เสร็จจากทริปถ่ายดาวบนดอย เอามาสปอยให้ฟัง

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้จัดกิจกรรมถ่ายภาพ Astrophotography Marathon ซึ่งเป็นกิจกรรมถ่ายภาพทางดาราศาสตร์แบบต่อเนื่องตลอดทั้งคืน ในแต่ละช่วงเวลาเราก็จะมีโจทย์ให้ผู้ร่วมกิจกรรมถ่ายภาพในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป

001

        โดยในปีนี้สถานที่ในการจัดกิจกรรมคือ บริเวณจุดชมวิวกิ่วแม่ปาน อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ซึ่งมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลเกินกว่า 2,100 เมตร แน่นอนว่าความสูงระดับนี้ พ้นระดับฟ้าหลัวและฝุ่นละอองแน่นอน ไอเดียในการจัดกิจกรรมถ่ายภาพในครั้งนี้ต้องการให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้การถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ ว่าในแต่ละช่วงเวลานั้น เราจะสามารถวางแผนถ่ายภาพอะไรได้บ้าง และภาพในแต่ละช่วงเวลาก็มีเทคนิคการถ่ายภาพที่แตกต่างกันออกไป เอาหล่ะครับเรามาเริ่มกันเลย

        เริ่มต้นจากแสงเย็น หรือแสงสนธยา (Twilight) เราถ่ายภาพกันตั้งแต่หกโมงเย็นไปจนถึงทุ่มครึ่ง โดยเทคนิคที่ใช้ในการถ่ายภาพแสงเย็น คือการถ่ายภาพแบบ HDR (High Dynamic Range) หรือการถ่ายภาพหลายๆ ภาพตั้งแต่ภาพที่มืดๆ ไปจนถึงภาพที่สว่าง แล้วเอาภาพทั้งหมดมารวมกันเป็นภาพเดียวใน Photoshop เพื่อให้ได้ภาพที่มีรายละเอียดครบถ้วนทั้งส่วนมืดและส่วนสว่าง อีกเทคนิคที่จะแนะนำ คือการใช้ค่ารูรับแสงแคบๆ ประมาณ f/8.0 เพื่อให้ภาพชัดทั่วทั้งภาพ

003

ตัวอย่างภาพถ่ายในช่วงแสงสนธยา ด้วยการถ่ายภาพแบบ HDR โดยการใช้ค่ารูรับแสง f/8 เพื่อให้ภาพมีความคมชัดทั่วทั้งภาพ
(ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 24 mm. / Aperture : f/8.0 / ISO : 400)

        หลังจากหมดแสงสนธยาไปแล้ว ก็เข้าสู่ช่วงเวลากลางคืน ณ บริเวณที่มีความมืดไม่มีแสงไฟรบกวน ประกอบกับสภาพท้องฟ้าที่ใสเคลียร์ ปราศจากหมอกควัน เราสามารถถ่ายภาพแสงจักรราศี (Zodiacal light) กันต่อได้ในช่วงวันนี้ ซึ่งเทคนิคในการถ่ายแสงจักรราศี คือการคำนวณเวลาเปิดหน้ากล้องด้วยสูตร Rule of 4000/600 (รายละเอียดการคำนวณเวลาถ่ายภาพตามลิงก์ : https://goo.gl/iuK3jR) และใช้รูรับแสงกว้างสุด พร้อมตั้งค่า ISO สูงๆ ตั้งแต่ ISO 3200 ขึ้นไปเพื่อเก็บแสงจักรราศีให้ได้ชัดเจนมากที่สุด

002

ภาพถ่ายแสงจักรราศีทางทิศตะวันตก (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 3200 / Exposure : 30 sec)

        เมื่อเข้าสู่ช่วงเวลากลางคืน ท้องฟ้ามืดสนิทเราก็มาต่อกันด้วยการถ่ายภาพวัตถุในห้วงอวกาศลึก Deep Sky Objects ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมหลายคน ก็น่าจะได้รับประสบการณ์ใหม่ สำหรับการถ่ายภาพประเภทนี้ โดยวัตถุแรกๆ สำหรับผู้เริ่มต้นถ่ายภาพ Deep Sky Objects ก็แนะนำให้ถ่ายภาพโอไรออนเนบิวลา ในกลุ่มดาวนายพรานเป็นวัตถุแรก และความพิเศษของค่ำคืนนั้น คือจุดที่เราตั้งกล้องโทรทรรศน์สำหรับถ่ายภาพ สามารถสังเกตเห็นกลุ่มดาวทางซีกฟ้าใต้ได้ดีมาก วัตถุที่ถ่ายในลำดับถัดมาเราจึงมุ่งไปหาพวก Objects ที่อยู่ในกลุ่มดาวซีกฟ้าใต้ เพราะเราไม่ได้มีโอกาสถ่ายกันได้ง่ายๆ ในสถานที่ทั่วไป

        สำหรับคำแนะนำ หากใครที่ถ่ายภาพแนวนี้แล้วติดใจ เราก็สามารถเริ่มต้นหาอุปกรณ์ตามดาวแบบพกพามาใช้งานเพื่อเรียนรู้ การทำ Polar Alignment ก่อน แล้วถ้ายังอยากไปต่อ ก็จะแนะนำให้เป็นการเลือกซื้อกล้องโทรทรรศน์ต่อไป แต่ในกิจกรรมนี้ทางเราก็ได้เตรียมอุปกรณ์กล้องโทรทรรศน์และขาตามดาวมาให้ลองกันอย่างมากมายหลากหลายรูปแบบ ที่ผู้เข้าร่วมสามารถมาลองต่อกล้องดิจิตอลถ่ายภาพต่างๆ ได้

004

ตัวอย่างวัตถุท้องฟ้าที่สามารถถ่ายภาพได้ในช่วงคืนวันจัดกิจกรรม ซึ่งประกอบด้วยภาพเนบิวลา กาแล็กซี และกระจุกดาว

        ในระหว่างที่คนส่วนหนึ่งก็กำลังสนุกกับการถ่ายภาพ Deep Sky Objects ช่วงเวลาตั้งแต่หลังเที่ยงคืนไปจนถึงช่วงตีสาม ก็สามารถตั้งกล้องถ่ายภาพเส้นแสงดาว หรือจะถ่ายภาพแบบ Timelapse ก็ได้หากใครที่มีแบตเตอรี่และเมมโมรี่การ์ดมากพอ ซึ่งคำแนะนำในการถ่ายภาพเส้นแสงดาว คือ ควรถ่ายภาพให้ได้เวลารวมไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง (รายละเอียดการถ่ายภาพเส้นแสงดาว ตามลิงก์ : https://goo.gl/8XipPc)

005

ภาพถ่ายเส้นแสงดาว จำนวน 386 ภาพ โดยใช้เวลาถ่ายภาพรวมกว่า 3 ชั่วโมง  
(ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 1250 / Exposure : 60sec X 123 images)

        ปัญหาอย่างหนึ่งสำหรับการถ่ายภาพเส้นแสงดาวคือ ควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่อยู่ใกล้กับแนวทางช้างเผือก เพราะบริเวณดังกล่าวจะมีดาวดวงเลกดวงใหญ่ ติดมาในภาพจำนวนมาก ทำให้ภาพเส้นแสงดาวดูรกมากเกินไป ดังตัวอย่างภาพตัวอย่างเส้นแสงดาวด้านบน (แบบเละเทะ) 

        อย่างไรก็ตามการถ่ายภาพเส้นแสงดาวนั้น ก็ถือเป็นอีกรูปแบบของการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ ที่ต้องใช้ความอดทนในการถ่ายภาพพอสมควร โดยในกิจกรรมนี้ผู้ที่เข้าร่วมทุกคนจะได้รับแถบความร้อนสำหรับพันหน้ากล้องเพื่อใช้ร่วมกับการถ่ายภาพเส้นแสงดาวที่ใช้เวลาถ่ายภาพยาวนาน โดยแถบความร้อนจะช่วยป้องกันไม่ให้หน้ากล้องดิจิตอลของเราขณะถ่ายภาพเกิดไอน้ำเกาะได้

        ในช่วงสุดท้ายของกิจกรรมถ่ายภาพ ซึ่งก็เป็นช่วงสำคัญหรือพระเอกของงาน ก็คือการถ่ายภาพทางช้างเผือก ซึ่งเป็นอีกวัตถุท้องฟ้าหนึ่ง ที่หลายๆคน ตั้งใจมาเรียนรู้การถ่ายภาพ และด้วยสภาพท้องฟ้าที่ใสเคลียร์ทำให้การถ่ายภาพทางช้างเผือก ณ ยอดดอยอินทนนท์นั้นง่ายดาย และได้รายละเอียดของทางช้างเผือกกันมาแบบชัดเจน โดยเทคนิคที่เราแนะนำก็คือ การถ่ายภาพด้วยสูตร 400/600 เปิดรูรับแสงกว้างสุด ตามด้วยค่าความไวแสงสูง ตั้งแต่ ISO 3200 พร้อมกับการเปิดระบบลดสัญญาณรบกวนของกล้อง Long exposure noise reduction 

006

ภาพถ่ายทางช้างเผือกในช่วงเช้ามืดทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ โดยใจกลางทางช้างเผือกจะเริ่มโผล่จากขอบฟ้าในแนวขนานกับขอบฟ้า (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 17 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 3200 / Exposure : 30 sec)

        สำหรับกิจกรรมถ่ายภาพแบบมาราธอนนี้ เราจัดเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น หากใครที่อยากเข้าร่วมกิจกรรมแบบนี้ก็สามารถติดต่อข่าวสารกิจกรรมต่างๆ ได้ทางเว็บไซต์และเฟสบุ๊คของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ส่วนปีหน้าเราจะไปจัดที่ไหนนั้น คงต้องรอติดตามกันต่อไป สำหรับปีนี้ใครที่พลาด ก็รอต่อไปปีหน้านะครับ