ถ่ายดาวดอยไหน ห่างไกล PM 2.5

ช่วงนี้ถึงแม้เราจะเผชิญกับปัญหากับหมอกควันไฟปกคลุมเมืองทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ในยามค่ำคืนไม่น้อย แต่หากใครได้ลองสังเกตในช่วงเดินทางด้วยเครื่องบินจะพบว่าพวกกลุ่มหมอกควันเหล่านี้จะอยู่ที่ระดับความสูงค่าหนึ่ง นั่นก็คือประมาณ 2,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล

001

        ดังนั้นหากช่วงนี้ใครอยากออกไปถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้า ผมก็จะแนะนำสถานที่ ที่มีความสูงเกินกว่า 2,000 เมตรขึ้นไป เนื่องจากเป็นระดับความสูงที่พวกฝุ่นละอองและหมอกควันขึ้นมาไม่ถึง ประกอบกับยังมีท้องฟ้าที่ใสเคลียร์และห่างไกลจากแสงในเมืองอีกด้วย สำหรับในประเทศไทยก็มีอยู่ไม่กี่สถานที่ ที่มีระดับความสูงเกินกว่า 2,000 เมตร ยกตัวอย่างเช่น  

อันดับ 1 ดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 2,565 เมตร 

อันดับ 2 ดอยผ้าห่มปก  อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 2,285 เมตร 

อันดับ 3 ดอยหลวงเชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 2,225 เมตร 

อันดับ 4 ภูสอยดาว อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 2,102 เมตร 

อันดับ 5 ดอยลังกาหลวง จ.เชียงราย มีมีความสูงจากระดับน้ำทะเล 2,031 เมตร  

อันดับ 6 ขุนแม่ยะ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 2,020 เมตร

ปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพของภาพถ่าย

        นอกจากความสูงเหนือระดับน้ำทะเลเกินกว่า 2,000 เมตร ปัจจัยอื่นๆ ก็มีผลกับภาพถ่ายเช่นกัน นักดาราศาสตร์เราจะให้ความสำคัญกับปัจจัยที่จะส่งผลต่อคุณภาพของภาพถ่าย โดยปัจจัยบางอย่างเราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องอาศัยอุปกรณ์เครื่องมือในการตรวจวัดค่าเท่านั้น โดยจะขอยกตัวอย่างปัจจัยต่างๆ ดังนี้

1. ค่าความสว่างของท้องฟ้า (Sky brightness) มีผลต่อการถ่ายภาพที่มีความสว่างน้อยๆ หากท้องฟ้ามืดไม่สนิท วัตถุบางอย่าง เช่น เนบิวลามืดก็ยากที่จะถ่ายภาพให้ได้รายละเอียดที่ดี

2. ค่าทัศนวิสัยท้องฟ้า (Seeing Test) ที่วัดจากค่า FWHM ซึ่งส่งผลต่อความนิ่งของท้องฟ้าที่ตาเปล่าไม่สามารถสังเกตเห็นได้ ซึ่งความสั่นไหวของสภาพอากาศนั่นก็มีผลอย่างมากกับภาพที่ใช้ทางยาวโฟกัสสูงๆ

3. ค่าความชื้นในอากาศ (Humidity) เพราะหากมีความชื้นสูงมากๆ ก็มักทำให้หน้ากล้องเกิดฝ้า ไอน้ำเกาะได้ง่าย และการถ่ายภาพประเภทที่ต้องใช้เวลาถ่ายภาพนานๆ นั้นความชื้นในอากาศไม่ควรมีค่าสูง เนื่องจากส่งผลต่อเวลาในสการถ่ายภาพที่สั่นลง (กล้องเปียก) แต่ในช่วงหน้าหนาวของดอยอินทนนท์ อากาศค่อนข้างแห้งเหมาะแก่การถ่ายภาพตลอดทั้งคืน 

4. มลภาวะทางแสง (Light Pollution) คือปัญหาหลักของการถ่ายภาพเลยทีเดียว ปัจจุบันบริเวณรอบเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ได้ดำเนินโครงการลดมลภาวะทางแสง โดยการเปลี่ยนหลอดไฟทั่วทั้งอุทยานให้เป็นแบบ LED ป้องกันแสงที่อาจจะฟุ้งกระจายขึ้นบนท้องฟ้า เพื่อทำให้บริเวณยอดดอยอินทนนท์เป็นเขตอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้าของประเทศไทย (Dark Sky Area)

ถ่ายภาพ Deep Sky ภายใน 30 วินาที กับฟ้าดีๆ ที่อินทนนท์

002

 

        เรามาทดสอบดูว่าฟ้าอินทนนท์ที่ดีนั้นเป็นอย่างไร ? จากตัวอย่างภาพถ่ายวัตถุท้องฟ้าในห้วงอวกาศลึก ในฤดูหนาว เดือนกุมภาพันธ์นี้ ด้วยการถ่ายภาพแบบ 1 shot โดยใช้เวลาเปิดหน้ากล้องเพียง 30 วินาที กับสภาพท้องฟ้าอย่างดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นภาพดิบๆ จากไฟล์ JPEG หลังกล้องเท่านั้น 

        จากไฟล์ภาพที่ได้แสดงให้เห็นถึงรายละเอียดของวัตถุต่างๆ โดยวัตถุหนึ่งที่น่าประทับใจมากคือ การถ่ายภาพเนบิวลามืด Horsehead Nebula ที่ได้รายละเอียดที่ดี จากการถ่ายภาพเพียง 30 วินาทีเท่านั้น ก็ถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่นักดาราศาสตร์ใช้ทดสอบสภาพท้องฟ้าแบบง่ายๆ ว่ามีทัศนวิสัยที่เหมาะแก่การสังเกตการณ์และการศึกษาวิจัยทางดาราศาสตร์มากน้อยแค่ไหน 

        จริงๆแล้วในทางเทคนิคการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์นั้น เราจะถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าแต่ละภาพในเวลาที่ไม่นานมาก จำนวนหลายๆ ภาพเพื่อนำเอามารวมกันในซอฟต์แวร์ประมวลผลภาพทางดาราศาสตร์อีกครั้ง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือไฟล์ภาพต้นฉบับที่ได้มานั้น ก็ควรจะต้องเป็นไฟล์ที่มีรายละเอียด หรือในทางศัพท์เทคนิคที่เรียกว่าค่า Signal-to-noise ที่ดีนั้นเองครับ

        นอกจากภาพถ่ายวัตถุท้องฟ้าในห้วงอวกาศลึกแล้ว ดอยอินทนนท์ยังมีมุมถ่ายภาพอีกมากมายไว้คอยให้นักถ่ายภาพตามเก็บภาพวิวธรรมชาติกับดวงดาวกันอีกหลากหลายรูปแบบ ดังนี้

แสงสนธยา (Twilight) และแสงจักรราศี (Zodiacal Light)

003

        ในการถ่ายภาพแสงจักรราศี นั้นหากสภาพท้องฟ้าไม่ใสเคลียร์และไม่มืดสนิท จะไม่สามารถถ่ายภาพได้เลย ดังนั้นในบริเวณที่มีสภาพท้องฟ้าที่ดี เช่น ยอดดอยอินทนนท์ ก็สามารถถ่ายภาพแสงจักรราศีออกมาได้ไม่ยากครับ โดยอาจเรียกได้ว่า ที่ไหนฟ้าจะดีไม่ดี ใช้วิธีการถ่ายภาพแสงจักรราศีนี้วัดกันดูได้ครับ

ภาพเส้นแสงดาวที่สามารถถ่ายแบบลากยาวๆ ได้ทั้งคืน

004

        การถ่ายภาพเส้นแสงดาวที่มีคุณภาพท้องฟ้าดีนั้น เราจะได้เส้นแสงดาวที่ต่อเนื่องมีความสม่ำเสมอของเส้นแสงดาว ซึ่งบ่งบอกถึงค่าทัศนวิสัยของท้องฟ้าที่ดีได้อีกด้วย

ภาพถ่ายทางช้างเผือก

005

        การถ่ายภาพทางช้างเผือกให้ได้รายละเอียดของทั้งเนบิวลาสว่าง เนบิวลามืดและกระจุกดาว ให้ครบนั้น จำเป็นต้องอาศัยท้องฟ้าที่ใสเคลียร์และมืดสนิทเท่านั้น จึงจะทำให้เราได้ภาพถ่ายที่มีรายละเอียดที่ครบถ้วน และสามารถนำมาปรับแต่ง ดึงรายละเอียดในส่วนต่างๆ ได้ในภายหลัง

ภาพถ่ายทางช้างเผือกพาโนรามา

006

        นอกจากการถ่ายภาพแบบ 1 shot ทั่วไปแล้ว การถ่ายภาพด้วยเทคนิคพาโนรามา ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่มักนิยมถ่ายสภาพกัน แต่บริเวณจุดถ่ายภาพก็ต้องมีสถานที่ ที่มองเห็นท้องฟ้าในมุมกว้างได้โดยไม่มีสิ่งบดบังหรือกีดขวาง ซึ่งบริเวณจุดที่เป็นยอดดอยก็มักจะมีที่โล่งกว้างให้เราได้ถ่ายภาพแบบพาโนรามากัน หลากหลายสถานที่

        จากปัจจัยต่างๆ มีผลกระทบจากที่กล่าวมานั้น ทำให้”ยอดดอยอินทนนท์” ถูกจัดเป็นอันดับ 1 ของสถานที่ถ่ายดาวที่ดีที่สุดของประเทศ เพราะสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับสร้างหอดูดาวระดับต้นๆ ของแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับช่วงนี้หากใครที่กำลังมองหาสถานที่ถ่ายดาว ก็ลองหาสถานที่ตามที่แนะนำ ไม่ว่าจะเป็นความสูง ความมืด ความชื้น และการเดินทางที่สะดวกประกอบการตัดสินใจเลือกสถานที่กันด้วยนะครับ เพราะหาวางแผนดี เราก็มีโอกาสได้ภาพสวยๆกันไม่ยากครับ