ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับวันวาเลนไทน์ เรามักเห็นภาพถ่ายวัตถุท้องฟ้าที่นักดาราศาสตร์โพสต์ทางโซเชียลมีเดีย โดยวัตถุท้องฟ้าที่เป็นที่นิยมกันมากที่สุดคือ เนบิวลาดอกกุหลาบ (Rosette Nenula) และเนบิวลารูปหัวใจ (Heart Nebula) ซึ่งทั้งสองวัตถุนี้ก็มีรูปร่าง ลักษณะที่สื่อความหมายเกี่ยวกับความรักได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นวัตถุทั้งสอง ยังสามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ
เนบิวลาดอกกุหลาบ (Rosette Nenula)
ภาพเนบิวลาดอกกุหลาบ (Rosette Nebula) ซึ่งเป็นเนบิวลาแบบเปล่งแสงอยู่ใกล้กับบริเวณกลุ่มดาวนายพราน
ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Mount : Takahashi EM-200 Temma 2 / Lens : Takahashi TOA 150 / Focal length : 1100 mm. / Aperture : f/7.3 / ISO : 1600 / WB : 5500K / Exposure : Light (120 sec x 12 images) Dark (180 sec x 5 images) Flat (1 sec x 5 images) Bias(1/8000 sec x 5 images)
เนบิวลาดอกกุหลาบ (Rosette Nebula, Caldwell 49) เป็นเนบิวลาชนิดเปล่งแสง (Emission nebula) อยู่ใกล้กับริเวณกลุ่มดาวนายพราน ห่างจากโลกออกไปประมาณ 5,200 ปีแสง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 55 ปีแสง ขนาดปรากฏบนท้องฟ้า 1.3 องศา หรือประมาณ 2 เท่าของขนาดดวงจันทร์เต็มดวง ภายในเนบิวลามีกระจุกดาวฤกษ์ NGC2244 ที่เกิดใหม่มากมาย ดาวฤกษ์เหล่านี้มีอายุประมาณ 4 ล้านปี ซึ่งสังเกตได้ง่ายกว่าแก๊สไฮโดรเจนโดยรอบ
ตำแหน่งเนบิวลาดอกกุหลาบ (Rosette Nebula)
สำหรับเนบิวลาดอกกุหลาบนั้น มีค่าความสว่างปรากฏ Magnitude: 9.0 เท่านั้น (ยิ่งค่ามาก ยิ่งสว่างน้อย) ตาเปล่าคนปกติ มองเห็นต่ำสุดที่ Magnitude: 6.0 ในสภาพท้องฟ้ามืดสนิท ดังนั้น การหาตำแหน่งของวัตถุนี้ เราจำเป็นต้องอาศัยตำแหน่งของกลุ่มดาวและตำแหน่งของดาวฤกษ์ดวงสว่างในการอ้างอิงหาตำแหน่งวัตถุท้องฟ้า
จากภาพตัวอย่างข้างบน เราสามารถใช้กลุ่มดาวนายพรานบริเวณแขนของนายพราน เป็นจุดอ้างอิงในการหาตำแหน่ง Rosette Nebula หากสภาพท้องฟ้าใสเคลียร์มืดสนิท ด้วยตาเปล่าเราจะสามารถมองเห็นกระจุกดาวฤกษ์ ซึ่งอยู่บริเวณใจกลางเนบิวลาได้บางๆ ได้เช่นกัน
เลือกคำนวณมุมรับภาพและอุปกรณ์ถ่ายภาพให้เหมาะสม
การเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสมสำหรับการถ่ายภาพ Rosette Nebula ส่วนตัวแนะนำให้ใช้เลนส์ หรือกล้องโทรทรรศน์ที่มีทางยาวโฟกัสในช่วง 300 – 1200 mm. ซึ่งเป็นช่วงที่สามารถเก็บภาพเนบิวลาได้ครอบคลุมทั้งวัตถุที่ไม่เล็กหรือใหญ่จนล้นเฟรมมากเกินไปครับ
โดยเราควรหาขนาดมุมรับภาพก่อนการออกไปถ่ายภาพก่อนเสมอ ดังตัวอย่างเช่นภาพข้างบน เป็นหาขนาดมุมรับภาพ สำหรับการถ่ายภาพ Rosette Nebula ด้วยกล้องถ่ายภาพดิจิตอลแบบ Full Frame กับกล้องโทรทรรศน์ขนาดทางยาวโฟกัส 1100 mm. ซึ่งเราสามารถใช้โปรแกรม Stellarium ในการคำนวณมุมรับภาพได้ รายละเอียดการคำนวณมุมรับภาพตามลิงก์ : https://mgronline.com/science/detail/9590000066353
เนบิวลารูปหัวใจ (Heart Nebula)
ภาพเนบิวลาแห่งหัวใจและจิตวิญญาณ (Heart and Soul Nebula) เป็นเนบิวลาชนิดเปล่งแสงที่มีแสงสว่างในตัวเอง เกิดจากการเรืองแสงของอะตอมของไฮโดรเจนที่อยู่ในสถานะไอออน เนบิวลาชนิดนี้ส่วนใหญ่จะมีสีแดงจากไฮโดรเจน ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Mount : Takahashi EM-200 Temma 2 / Lens : Takahashi FSQ-85ED / Focal length : 450 mm. / Aperture : f/5.3 / ISO : 2500 / WB : 5500K / Exposure : Light (180 sec x 9 images) Dark (180 sec x 9 images) Flat (1 sec x 9 images) Bias(1/8000 sec x 9 images)
เนบิวลาหัวใจ (Heart nebula) เป็นเนบิวลาชนิดเปล่งแสง (Emission nebula) อยู่ในกลุ่มดาวค้างคาว (Cassiopeia) ห่างจากโลกประมาณ 7,500 ปีแสง ประกอบด้วยกลุ่มฝุ่นและแก๊สที่เรียงตัวกันในห้วงอวกาศมองดูคล้ายหัวใจสีแดง มีขนาดแผ่ขยายออกไปถึง 200 ปีแสง ปรากฏบนท้องฟ้ากว้าง 2.5 องศา หรือประมาณ 5 เท่าของขนาดดวงจันทร์เต็มดวง บริเวณใจกลางหัวใจมีกระจุกดาวเปิด ซึ่งเป็นดาวฤกษ์เกิดใหม่จำนวนมาก กำลังปลดปล่อยพลังงานออกมาอย่างมหาศาลจนทำให้แก๊สที่อยู่รอบๆ ดาวแตกตัวเป็นไอออนแล้วเปล่งแสงสีแดงออกมา
ตำแหน่งเนบิวลาหัวใจ (Heart nebula)
เนบิวลาเนบิวลาหัวใจ มีค่าความสว่างปรากฏ Magnitude: 18.3 เท่านั้น ซึ่งตาเปล่ามองไม่เห็น ดังนั้นการหาตำแหน่งของวัตถุนี้ค่อนข้างยาก การหาตำแหน่งวัตถุนี้เราจึงจำเป็นต้องใช้ตำแหน่งดาวฤกษ์ในการอ้างอิงตำแหน่ง
จากภาพตัวอย่างข้างบน เราสามารถใช้ดาวสว่างในกลุ่มดาวค้างคาวกับดาวสว่างของกลุ่มดาวยีราฟ เป็นจุดอ้างอิงในการหาตำแหน่ง Heart nebula ซึ่งจะอยู่ระหว่างดาวสว่างของสองกลุ่มดาวนี้ จากนั้นเมื่อได้ตำแหน่งที่ใกล้เคียงแล้ว ให้ลองถ่ายภาพด้วยความไวแสงที่สูงที่สุดของกล้องถ่ายภาพในเวลาสั้นๆ เพื่อตรวจสอบว่าเราหั้นหน้ากล้องไปถูกตำแหน่ง
เลือกคำนวณมุมรับภาพและอุปกรณ์ถ่ายภาพให้เหมาะสม
การเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสมสำหรับการถ่ายภาพ Heart nebula แนะนำให้ใช้เลนส์ หรือกล้องโทรทรรศน์ที่มีทางยาวโฟกัสในช่วง 200 – 600 mm. ซึ่งเป็นช่วงที่สามารถเก็บภาพเนบิวลาได้ครอบคลุมทั้งวัตถุที่ไม่เล็กหรือใหญ่จนล้นเฟรมมากเกินไป
จากภาพตัวอย่างภาพข้างบน เป็นหาขนาดมุมรับภาพ สำหรับการถ่ายภาพ Heart nebula ด้วยกล้องถ่ายภาพดิจิตอลแบบ Full Frame กับกล้องโทรทรรศน์ขนาดทางยาวโฟกัส 450 mm.
เทคนิคการถ่ายภาพ
- สิ่งสำคัญสิ่งแรกของการถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้า ทั้ง 2 วัตถุนี้ ก็คือ การหาตำแหน่งของวัตถุท้องฟ้าให้พบก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากทั้งสองวัตถุ มีความสว่างปรากฏการณ์น้อยมาก
- เลือกอุปกรณ์ถ่ายภาพที่เหมาะสม ทั้งกล้องดิจิตอลที่ใช้ถ่ายภาพและเลนส์หรือกล้องโทรทรรศน์ ที่มีทางยาวโฟกัสที่เหมาะสม
- เลือกถ่ายวัตถุที่จะตกลับขอบฟ้าก่อน คือ หากมีเวลาเพียง 1 คืน ให้เลือกถ่าย เนบิวลาหัวใจ (Heart nebula) ก่อนแล้วตามด้วย เนบิวลาดอกกุหลาบ (Rosette Nebula)
- ศึกษาพื้นฐานการถ่ายภาพ Deep Sky Objects และกระบวนการโปรเซสภาพถ่าย โดยภาพที่จำเป็นสำหรับการโปรเซสภาพ เบื้องต้นจะต้องประกอบด้วยภาพ 1. Light Frame (ภาพถ่ายวัตถุท้องฟ้า) 2. Dark Frame 3. Flat Frame 4. Bias Frame อ่านรายละเอียดการถ่ายภาพ Deep Sky Objects เพิ่มเติมตามลิงก์ : http://old.narit.or.th/index.php/astro-photo-article/3534-deep-sky-objects-article
โปรแกรมที่นักดาราศาสตร์สมัครเล่นนิยมใช้ เช่น โปรแกรม DeepSkyStacker ซึ่งเป็นฟรีแวร์ที่สามารถทดลองดาวน์โหลดมาใช้งานได้ ตามลิงก์ : http://deepskystacker.free.fr/english/index.html
- เรียนรู้ทักษะการตั้งกล้องบนขาตามดาวแบบแม่นยำ เพื่อให้สามารถถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าได้ในเวลานานหลายนาที ได้อย่างแม่นยำ รายละเอียดตามลิงก์ : http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-article/photo/413-3840-polar-alignment