ในคอลัมน์นี้ขอเสนอภาพถ่ายจากซีกฟ้าใต้ ประเทศชิลี โดยสถานที่ในการออกไปเก็บภาพครั้งนี้เป็นจุดแวะพักรถระหว่างเส้นทางไปหอดูดาว Cerro Tololo เมือง La Serena ประเทศชิลี บริเวณหอดูดาวเป็นทะเลทรายที่มีความแห้งแล้งเกือบตลอดทั้งปี ซึ่งท้องฟ้าที่นี่มีความมืดสนิทและทัศนวิสัยที่ใสเคลียร์มาก สามารถสังเกตการณ์ท้องฟ้าได้มากกว่า 300 คืนขึ้นไป สมกับเป็นสถานที่ตั้งหอดูดาวระดับโลก หากใครที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวเพื่อการถ่ายภาพทางช้างเผือก หรือวัตถุท้องฟ้า กลุ่มดาว แล้วหล่ะก็การไปเยือนประเทศทางซีกฟ้าใต้สักครั้งก็ถือเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งของนักถ่ายภาพ
ทางช้างเผือกพาโนรามาและกาแล็กซีขนาดเล็ก 2 กาแล็กซี คือ กาแล็กซีเมฆแมกเจลแลนใหญ่ (LMC) และกาแล็กซีเมฆแมกเจลแลนเล็ก (SMC)
ภายโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark IV / Lens : Canon EF 16-35/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 5000 / Exposure : 30 sec x 13 images
จากภาพจะเห็นว่าภาพถ่ายทางช้างเผือก มีลักษณะกลับทิศ ต่างจากภาพถ่ายทางช้างเผือกในประเทศไทย รวมทั้งตำแหน่งของใจกลางทางช้างเผือกที่อยู่ในมุมสูงจากขอบฟ้าค่อนข้างมาก ทั้งนี้เนื่องจากแนวใจกลางทางช้างเผือกเป็นวัตถุท้องฟ้าทางซีกฟ้าใต้ ทำให้เราสามารถสังเกตเห็นได้ในมุมที่สูง ณ ประเทศทางซีกฟ้าใต้ นั่นเองครับ (ประเทศไทยเราตั้งอยู่ทางประเทศทางซีกโลกเหนือ)
ภาพถ่ายทางช้างเผือกคู่กับกาแล็กซีเมฆแมกเจลแลนใหญ่ (LMC ล่างซ้าย )และกาแล็กซีเมฆแมกเจลแลนเล็ก (SMC บนซ้าย)
ภายโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark II / Lens : Canon EF 15mm f/2.8 Fisheye / Focal length : 15 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 3200 / Exposure : 30 sec
ความพิเศษและแตกต่าง
ในการถ่ายภาพท้องฟ้าของซีกฟ้าใต้นั้น มีความแตกต่างและพิเศษกว่าท้องฟ้าบ้านเราคือ
1. สามารถสังเกตเห็นกลุ่มดาว และวัตถุท้องฟ้า ทางซีกฟ้าใต้ได้ดีกว่า
2. มีวัตถุท้องฟ้าที่อยู่ใกล้ขั้วฟ้าใต้ที่น่าสนใจ และที่เราไม่เคยเห็น เช่น กาแล็กซีเมฆแมกเจลแลนใหญ่ (LMC : Large Magellanic Cloud ) และกาแล็กซีเมฆแมกเจลแลนเล็ก (SMC : Small Magellanic Cloud ) ทางใต้เห็นได้ชัดเจนและง่ายมาก
3. ถ่ายภาพท้องฟ้ามุมกว้างครั้งเดียวได้มาทั้ง 3 กาแล็กซี
4. แนวใจกลางทางช้างเผือกอยู่สูงจากขอบฟ้ามาก ทำให้สามารถถ่ายภาพทางช้างเผือกในช่วงที่อยู่บนกลางท้องฟ้าได้ ซึ่งทำให้ได้ภาพที่ใสเคลียร์มาก จนภาพที่ได้ไม่ต้องปรับแต่งอะไรเลย ก็สามารถนำไปปริ้นภาพได้เลย
5. การทำ Polar Alignment ทางซีกฟ้าใต้ใช้ กลุ่มดาวสี่เหลี่ยมคางหมู ในกลุ่มดาวออกแทนต์ (Octant) ที่ใช้ในการอ้างอิง
ในช่องมองภาพ Polar Scope จะมีกลุ่มดาวสี่เหลี่ยมคางหมู ในกลุ่มดาวออกแทนต์ (Octant) ที่ใช้ในการอ้างอิงในการทำ Polar Alignment
ภาพถ่ายทางช้างเผือกด้วยเลนส์มุมกว้างพิเศษ Fisheye Lens
ภายโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark IV / Lens : Canon Lens Model: EF8-15mm f/4L Fisheye USM / Focal length : 8 mm. / Aperture : f/4.0 / ISO : 6400 / Exposure : 30 sec
ภาพถ่ายทางช้างเผือกจากเลนส์มุมกว้างพิเศษ Fisheye ที่สามารถเก็บภาพได้ครบทั้ง 360 องศา ตลอดทั่วทั้งท้องฟ้า แสดงให้เห็นตำแหน่งของแนวใจกลางทางช้างเผือกที่อยู่ในมุมสูงจากขอบฟ้ามาก ซึ่งเหมาะแก่การถ่ายภาพแนวใจกลางทางช้างเผือกแบบพาโนรามาเพื่อนำไปทำโปสเตอร์เป็นอย่างมาก (***ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายในช่วงคืนที่ออกไปถ่ายภาพ มีเวลาในการถ่ายไม่นานนัก จึงพลาดโอกาสเก็บภาพแนวทางช้างเผือกแบบพาโนรามาแบบกลางท้องฟ้ามา)
ภายโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark IV / Lens : Canon EF 16-35/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 4000 / Exposure : 30 sec
นอกจากนั้นความพิเศษของสถานที่ตั้งหอดูดาว Cerro Tololo เมือง La Serena ประเทศชิลี ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศ โดยมีอากาศแห้งแบบทะเลทรายแต่มีอากาศหนาวเย็น โดยทะเลทรายอาตากามา (Atacama) ของชิลีถูกจัดให้เป็นพื้นที่ที่แห้งแล้งและร้อนที่สุดในโลกซึ่งมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยเพียง 1 มิลลิลิตรต่อปีเท่านั้น และพื้นที่บางส่วนไม่เคยมีฝนตกเลย เส้นทางส่วนมากจึงมักมีแต่พวกต้นกระบองเพชรเท่านั้น และด้วยสภาพอากาศอันแห้งแล้งนี้ จึงทำให้เรามีโอกาสดีที่ไม่ว่าจะมาในช่วงเดือนไหน ท้องฟ้าที่นี่ก็มักจะใสเคลียร์เกือบตลอดทั้งปี
ดังนั้น ท้องฟ้าที่นี่หากใครได้มีโอกาสมาแล้ว อย่าลืมหาเวลาออกไปเก็บภาพทางช้างเผือกไว้สักหน่อย เพราะเป็นอะไรที่ถ่ายภาพได้ง่ายมากและถ่ายได้เกือบตลอดทั้งปี ซึ่งถือว่าเป็นไฮไลท์ของการถ่ายภาพแถวนี้เลยก็ว่าได้ ดังนั้นหากให้เปรียบเทียบไฮไลท์ของการถ่ายภาพระหว่างซีกฟ้าเหนือกับซีกฟ้าใต้ ก็น่าจะให้การถ่ายภาพดาวหมุน (Startrails) เป็นพระเอกของซีกฟ้าเหนือ และให้ทางช้างเผือกเป็นนางเอกของซีกฟ้าใต้ แล้วกันนะครับ