สิ่งควรรู้ก่อนออกไปสู้ถ่าย Deep Sky Objects (ตอนที่ 2)

คอลัมน์นี้ต่อจากสองสัปดาห์ก่อน จากที่ทำความรู้จักกับประเภทของวัตถุท้องฟ้าแต่ละประเภทกันแล้ว สิ่งที่เราควรทราบสำหรับการถ่ายภาพ Deep Sky Objects ต่อไปก็คือ การเตรียมการถ่ายภาพวัตถุ ซึ่งประกอบด้วยการเลือกวัตถุที่ต้องการถ่ายภาพ การหามุมรับภาพที่เหมาะสม การตรวจสอบปฏิทินดวงจันทร์ การหาข้อมูลสภาพอากาศบริเวณที่เราจะใช้เป็นจุดถ่ายภาพ และการเรียนรู้กระบวนการประมวลผลภาพถ่าย ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่นักถ่ายภาพ Deep Sky Objects ควรทราบก่อนออกไปถ่ายภาพกันครับ โดยมีรายละเอียดดังนี้

001

ภาพเนบิวลาแห่งหัวใจและจิตวิญญาณ (Heart and Soul Nebula) เป็นเนบิวลาชนิดเปล่งแสงที่มีแสงสว่างในตัวเอง เกิดจากการเรืองแสงของอะตอมของไฮโดรเจนที่อยู่ในสถานะไอออน เนบิวลาชนิดนี้ส่วนใหญ่จะมีสีแดงจากไฮโดรเจน 

ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Mount : Takahashi EM-200 Temma 2 / Lens : Takahashi FSQ-85ED / Focal length : 450 mm. / Aperture : f/5.3 / ISO : 2500 / WB : 5500K / Exposure : Light (180 sec x 9 images) Dark (180 sec x 9 images) Flat (1 sec x 9 images) Bias(1/8000 sec x 9 images)

1. การเลือกวัตถุท้องฟ้าที่สามารถถ่ายภาพได้

002

ภาพที่ 1 คือตัวอย่างวัตถุท้องฟ้าทางทิศเหนือ ในช่วงเดือนธันวาคมที่สามารถใช้เป็นเป็นวัตถุเริ่มต้นในการถ่ายภาพ Deep Sky Objects ได้แก่ กาแล็กซีแอนโดรเมดา (M31) กาแล็กซีรูปกังหัน (M33) เนบิวลาสะท้อนแสงในกระจุกดาวลูกไก่ (M45) กระจุกดาวคู่ และเนบิวลาเปล่งแสง Heart and Sole เป็นต้น 

003

ภาพที่ 2 คือตัวอย่างภาพวัตถุท้องฟ้าในช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งจะโผล่ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกในช่วงกลางดึก ประกอบด้วยวัตถุท้องฟ้าหลากหลายประเภท เช่น เนบิวลาสว่างใหญ่ในกลุ่มดาวนายพราน (M42) เนบิวลาหัวม้า (Horse Head Nebula) ซึ่งเป็นเนบิวลามืด เนบิวลาหัวแม่มด (Witch Head Nebula) เป็นเนบิวลาสะท้อนแสง เนบิวลาดอกกุหลาบ (Rosette Nebula) เป็นเนบิวลาแบบเปล่งแสง กระจุกดาวเปิด (M41) และเนบิวลาบริเวณกลุ่มดาวนายพราน Barnard’s Loop ก็เป็นอีกหลายวัตถุที่สามารถเลือกถ่ายภาพได้ด้วยอุปกรณ์กล้องถ่ายภาพที่มีความยาวโฟกัสที่หลากหลาย

2. การหามุมรับภาพ

004

ตัวอย่างการหามุมรับภาพจากโปรแกรม Stellarium

        หลังจากที่เราเลือกวัตถุท้องฟ้าที่ต้องการและสามารถถ่ายภาพได้แล้ว ควรตรวจเช็คมุมรับภาพก่อนเสมอ เพื่อความแน่นอนในการเลือกอุปกรณ์ (เลนส์ หรือ กล้องโทรทรรศน์) ที่เหมาะสมในการถ่ายภาพให้สามารถเก็บรายละเอียดของวัตถุได้ครบทั้งหมด โดยรายละเอียดสามารถอ่านต่อได้ตามลิงก์ : shorturl.at/mDE09

3. ตรวจสอบปฏิทินดวงจันทร์

005

        นอกจากการเลือกวัตถุและการเช็คมุมรับภาพของวัตถุท้องฟ้าที่ต้องการถ่ายภาพแล้ว อย่าลืมตรวจสอบปฏิทินดวงจันทร์ คือ การขึ้น-ตก ของดวงจันทร์ในแต่ละวันด้วย เนื่องจากแสงสว่างจากดวงจันทร์ทำให้เราไม่สามารถถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าซึ่งมีความสว่างน้อยๆได้เลย ดังนั้น ก่อนออกไปถ่ายภาพต้องตรวจสอบปฏิทินดวงจันทร์ก่อนเสมอ

4. การหาข้อมูลสภาพอากาศบริเวณที่เราเลือกเป็นจุดถ่ายภาพ

006

        เมื่อได้สถานที่ถ่ายภาพ Deep Sky Objects แล้ว ควรตรวจสอบว่าบริเวณดังกล่าวมีสภาพอากาศอย่างไร มีความชื้นสูงหรือไม่ ซึ่งกรณีที่จุดถ่ายภาพอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำก็อาจมีความชื้นในอากาศสูงในช่วงที่เราถ่ายภาพ ซึ่งต้องใช้เวลาในการถ่ายภาพหลายชั่วโมง ดังนั้นเราอาจติดตั้งอุปกรณ์แถบความร้อนกันความชื้นกับกล้องถ่ายภาพไว้ก่อนก็ถือเป็นอีกสิ่งที่จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพ Deep Sky Objects 

        รายละเอียดการสร้างแถบความร้อนกันความชื้น อ่านต่อได้ตามลิงก์ : shorturl.at/lGJKN

5. การเรียนรู้กระบวนการโปรเซสภาพถ่าย (Image Processing)

007

        อีกสิ่งสุดท้ายสำหรับพื้นฐานก่อนออกไปถ่ายภาพ Deep Sky Objects ก็คือการทำความเข้าใจกับกระบวนการโปรเซสภาพถ่าย โดยภาพที่จำเป็นสำหรับการโปรเซสภาพ เบื้องต้นจะต้องประกอบด้วยภาพ 1. Light Frame (ภาพถ่ายวัตถุท้องฟ้า) 2. Dark Frame 3. Flat Frame 4. Bias Frame  อ่านรายละเอียดการถ่ายภาพ Deep Sky Objects เพิ่มเติมตามลิงก์ : shorturl.at/dhx09

        ซึ่งโปรแกรมที่นักดาราศาสตร์สมัครเล่นนิยมใช้ เช่น โปรแกรม DeepSkyStacker ซึ่งเป็นฟรีแวร์ที่สามารถทดลองดาวน์โหลดมาใช้งานได้ ตามลิงก์ : http://deepskystacker.free.fr/english/index.html