ในคอลัมน์นี้ขอรวบรวมไอเดีย การถ่ายภาพดวงอาทิตย์ตั้งฉาก ในปีนี้มีคนให้ความสนใจกันมากขึ้นและร่วมแชร์ภาพถ่ายที่เกี่ยวกับดวงอาทิตย์ตั้งฉากกันหลากหลายไอเดีย สำหรับประเทศไทยนั้นในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ดวงอาทิตย์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับประเทศไทย เริ่มจากทางใต้ ณ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ในช่วงประมาณวันที่ 5 เมษายน จากนั้นดวงอาทิตย์จะโคจรมาอยู่ในแนวตั้งฉากกับพื้นที่ต่าง ๆ ของไทยไล่ลำดับขึ้นเหนือมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงช่วงประมาณวันที่ 23 พฤษภาคม ดวงอาทิตย์จะตั้งฉากกับพื้นที่เหนือสุดของประเทศไทย ณ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
ภาพแสดงตำแหน่งของบริเวณโลกที่สามารถสังเกตเห็นดวงอาทิตย์ตั้งฉากได้ ซึ่งเป็นพ้นที่ระหว่างแนว
Tropic of Cancer กับ Tropic of Capricorn
สำหรับประเทศที่จะมีโอกาสเกิดดวงอาทิตย์ตั้งฉาก จะเริ่มจากประเทศที่อยู่ในตำแหน่งละติจูดที่ 23.5 องศาเหนือ หรือที่เราเรียกว่า ทรอปิกออฟแคนเซอร์ (Tropic of Cancer) เป็นตำแหน่งละติจูดเหนือสุดบนโลกที่ดวงอาทิตย์จะปรากฏตั้งฉาก ที่จุดเหนือศรีษะ ไปจนถึงประทศที่อยู่ในตำแหน่งละติจูดที่ 23.5 องศาใต้ เท่านั้น หรือที่เราเรียกว่า ทรอปิกออฟแคปริคอร์น (Tropic of Capricorn) เป็นตำแหน่งละติจูดใต้สุดบนโลกที่ดวงอาทิตย์จะปรากฏตั้งฉาก ที่จุดเหนือศรีษะ
เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน ระหว่างแนวละติจูด 5-20 องศาเหนือ จึงทำให้ประเทศไทยมีวันที่ดวงอาทิตย์ผ่านใกล้จุดเหนือศีรษะมากที่สุดปีละ 2 วัน โดยจะมีคาบการโคจรพาดผ่านแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดของประเทศไทยจึงเห็นดวงอาทิตย์ผ่านเหนือศีรษะไม่พร้อมกัน
และในครั้งต่อไปดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่มาอยู่ในแนวตั้งฉากกับประเทศไทยเริ่มจากทางภาคเหนือ จ.เชียงราย ประมาณวันที่ 21 กรกฎาคม และเคลื่อนที่ไปทางใต้อีกครั้งตามลำดับ ดังแสดงในตารางด้านล่าง
ตารางแสดงเวลาดวงอาทิตย์ตั้งฉาก ของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2562 ณ จังหวัดต่างๆ
มาแชร์ไอเดียการถ่ายภาพดวงอาทิตย์ตั้งฉากกัน
คราวนี้เรามาดูไอเดียที่นิยมถ่ายภาพดวงอาทิตย์ตั้งฉากกันบ้าง โดยจะขอยกตัวอย่างแนวคิดการถ่ายภาพเพื่อสื่อให้เห็นถึงเงาที่เกิดขึ้นกับวัตถุเมื่อตำแหน่งดวงอาทิตย์อยู่ในแนวตั้งฉาก ไปดูกันเลยครับ...
1. ท่ายอดฮิต ท่าโยคะ หรือเรียกเล่นๆ กันว่า “สุริยะนมัสการ”
การถ่ายภาพยืนตรงพนมมือชี้ขึ้นบนท้องฟ้า ถือเป็นท่ายอดฮิต โดยเราจะสังเกตเห็นเงาของร่างกายตกอยู่ใต้เท้าพอดี ไม่เฉียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ในช่วงที่ตำแหน่งดวงอาทิตย์ตั้งฉาก
2. ถ่ายภาพเสาหรือวัตถุตั้งตรง
การถ่ายภาพวัตถุเสาตั้งตรง นั้นสิ่งสำคัญคือ เราควรตั้งวัตถุให้ได้แนวตั้งฉากกับพื้น โดยการใช้ลูกดิ่งในการปรับให้เสา หรือวัตถุตั้งฉากกับพื้นในแนวดิ่งที่สุด แล้วคอยถ่ายภาพเปรียบเทียบในแต่ละช่วงเวลา
3. ถ่ายภาพท่อทรงกระบอกตั้งบนพื้นกระจกยกสูง
การถ่ายภาพวัตถุทางกระบอกตั้งตรงบนพื้นกระจกใสยกพื้น โดยมีฉากรับภาพเงาด้านล่าง เมื่อตำแหน่งดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นที่ เราจะเห็นแสงดวงอาทิตย์ลอดผ่านท่อทรงกระบอกทอดลงมา เป็นทรงกลมที่สมบูรณ์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงตำแหน่งของดวงอาทิตย์ที่ตั้งฉากกับพื้นได้เป็นอย่างดี
4. ถ่ายภาพอุปกรณ์ หุ่นยนต์ ของเล่น
สุดท้าย เราอาจหาของเล่น อุปกรณ์ต่าง มาตั้งวางเพื่อลองสังเกตเงาที่เกิดขึ้น ซึ่งวัตถุที่เป็นทรงกลม เงาที่เกิดขึ้นนั้น เราก็จะสังเกตเห็นเงาทรงกลมสมมาตรล้อมรอบวัตถุ ก็สามารถสื่อให้เห็นถึงตำแหน่งของแสงดวงอาทิตย์ที่อยู่ในแนวตั้งฉากได้เช่นกัน