ในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ก็ถือเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูหนาวของประเทศไทยกันแล้ว และยังเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาวที่มีสภาพท้องฟ้าที่ใสเคลียร์เหมาะแก่การถ่ายภาพดวงดาว คอลัมน์นี้จึงอยากชวนผู้ที่หลงไหลการถ่ายภาพดวงดาว ออกไปถ่ายภาพในช่วงนี้กันดูครับ
หากเรามีเวลาสั้นๆ ในช่วงเย็นอาจลองออกไปถ่ายภาพเก็บแสงเย็นสวยๆ แล้วต่อด้วยภาพทางช้างเผือกโค้งสุดท้ายกัน ซึ่งจะใช้เวลาในการถ่ายภาพประมาณ 2 ชั่วโมง เราก็จะได้ภาพแสงต่างๆ ของท้องฟ้าในทิศตะวันตกที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา มาไว้เป็นคอลเลคชั่นภาพถ่ายดาราศาสตร์กันแล้วครับ ซึ่งในช่วงเวลา 2 ชั่วโมงนี้หากท้องฟ้าเป็นใจเราจะได้ทั้งภาพแสงรังสีครีพัสคิวลาร์ ภาพแสงสนธยา ภาพทางช้างเผือกกับแสงจักรราศี และภาพทางช้างเผือกโค้งแบบพาโนรามา เอาหล่ะครับเรามาดูกันว่าทั้ง 4 ภาพ เราจะสามารถถ่ายภาพกันได้อย่างไรบ้าง
ภาพรังสีครีพัสคิวลาร์ ในช่วงก่อนดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก
ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Sony A7 III / Lens : FE 24-70mm F4 ZA OSS / Focal length : 29 mm. / Aperture : f/8.0 / ISO : 800 / Exposure : 1/320 sec
สำหรับภาพแสงแรก ที่เราอาจได้พบเห็นช่วงเย็น ให้ลองลองสังเกตท้องฟ้าทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ตกดิน เรามักจะมีโอกาสได้เห็นท้องฟ้ามีสีสันแตกต่างกันไป โดยภาพแรกนี้เราเรียกกันว่าภาพ “รังสีครีพัสคิวลาร์” หรือแสงของเงาเมฆที่สาดออกไปสลับกับแสง โดยแสงที่เห็นจะมีทั้งแสงสีส้ม เหลือง ฟ้า สลับกันไปดูแปลกตาไปอีกแบบ แสงดังกล่าวเกิดจากบริเวณขอบฟ้ามีมวลอากาศหรือเมฆหนาบางต่างกัน ทำให้บริเวณขอบฟ้าที่มีเมฆหนาแสงที่มีความยาวสั้นกระเจิงออกไปหมดเหลือแต่แสงสีส้มแดง(แสงที่มีความความคลื่นยาว) ที่ผ่านมาได้
โดยเทคนิคถ่ายภาพแสงเย็นแบบง่ายๆ คือ ใช้ค่ารูรับแสง f/8.0 เพื่อให้ภาพชัดทั่วทั้งภาพ โดยเลือกโหมดถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ หรือการปรับเร่งความอิ่มสี(Saturation) เพื่อให้แสงสีสดขึ้น และค่าความไวแสง(ISO) ไม่สูงมากเพื่อให้ได้ภาพที่ใสเคลียร์ปราศจากสัญญาณรบกวน (Noise)
การถ่ายภาพแสงสนธยาทางทิศตะวันตก หลังจากดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าไปแล้ว 10-15 นาที
ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Sony A7 III / Lens : FE 24-70mm F4 ZA OSS / Focal length : 24 mm. / Aperture : f/8.0 / ISO : 1000 / Exposure : 1/50 sec
ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Sony A7 III / Lens : FE 24-70mm F4 ZA OSS / Focal length : 24 mm. / Aperture : f/8.0 / ISO : 800 / Exposure : 1/80 sec
ภาพที่สอง ต่อมาหลังจากดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ต่ำลงลับขอบฟ้า เราจะเริ่มสังเกตเห็นแสงสนธยา (Twilight) โดยเป็นช่วงเวลาหลังจากดวงอาทิตย์ตกไปแล้ว ประมาณ 10 – 15 นาที เมื่อแสงจากดวงอาทิตย์ที่ยังกระจายอยู่ในชั้นบรรยากาศชั้นบน ได้ส่องมายังชั้นบรรยากาศชั้นล่างและพื้นผิวโลก ทำให้ท้องฟ้าบริเวณใกล้กับขอบฟ้าเป็นสีเหลือง ส้ม หรือแดง ซึ่งเป็นช่วงที่ท้องฟ้าเปลี่ยนสี ช่วงนี้จะมีเวลาให้ถ่ายภาพประมาณ 5 นาทีทองให้เราได้ถ่ายภาพแสงที่สวยที่สุด และหลังจากนั้นท้องฟ้าก็จะเปลี่ยนเป็นสีดำมืดสนิท
สำหรับเทคนิคการถ่ายภาพแสงสนธยา (Twilight) จะพิเศษกว่าการถ่ายภาพแสงรังสีครีพัสคิวลาร์ นิดหน่อย โดยที่นิยมใช้กันคือเทคนิคการถ่ายภาพแบบ HDR (High Dynamic Range) หรือการถ่ายภาพคร่อมค่าแสง เช่น -3, -2, -1, 0, 1, 2, 3 เป็นต้น หลักการคือการนำเอาภาพถ่าย 3 ค่าแสงคือ แสงพอดี แสงอันเดอร์ แสงโอเวอร์ มารวมกันด้วยโปรแกรม Photoshop เป็นต้น เพื่อให้ได้ภาพที่มีความสว่างชัดเจนทั่วทั้งภาพทั้งส่วน เงามืด (shadow) ถึงส่วนสว่าง (Highlight)
โดยการถ่ายภาพแบบ HDR นั้น เราจะตั้งค่า รูรับแสง f/8.0 เท่ากันทุกภาพ และค่าความไวแสง(ISO) เท่ากัน แต่ปรับค่าความไวชัตเตอร์ต่างกัน เพื่อให้การเปิดรับแสงที่ต่างกัน (รายละเอียดอ่านเพิ่มเติม : http://www.narit.or.th/index.php/astro-photo-article/461-high-dynamic-range-hdr)
ภาพทางช้างเผือกในช่วงเดือนพฤศจิกายน ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 2500 / Exposure : 30 sec
ภาพทางช้างเผือกกับแสงจักรราศี ทางขอบฟ้าทิศตะวันตกเฉียงใต้
ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 2500 / Exposure : 30 sec
ภาพที่สาม เมื่อหมดแสงสนธยา ก็เริ่มเข้าสู่ช่วงเวลากลางคืนท้องฟ้าเริ่มมืดสนิท ในทิศตะวันตกเฉียงใต้ เราจะเริ่มสังเกตเห็นแนวทางช้างเผือก ซึ่งตำแหน่งใจกลางทางช้างเผือกจะอยู่ระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องกับกลุ่มดาวคนยิงธนู ในเดือนพฤศจิกายนนี้เราสามารถใช้ตำแหน่งของดาวพฤหัสบดีบอกตำแหน่งใจกลางทางช้างเผือกได้ ซึ่งดาวพฤหัสบดีจะสังเกตเห็นเป็นดาวสว่าง หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
ลักษณะของใจกลางทางช้างเผือกช่วงเดือนนี้จะตั้งตรงและค่อยๆ เคลื่อนตัวเอียงไปทางทิศเหนือในช่วงค่ำๆ และหากวันไหนที่บริเวณขอบฟ้าใสเคลียร์มากๆ ผนวกกับสภาพท้องฟ้าที่ปราศจากแสงรบกวน เราจะยังได้ภาพแสงจักรราศีติดมาในภาพถ่ายอีกด้วยเช่นกัน
สำหรับเทคนิคการถ่ายภาพแสงจักรราศีกับทางช้างเผือก แนะนำให้ถ่ายภาพด้วยค่ารูรับแสงกว้างๆ (f/2.8 เป็นต้น) และใช้เวลาการเปิดหน้ากล้อง ด้วยสูตรการคำนวณเวลาเปิดหน้ากล้อง (400/600) (รายละเอียด : http://www.narit.or.th/index.php/astro-photo-article/1186-rule-of-400-600) ตามด้วยค่าความไวแสง ค่าตั้งต้นประมาณ ISO 2500 – 3200
ภาพถ่ายแนวทางช้างเผือกพาโนรามา ด้วยการถ่ายภาพต่อกันทั้งหมด 17 ภาพ
(ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Sony A7 III / Lens : Canon EF 16-35mm f/2.8L / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 3200 / Exposure : (30s x 17 Images)
ภาพสุดท้ายก่อนกลับบ้าน เป็นช่วงสุดท้ายของการถ่ายภาพ ถือเป็นอีก 1 ชั่วโมงสุดท้าย ที่เราจะสามารถเก็บภาพทางช้างเผือกแบบพาโนรามาได้อีก 1 ภาพ โดยในการถ่ายภาพนั้นเราจะต้องรอให้แนวทางช้างเผือกเคลื่อนตัวต่ำลงมา โดยควรอยู่สูงจากขอบฟ้าไม่เกิน 50 องศา โดยประมาณ เพื่อให้เลนส์มุมกว้างปกติทั่วไป สามารถเก็บภาพในแนวตั้งได้
โดยเทคนิคการถ่ายภาพ คือการถ่ายภาพแบบแนวตั้ง เริ่มจากทางฝั่งซ้ายมือของภาพ แล้วค่อยๆ ถ่ายไล่ไปทางขวา เนื่องจากบริเวณใจกลางทางช้างเผือกจะเริ่มอยู่ในมุมต่ำแล้ว และเมื่อเราค่อยๆ ถ่ายภาพพาโนรามาไปเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันแนวทางช้างเผือกก็จะค่อยๆ เอียงลงใกล้ขอบฟ้าไปด้วยเช่นกัน
สำหรับการตั้งค่ากล้องถ่ายภาพก็เหมือนกับการถ่ายภาพทางช้างเผือกปกติทั่วไป (ตั้งค่าเดียวกันกับการถ่ายแสงจักรราศีกับทางช้างเผือก) เพียงแค่เราต้องดูก่อนว่าแนวทางช้างเผือกต่ำพอที่จะถ่ายภาพพาโนรามาได้หรือไม่ และถ่ายจากซ้ายไปขวาเท่านั้น
ทั้งหมดนี้ ก็เป็น 2 ชั่วโมงกับการเริ่มต้นฤดูกาลถ่ายดาว ซึ่งในเวลาสั้นๆ หากฟ้าใสเคลียร์ก็ทำให้เราได้ภาพแสงสวยๆ กลับบ้านกันแล้วครับ