ในปีนี้ถือเป็นการครบรอบ 50 ปีของการได้เยือนดวงจันทร์ ของโครงการอะพอลโล 11 ตรงกับวันที่ 21 กรกฎาคม ตามเวลาประเทศไทย คอลัมน์นี้เลยขอเอา ข้อแนะนำการถ่ายภาพดวงจันนทร์ให้ได้ภาพตำแหน่งการลงจอดของยานอะพอลโล 11 กันหน่อยครับ แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับโครงการอะพอลโล 11 กันสักหน่อยครับ
ภาพถ่ายบริเวณจุดลงจอดของยานอะพอลโล 11 บริเวณทะเลแห่งความเงียบสงบ (Sea of Tranquility) ด้วยเทคนิคการถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง จำนวน 25 ภาพ แล้วนำภาพทั้งหมดมา Stacking ด้วยโปรแกรม Registax
(ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon EOS-R / Lens : PlaneWave 0.7m CDK700 Telescope / Focal length : 4540 mm. / Aperture : f/6.5 / ISO : 100 / Exposure : 1/200 sec x 25 images)
โครงการอะพอลโล 11
อะพอลโล 11 เป็นยานอวกาศลำแรกที่ลงจอดบนผิวของดวงจันทร์สำเร็จขององค์การนาซา ยานอะพลอลโล 11 ถูกส่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโดยจรวด แซเทิร์น 5 (Saturn V) ศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) แหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1969 และ 3 วันต่อมา ตรงกับวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1969 เวลา 20:17 UTC Lunar Module ก็ลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ ในตำแหน่งที่มีชื่อว่า “ทะเลแห่งความเงียบสงบ (Sea of Tranquility)” ซึ่งเป็นที่ราบที่เกิดจากลาวาไหลท่วมผิวดวงจันทร์เมื่อนานมาแล้ว
ลูกเรือในยานประกอบด้วย นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) บัซซ์ อัลดริน (Buzz Aldrin) และ ไมเคิล คอลลินส์ (Michael Collins) นีล อาร์มสตรองถือเป็นมนุษย์คนแรกที่ลงมาประทับรอยเท้าบนดวงจันทร์ ตามมาด้วยอัลดริน ทั้งสองได้ติดตั้งกระจกสะท้อนเลเซอร์สำหรับวัดระยะห่างโลกกับดวงจันทร์ เครื่องวัดแผ่นดินไหว เครื่องวัด "ลมสุริยะ" และเก็บตัวอย่างหิน 22 กิโลกรัม นำกลับโลก รวมเวลาอยู่บนดวงจันทร์ 21 ชั่วโมง 36 นาที ใช้เวลานับตั้งแต่ออกเดินทางจนกลับถึงโลก 195 ชั่วโมง 18 นาที 35 วินาที กลับถึงโลกในวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1969
ยานอวกาศนั้นแบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก ได้แก่
1. Command Service Module หรือ CSM (ชื่อว่า Columbia) ทำหน้าที่เป็นยานแม่ บรรทุกลูกเรือภายในมีระบบจัดการหลักๆและเชื้อเพลิงที่ใช้ในการเดินทาง
2. Lunar Module หรือ LM (ชื่อว่า Eagle) เป็นยานที่ทำหน้าที่เดินทางจากยานแม่ เพื่อลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์พร้อมกับนักบินอวกาศ ได้แก่ นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) บัซซ์ อัลดริน (Buzz Aldrin)
ภาพตัวอย่างยาน Command Service Module (ซ้าย) กับ Lunar Module (ขวา)
การเดินทางสู่พื้นผิวดวงจันทร์ โดย นีล อาร์มสตรอง และ บัซซ์ อัลดริน จะเข้าสู่ Lunar Module แล้วแยกตัวเพื่อลงจอดบนดวงจันทร์ ส่วนไมเคิล คอลลินส์ ทำหน้าที่อยู่บน Command Service Module บังคับยานให้โคจรไปรอบ ๆ เพื่อรอรับยาน Lunar Module ก่อนที่จะเดินทางกลับมายังโลก
ภาพที่ถ่ายโดยยานสำรวจดวงจันทร์ (LROC) ระหว่างวันที่ 11 ถึง 15 กรกฎาคม 2552 แสดงภาพมุมสูงที่มีความละเอียดสูงของจุดลงจอดของยานอะพอลโล 11
ข้อแนะนำสำหรับการถ่ายภาพ จุดลงจอดยานอะพอลโล 11
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อน ว่าการถ่ายภาพนี้เป็นเพียงการถ่ายได้เฉพาะตำแหน่งที่ยานลงจอดเท่านั้น กล้องขนาดใหญ่บนโลกก็ยังไม่สามารถถ่ายภาพยาน Lunar Module หรือ LM (มีชื่อว่า Eagle) ได้นะครับ โดยภาพถ่ายข้างต้นที่พอจะเห็นเป็นภาพยานเล็กๆ นั้น เป็นภาพจากยานสำรวจดวงจันทร์ (LROC) ที่อยู่นอกอวกาศ
แต่อย่างไรก็ตาม นักถ่ายภาพอย่างพวกเราบนโลก ก็ยังพอจะสามารถถ่ายภาพบริเวณจดลงจอดได้ โดยการหาตำแหน่งก็ไม่ได้ยากมากนัก เราสามารถใช้จุดเด่นของหลุมอุกกาบาตช่วยในการค้นหาตำแหน่งในการถ่ายภาพได้ ดังรายละเอียดดังนี้
1. การหาตำแหน่งจุลงจอดจากหลุมอุกกาบาตคู่ Sabine กับ Ritter หรือ Moltke เป็นจุดอ้างอิงได้ ซึ่งบริเวณดังกล่าวจะอยู่บริเวณหัวกระต่ายบนดวงจันทร์
ภาพบริเวณจุดลงจอดยานอะพอลโล 11 โดยใช้ตำแหน่งของหลุมอุกกาบาตเป็นจุดอ้างอิงได้
2. ควรถ่ายภาพดวงจันทร์ในช่วงข้างขึ้น 7-8 ค่ำ เพื่อให้เห็นรายละเอียดของขอบหลุมอุกกาบาตจากเงาที่แสงตกกระทบ แต่ไม่แนะนำให้ถ่ายในช่วงดวงจันทร์เต็มดวง เนื่องจากภาพขอบหลุมจะไม่มีเงาแสงดวงจันทร์ทำให้ภาพแบนไม่เห็นคอนทราสของรายละเอียดพื้นผิวบนดวงจันทร์ ดังภาพเปรียบเทียบข้างล่าง
ภาพถ่ายบริเวณจุดลงจอดยานอะพอลโล 11 ในช่วง ข้างขึ้น 8 ค่ำ สามารถเห็นเงาของขอบหลุมได้ชัดเจน
ภาพถ่ายบริเวณจุดลงจอดยานอะพอลโล 11 ในช่วง ข้างขึ้น 15 ค่ำ ไม่สามารถเห็นเงาของขอบหลุมอุกกาบาตได้ชัดเจนนัก
3. ถ่ายภาพดวงจันทร์ขึ้น 8 ค่ำ ในตำแหน่งที่อยู่กลางท้องฟ้า (เวลาเที่ยงคืน ของช่วงข้างขึ้น 8 ค่ำ) หรืออยู่ในมุมเงยที่สูงที่สุด จะทำให้ได้ภาพดวงจันทร์ที่ใสเคลียร์ คมชัด
4. ใช้เทคนิคการถ่ายภาพดวงจันทร์แบบต่อเนื่อง จำนวนหลายๆภาพแล้วนำภาพทั้งหมดมา Stacking ก็จะทำให้ได้ภาพที่คมชัด มีรายละเอียดสูง และสามารถขยายภาพได้ใหญ่มากขึ้น
( เทคนิคการ ถ่ายภาพแบบต่อเนื่องและการ Stacking รายละเอียดตามลิงก์ : shorturl.at/cqGS4 )
การถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง ไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพบนกล้องโทรทรรศน์แบบตามดาวเสมอไป การถ่ายภาพแบบต่อเนื่องบนขาตั้งกล้องแบบมั่นคงก็สามารถนำภาพมา Stacking ได้เช่นกัน
5. สุดท้ายคือ การถ่ายภาพด้วยเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสสูง หรือถ่ายภาพด้วยกล้องโทรทรรศน์ จะได้เปรียบมากที่สุด ซึ่งหากใครที่สามารถไปหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ตามภูมิภาคต่างๆ (www.narit.or.th) ก็อาจขอเจ้าหน้าที่เค้าเสียบกล้องเพื่อถ่ายภาพดวงจันทร์ได้เช่นกันครับ ซึ่งเปิดให้บริการทุกๆคืน วันเสาร์ครับ