ในช่วงกลางเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ จะมีดาวหาง ชื่อ 46P/Wirtanen เป็นดาวหางคาบสั้นขนาดเล็ก มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.2 กิโลเมตร คาบการโคจรประมาณ 5.4 ปี ค้นพบโดย Carl A. Wirtanen มาเยือนโลก โดยคาดการณ์ว่าในช่วงปลายปี 2562 ดาวหางดวงนี้น่าจะมีความสว่างเพิ่มขึ้นจนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ภาพดาวหาง 46P/Wirtanen ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา ถ่ายภาพโดยกล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร.
ดาวหางดวงนี้จะเข้าใกล้โลกมากที่สุดในวันที่ 16 ธันวาคม ปรากฏบนท้องฟ้าตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ บริเวณกลุ่มดาววัว ที่ระยะห่างประมาณ 11.5 ล้านกิโลเมตร ทำให้มันปรากฏบนท้องฟ้าด้วยความสว่างสูงสุดประมาณแมกนิจูด 3 ซึ่งอยู่ในช่วงที่ตาเปล่าพอจะมองเห็นได้
ภาพจำลองทิศทางการเคลื่อนที่ของดาวหางในช่วงเดือนธันวาคม 2561 นี้
สำหรับในประเทศไทยเราจะสามารถมองเห็นด้วยตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ แต่มีข้อแม้ว่าท้องฟ้าต้องมืดสนิทปราศจากแสงรบกวนและไม่มีเมฆมารบกวนใดๆ
ตัวช่วยสำหรับการค้นหาดาวหาง
สำหรับการติดตามตำแหน่งของดาวหาง 46P/Wirtanen สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ https://theskylive.com ซึ่งสามารถเลือกตำแหน่ง Location ของผู้สังเกตได้อีกด้วย ตามลิงก์ https://goo.gl/9ca2gA
นอกจากนั้นเว็บไซต์ theskylive.comยังสามารถเปิดดูตำแหน่งของดาวหาง ณ ขณะนั้นได้อีกด้วยทั้งยังสามารถบอกทิศทางและตำแหน่งได้ล่วงหน้า ทำให้ง่าและสะดวกต่อการค้นหาดาวหางได้อย่างไม่ยาก
สำหรับผู้ที่มีทักษะด้านการ Setting circle บนกล้องโทรทรรศน์ ก็สามารถใช้พิกัด Right Ascension และ Declination ในการค้นหาดาวหางได้ นอกจากนี้การสังเกตดาวหางในช่วงนี้ หากมีกล้องสองตาที่มีกำลังขยายตั้งแต่ 7-10 เท่าขึ้นไป ก็จะสามารถใช้ในการดูดาวหางดวงนี้ได้เช่นกัน
ตัวอย่างหน้าเว็บไซต์ Theskylive.com ในเมนู Live Position and Data Tracker สามารถแสดงพิกัดตำแหน่ง และแนวการเคลื่อนที่ของดาวหางได้แบบรีลไทม์ ทำให้ง่ายต่อการค้นหาดาวหาง
แต่สำหรับราที่ใช้โปรแกรม Stellarium อยู่ก็สามารถที่จะอัพเดทให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุด Stellarium 0.18.2 ได้เพื่อสามารถแสดงตำแหน่งของดาวหาง 46P/Wirtanen ได้ ซึ่งมีวิธีการตามลิงก์ https://mgronline.com/science/detail/9610000093108 ก็สามารถนำไปใช้ในการหาตำแหน่งดาวหางได้เช่นกันครับ
สำหรับการถ่ายภาพดาวหางเบื้องต้น
ในการถ่ายภาพถ่ายดาวหาง 46P/Wirtanen นั้นสามารถเริ่มถ่ายภาพได้ตั้งแต่ต้นเดือนเป็นต้นไป ถึงแม้จะสามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ แต่ในการถ่ายภาพควรดูเวลาที่ตำแหน่งของดาวหางอยู่ในมุมที่สูงจากขอบฟ้ามากที่สุด เพื่อหลีกหนีมวลอากาศที่บริเวณขอบฟ้า และสิ่งสำคัญคือต้องถ่ายภาพในบริเวณที่มืดสนิท ไม่มีแสงไฟหรือแสงดวงจันทร์รบกวน และท้องฟ้าที่ใสเคลียร์ โดยจะขอแนะนำเบื้องต้นดังนี้
1. หาตำแหน่งดาวหางจากข้อมูลเว็บไซต์ Theskylive.com หรือ Stellarium หรืออาจใช้การ Setting circle จากกล้องโทรทรรศน์ให้เจอก่อนเป็นอันดับแรก
2. ควรถ่ายภาพบนอุปกรณ์ตามดาวแบบพกพา หรือถ่ายผ่านกล้องโทรทรรศน์ เนื่องจากดาวหางจะมีความสว่างค่อนข้างน้อย จึงจำเป็นต้องถ่ายภาพโดยการเปิดหน้ากล้องที่นานหลายวินาที
3. ใช้ความไวแสงสูง ISO 3200 ขึ้นไปเป็นค่าต้น ซึ่งสามารถปรับตามสภาพท้องฟ้า เพื่อให้เห็นรายละเอียดของหางดาวหางได้ชัดเจนที่สุด เนื่องจากบริเวณหางของดาวหางจะมีความสว่างค่อนข้างน้อย
4. ใช้รูรับแสงกว้าง เพื่อให้กล้องมีความไวแสงมากที่สุด
5. เปิดระบบลดสัญญาณรบกวน (Long Exposure Noise Reduction) เพื่อจัดการกับสัญญาณรบกวนที่มักเกิดจากการถ่ายภาพที่ใช้ ISO สูง และใช้เวลาถ่ายภาพนานๆ
6. สุดท้ายคือ ไฟล์ RAW เพื่อความยืดหยุ่นในการปรับภาพในภายหลัง
ตัวอย่างภาพดาวหางที่สามารถเริ่มสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า ผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว ซึ่งหลังจากนี้ คาดการณ์ว่าจะมีความสว่างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ