พร้อมถ่ายภาพ Super Moon 3 เดือนติดกัน ในคืนวันพระจันทร์เต็มดวง

ในช่วงต้นปี 2562 นี้จะเกิดปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก” หรือที่มักเรียกกันว่า Super Full Moon ติดกันถึง 3 เดือน โดยในการนิยามว่าเดือนไหนจะเรียกว่าดวงจันทร์ใกล้โลกนั้น ก็มีการกำหนดหลักการไว้หลายรูปแบบด้วยกัน โดยขอยกตัวอย่างของหลักการง่ายๆ อันหนึ่งดังนี้ 

001

        (1) เอาระยะทางที่ดวงจันทร์อยู่ไกลสุดในรอบปี ลบกับ ระยะที่ดวงจันทร์ใกล้สุดในรอบปี = จะได้ผลต่างของระยะทาง

        (2) จากนั้นนำเอาผลต่างของระยะทาง ไปหาค่าร้อยละ 90 ของผลต่างระยะทาง 

        (3) แล้วจึงนำเอาค่าระยะทางร้อยละ 90  ลบกับ ระยะที่ดวงจันทร์ไกลสุดในรอบปี = จะได้ระยะทางที่นำไปใช้เป็นค่าอ้างอิงว่าหากอยู่ในระยะทางที่ไม่เกินจากการคำนวณ ก็จะสามารถนิยามว่าเดือนใดบ้างที่จะเกิดปรากฏการณ์ Super Full Moon 

        *** แต่ต้องเช็คดูก่อนด้วยว่าในช่วงนั้น ดวงจันทร์อยู่ในช่วงเต็มดวงด้วยหรือไม่ ซึ่งนี่ก็เป็นเพียงหลักการหนึ่งเท่านั้นที่ใช้บอกขอบเขตว่าเดือนไหนจะเกิดปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก”

ตัวอย่างเช่น

        ดวงจันทร์อยู่ไกลที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่าง: 406,543 กิโลเมตร 

        ดวงจันทร์อยู่ใกล้ที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่าง: 356,753 กิโลเมตร

        (1) 406,543 - 356,753 = 49,790

        (2) ร้อยละ 90 ของผลต่างระยะทาง (49,790) = 44,811 

        (3) 406,543 - 44,811 = 361,732

        ดังนั้นจะได้ระยะห่างที่สามารถเรียกว่า ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก คือ : น้อยกว่า 361,732

        ปรากฏการณ์“ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก”ที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 จะเกิดขึ้นในวันที่ 21 มกราคม ครั้งที่ 2 วันที่ 19 กุมภาพันธ์ และครั้งสุดท้าย วันที่ 21 มีนาคม “โดยที่ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี จะตรงกับวันที่ 19 กุมภาพันธ์” ในวันดังกล่าวดวงจันทร์จะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลก ที่ระยะห่างเพียง 365,836 กิโลเมตร

        วันที่ 21 มกราคม 2562 ดวงจันทร์จะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลก ที่ระยะห่าง 357,706 กิโลเมตร

        วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 ดวงจันทร์จะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลก ที่ระยะห่าง 356,836 กิโลเมตร

        วันที่ 21 มีนาคม 2562 ดวงจันทร์จะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลก ที่ระยะห่าง 360,761 กิโลเมตร

        อย่างไรก็ตามหากเราถ่ายภาพปรากฏการณ์ Super Full Moon ไว้แล้ว ก็อย่าลืมตามถ่ายภาพปรากฏการณ์ Micro Moon ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 กันยายน 2562 ไว้เพื่อนำภาพมาเปรียบเทียบกัน โดยดวงจันทร์ในช่วงไกลโลก จะมีระยะห่างประมาณ 406,365 กิโลเมตร ทำให้ดวงจันทร์เต็มมีขนาดปรากฏเล็กที่สุดในรอบปี และหากเปรียบเทียบขนาดของดวงจันทร์เต็มดวงขณะโคจรมาใกล้โลกกับไกลโลกที่สุด ช่วงไกลโลกที่สุดจะมีขนาดปรากฏเล็กกว่าประมาณ 14% และมีความสว่างน้อยกว่าถึง 30%

เทคนิคการถ่ายภาพปรากฏการณ์ Super Full Moon

002

ตัวอย่างอุปกรณ์ถ่ายภาพดวงจันทร์ด้วยกล้องดิจิตอลกับกล้องโทรทรรศน์เพื่อให้ได้ทางยาวโฟกัสสูง

        สำหรับการถ่ายภาพดวงจันทร์ในคืนวันเกิดปรากฏการณ์ ดวงจันทร์จะเริ่มเคลื่อนที่ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลาหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ก็สามารถเริ่มถ่ายภาพกันได้แล้ว โดยจะขอแนะนำหลักการเบื้องต้นง่ายๆ ดังนี้

        1. เลือกใช้เลนส์เทเลโฟโต้ ที่มีทางยาวโฟกัสตั้งแต่ 300 mm. ขึ้นไปเพื่อให้ๆ ได้ภาพดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งหากสามารถถ่ายภาพผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีความยาวโฟกัสสูงๆ ก็จะทำให้ได้ภาพดวงจันทร์ขนาดใหญ่และมีรายละเอียดที่ดีกว่า (ยิ่งมีทางยาวโฟกัสสูงๆ ยิ่งได้เปรียบ)

        2. ใช้ค่าความไวแสง (ISO) ตั้งแต่ 200-400 ซึ่งดวงจันทร์ในช่วงเต็มดวงจะมีความเข้มแสงมากอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้ความไวแสงสูงๆ

        3. การปรับโฟกัสภาพ ใช้ระบบ Live view ที่จอหลังกล้อง ช่วยการปรับโฟกัสให้คมชัดมากที่สุด โดยเลือกโฟกัสบริเวณหลุมอุกกาบาตบนผิวดวงจันทร์ จะช่วยให้สามารถโฟกัสได้คมชัดและง่ายมากที่สุด

        4. ปรับชดเชยแสงไม่ให้โอเวอร์หรือสว่างมากไป โดยอาจทดลองถ่ายภาพแล้วตรวจสอบดูว่า ภาพเห็นรายละเอียดของหลุมบนดวงจันทร์ชัดเจนหรือไม่

        5. ใช้โหมดการถ่ายภาพแบบแมนนวล M ซึ่งในการถ่ายภาพด้วยโหมด M เราสามารถปรับตั้งค่าทั้งรูรับแสง และความเร็วชัตเตอร์ ได้สะดวก

        6. ความเร็วชัตเตอร์ ควรสัมพันธ์กับทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้ เช่น หากเราใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 600 mm ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 1/600s หรือมากกว่าซึ่งหากภาพที่ถ่ายออกมามืดเกินไปก็ให้ปรับค่าความไวแสง (ISO) เพิ่มขึ้นจนได้แสงที่พอดี 

        7. รูรับแสง อาจใช้ค่ารูรับแสงประมาณ f/4.0 – f/8.0 เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดทั่วทั้งภาพ

        8. ปิดระบบกันสั่นของเลนส์ 

        9. ถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องที่มั่นคง

        10. การบันทึกข้อมูลควรเลือกรูปแบบไฟล์เป็น RAW format ความยืดหยุ่นในการปรับภาพในภายหลัง

ไอเดียการถ่ายภาพ “Super Full Moon” ให้ดูใหญ่อลังการ

        สำหรับไอเดียการถ่ายภาพปรากฏการณ์ Super Full Moon นั้นสิ่งสำคัญคือ เราจะถ่ายภาพออกมาอย่างไรให้ดวงจันทร์มีขนาดใหญ่อลังการ ดังนั้นเทคนิคการถ่ายภาพเพื่อเปรียบเทียบขนาดดวงจันทร์จึงค่อนข้างสำคัญกับการถ่ายภาพปรากฏการณ์นี้ โดยไอเดียมีแนะนำดังนี้ครับ 

ไอเดียที่ 1 : การถ่ายภาพดวงจันทร์เปรียบเทียบกับวัตถุบนพื้นโลก (Moon Illusion)

003

ภาพถ่าย Moon Illusion โดยการถ่ายดวงจันทร์เปรียบเทียบกับวัดพระธาตุดอยสุเทพ 

(ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 7D / Lens : Astrotech 5 Inch / Focal length : 1,200 mm. / Aperture : f/8 / ISO : 800 / Exposure : 1/800s)

004

ภาพถ่าย Super Full Moon ในรูปแบบ Moon Illusion ของคืนวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 

(ภาพโดย : ธนกฤต  สันติคุณาภรต์ / Camera : Nikon D800 / Lens : Takahashi TOA 150 / Focal length : 1100 mm. / Aperture : f/7.3 / ISO : 1000 / Exposure : 1/1000sec)

005

ภาพถ่าย Super Full Moon คืนวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 

(ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF 300/4L IS USM + Extender EF 2X / Focal length : 600 mm. / Aperture : f/8.0 / ISO : 1250 / Exposure : 1/8sec)

        สำหรับการถ่ายภาพดวงจันทร์เปรียบเทียบกับวัตถุบนพื้นโลก Moon Illusion หรือภาพลวงตานั้น คือการถ่ายภาพดวงจันทร์ในบริเวณที่อยู่ใกล้กับขอบฟ้า หรือใกล้กับวัตถุ ไม่ว่าจะเป็น ต้นไม้ คน อาคาร หรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ ปกติดวงจันทร์เมื่อมองด้วยตาเปล่าจะมีขนาดปรากฏเชิงมุมเพียง 0.5 องศา (เหยียดแขนให้สุด ใช้นิ้วก้อยวัดขนาดเท่ากับ ครึ่งนิ้วก้อย) ดังนั้นหากต้องการถ่ายภาพเปรียบเทียบกับวัตถุบนโลก ก็ต้องให้วัตถุดังกล่าวมีระยะห่างจากจุดถ่ายภาพไกลพอที่จะทำให้มองเห็นวัตถุนั้นๆ มีขนาดใกล้เคียงกับขนาดปรากฏเชิงมุมเพียง 0.5 องศาเช่นกัน  นอกจากการหาสถานที่ที่เหมาะสมแล้ว การเลือกใช้เลนส์เทเลโฟโต้ และการเลือกโฟกัสที่ฉากหน้าหรือตัววัตถุที่ต้องการถ่ายภาพเพื่อเปรียบเทียบกับขนาดของดวงจันทร์ก็เป็นอีกสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ (โดยสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมตามลิงก์ : https://goo.gl/oihGyj)

ไอเดียที่ 2  : ถ่ายภาพดวงจันทร์ในช่วงเที่ยงคืน เพื่อให้ได้ขนาดใหญ่ที่สุด

006

ภาพถ่ายดวงจันทร์เต็มดวง ในช่วงเวลาเที่ยงคืน โดยตำแหน่งของดวงจันทร์อยู่บริเวณกลางท้องฟ้า

(ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Takahashi TOA 150 + Extender 1.5X / Focal length : 1650 mm. / Aperture : f/11 / ISO : 100 / Exposure : 1/200 sec)

        เทคนิคการถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงให้ได้ขนาดใหญ่ที่สุด “คือการถ่ายภาพในช่วงเที่ยงคืน” เนื่องจากเป็นช่วงที่ดวงจันทร์จะอยู่ในตำแหน่งใกล้ผู้สังเกตบนโลก โดยตำแหน่งในช่วงเที่ยงคืนนั้นเป็นไปตามหลักการของการหมุนรอบตัวเองของโลก ที่ทำให้ตำแหน่งของผู้สังเกตในช่วงเวลาต่างๆ มีระยะห่างจากดวงจันทร์ที่แตกต่างกันนั่นเอง ดังที่เสนอในแผนภาพข้างล่าง ซึ่งในขณะเที่ยงคืนนั้นนอกจากดวงจันทร์จะอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กับผู้สังเกตแล้ว ดวงจันทร์ยังอยู่บริเวณกลางท้องฟ้าทำให้ได้ภาพดวงจันทร์ที่ชัดเจนและใสเคลียร์อีกด้วย

007

ภาพตัวอย่างแสดงตำแหน่งของผู้สังเกตบนโลกในการเห็นดวงจันทร์ในช่วงเวลาต่างๆ

008

ตัวอย่างภาพเปรียบเทียบดวงจันทร์เต็มดวงในช่วงเวลา 20:00 น. เทียบขนาดกับในช่วงเวลา 00:00 น.

ไอเดียที่ 3 : ถ่ายภาพเปรียบเทียบขนาดกับช่วงที่ดวงจันทร์ในช่วงไมโครมูน (Micro Moon) 

009

ภาพเปรียบเทียบขนาดปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงใกล้-ไกลโลกที่สุดในรอบปี 2559

        หากใครที่ได้ถ่ายภาพปรากฏการณ์ดวงจันทร์ไกลโลกมากที่สุดในรอบปีไว้ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2560 ก็สามารถถ่ายภาพดวงจันทร์ใกล้โลก Super Full Moon เพื่อนำมาเปรียบเทียบขนาดกันได้ ดังเช่นภาพข้างต้น โดยสิ่งสำคัญของการถ่ายภาพรูปแบบนี้คือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพต้องเป็นอุปกรณ์แบบเดียวกัน

        แต่อย่างไรก็ตาม ผมแนะนำว่าเราอาจถ่ายภาพปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี 2562 ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 ไว้ก่อน แล้วเมื่อถึงวันที่ 14 กันยายน 2562 ก็ตามถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปีอีกครั้ง เพื่อนำเอาทั้งสองภาพมาเปรียบเทียบกัน ก็จะได้ภาพที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างกันมากที่สุด