้ายของปีนี้ที่เราจะพอสังเกตเห็นใจกลางทางช้างเผือกกันได้ เนื่องจากหลังจากนี้ดวงอาทิตย์ก็จะเคลื่อนที่ไปตรงบริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนู ซึ่งเป็นบริเวณของตำแหน่งใจกลางทางช้างเผือกนั่นเอง แต่ความพิเศษของช่วงท้ายปีนี้สำหรับการถ่ายภาพทางช้างเผือก คือเป็นช่วงที่เราจะเห็นทางช้างเผือกตั้งแต่หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ทั้งยังเป็นช่วงที่ท้องฟ้ามักจะใสเคลียร์เพราะเข้าสู่ฤดูหนาวนั่นเอง ดังนั้นคอลัมน์นี้เลยขอเก็บภาพทางช้างเผือกมาอวดกันสักหน่อยครับ


001

ภาพใจกลางทางช้างเผือกกับแสงทไวไลท์ในช่วงเดือนพฤศจิกายน บริเวณยอดดอยอินทนนท์
(ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon EOS R / Lens : Canon RF 24-105mm f/4L IS USM / Focal length : 24 mm. / Aperture : f/4.0 / ISO : 2500 / Exposure : 25sec)

        สำหรับภาพข้างต้นนั้น เป็นภาพที่ถ่ายตั้งแต่ช่วงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ซึ่งยังคงมีแสงทไวไลท์อยู่บ้าง และด้วยสภาพท้องฟ้าที่ใสเคลียร์ทำให้สามารถเห็นแนวใจกลางทางช้างเผือกได้ตั้งแต่ช่วงที่มีแสงทไวไลท์ เลยขอตั้งชื่อภาพนี้ว่า “ทางช้างเผือกกับแสงทไวไลท์” ซึ่งการถ่ายภาพในช่วงดังกล่าว จะทำให้เราได้แสงสีส้มที่ขอบฟ้าทางทิศตะวันตกร่วมกับแนวใจกลางทางช้างเผือก ทำให้ภาพดูมีสีสันมากขึ้นอีกด้วย โดยรายละเอียดเทคนิคการถ่ายภาพทางช้างเผือกกับแสงทไวไลท์สามารถอ่านได้ต่อ ตามลิงก์ https://goo.gl/hYxFKr 

002

ภาพทางช้างเผือกในช่วงหัวค่ำหลังจากสิ้นแสงทไวไลท์ 
(ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon EOS R / Lens : Canon RF 24-105mm f/4L IS USM / Focal length : 24 mm. / Aperture : f/4.0 / ISO : 4000 / Exposure : 30sec)

        หลังจากหมดช่วงแสงทไวไลท์ ก็เข้าสู่ช่วงกลางคืนท้องฟ้าจะเริ่มมืดสนิท ในช่วงนี้หากถ่ายภาพเราจะเห็นว่า รายละเอียดในส่วนของใจกลางทางช้างเผือกเริ่มชัดเจนมากขึ้น แต่ก็จำเป็นต้องเพิ่มความไวแสงของกล้องให้สูงขึ้นมากด้วยเช่นกัน ดังนั้นในช่วงเวลานี้ส่วนตัวผมจะเพิ่มเวลาในการเปิดหน้ากล้องให้นานขึ้นพร้อมทั้งเพิ่ม ISO ให้สูงขึ้นตามด้วยเพื่อเก็บรายละเอียดให้ได้มากที่สุดในการถ่ายภาพทางช้างเผือก

003

ภาพถ่ายทางช้างเผือกแบบพาโนรามา ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จรดทิศเหนือ
(ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon EOS R / Lens : Canon RF 24-105mm f/4L IS USM / Focal length : 24 mm. / Aperture : f/4.0 / ISO : 4000 / Exposure : 30sec X 34 Images )

        เมื่อตำแหน่งใจกลางทางช้างเผือกเริ่มต่ำลงเรื่อย ๆ เราจะสังเกตเห็นแนวทางช้างเผือก ที่ทอดยาวจากทิศเหนือจรดทิศใต้ได้ทางทิศตะวันตกในมุมที่ไม่สูงมากนัก ในช่วงนี้ก็เหมาะกับการถ่ายภาพแบบพาโนรามามุมกว้าง จากภาพข้างบนจะเห็นแนวทางช้างเผือกเป็นแนวโค้งจากทิศตะวันตกเฉียงใต้จรดทิศเหนือ ซึ่งผมใช้เทคนิคการถ่ายภาพแบบพาโนรามา 2 ชั้น โดยเริ่มถ่ายภาพจากทางซ้ายของภาพไล่ไปทางขวาแล้วต่อด้วยการเงยหน้ากล้องสูงขึ้น แล้วถ่ายภาพกลับไปทางซ้ายอีกครั้ง รวมแล้วกว่า 34 ภาพ จากนั้นจึงนำภาพทั้งหมดมาต่อในโปรแกรม Photoshop รายละเอียดการถ่ายภาพพาโนรามามุมกว้าง ตามลิงก์ https://goo.gl/N49GFH

004

ภาพถ่ายทางช้างเผือกในช่วงที่ตำแหน่งใจกลางทางช้างเผือกตกลับขอบฟ้าไปแล้ว
(ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon EOS R / Lens : Canon RF 24-105mm f/4L IS USM / Focal length : 35 mm. / Aperture : f/4.0 / ISO : 6400 / Exposure : 15sec)

        ภาพสุดท้ายจบด้วยการถ่ายภาพทางช้างเผือกคู่กับนักถ่ายดาวเป็นการทิ้งท้าย เนื่องจากแนวใจกลางทางช้างเผือกในช่วงปลายปี จะมีเวลาให้สังเกตเห็นได้เพียงช่วงหัวค่ำในเวลาสั้นๆ และจะตกลับขอบฟ้าไปพร้อมกับกลุ่มดาวคนยิงธนู ภาพนี้หลังจากที่แนวใจกลางทางช้างเผือกลับขอบฟ้าไปแล้ว แต่เรายังคงเห็นแนวทางช้างอื่นส่วนอื่นได้ แต่จะไม่สว่างเท่ากับบริเวณใจกลาง ทำให้การถ่ายภาพต้องเพิ่มค่าความไวแสงให้สูงตามมากขึ้น

ทำไมช่วงปลายปีถึงถ่ายทางช้างเผือกไม่ได้

        การถ่ายภาพทางช้างเผือกนั้น เรามักนิยมถ่ายภาพบริเวณใจกลางทางช้างเผือกซึ่งเป็นบริเวณที่สว่างและสวยที่สุด เนื่องจากตรงใจกลางทางช้างเผือกจะเต็มไปด้วยดาวฤกษ์อย่างหนาแน่น รวมทั้ง เนบิวลา กระจุกดาวทรงกลมอีกมากมาย จึงเป็นส่วนที่สว่างที่สุดและน่าตื่นตามากที่สุดเช่นกัน แม้แต่การสังเกตด้วยตาเปล่าก็จะสามารถเห็นเป็นแนวฝ้าจางๆ คล้ายเมฆที่พาดผ่านกลางท้องฟ้าได้ “แต่ทำไมเราถึงบอกว่าเมื่อเข้าช่วงปลายปีจะไม่สามารถถ่ายภาพทางช้างเผือกได้” ก็เนื่องจากช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนจนถึงปลายมกราคม ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่เข้าไปอยู่บริเวณใจกลางทางช้างเผือกในกลุ่มดาวคนยิงธนู ทำให้เราจะไม่สามารถสังเกตเห็นใจกลางทางช้างเผือกได้เพราะแสงดวงอาทิตย์สว่างรบกวนไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ของปีหน้าครับ 

        อย่างไรก็ตามแนวทางช้างเผือกนั้น เรายังคงเห็นได้ตลอดทั้งปี เพียงแต่บริเวณที่เห็นในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม จะไม่ใช้บริเวณใจกลางทางช้างเผือกเท่านั้น ซึ่งทำให้เราเห็นแนวทางช้างเผือกได้เพียงจางๆ เท่านั้น นักถ่ายภาพจึงไม่นิยมถ่ายภาพทางช้างเผือกในช่วงปลายปีนั่นเองครับ และสำหรับปีนี้ก็ปิดท้ายภาพถ่ายทางช้างเผือกกันด้วยสี่ภาพนี้ และหลังจากนี้จะมีอะไรน่าถ่ายกันอีกติดตามในคอลัมน์ต่อไปครับ