ปรากฏการณ์จันทรุปราคาที่น่าติดตามในปี 2563

ในวันที่ 11 มกราคม 2563 ที่ผ่านมาเกิดปรากฏกาณณ์จันทรุปราคาครั้งแรกในรอบปี 2563 ในวันดังกล่าว ผมได้มีโอกาสถ่ายภาพปรากฏการณ์ ซึ่งคืนดังกล่าวสามารถมองเห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาแบบเงามัวได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า อย่างไรก็ตามในช่วงปีนี้เรายังสามารถติดตามถ่ายภาพปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัวได้ ในวันที่ 6 มิถุนายน 2563 เวลาที่ดวงจันทร์ถูกบังมากที่สุด 02.24 น.  และวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 เวลาที่ดวงจันทร์ถูกบังมากที่สุด 16.42 น. 

001

ภาพปรากฏการณ์จันทรุปราคาแบบเงามัว วันที่ 11 มกราคม 2563

(ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon1DX / Lens : Takahashi TOA 150 + Extender 1.5X / Focal length : 1650 mm. / Aperture : f/11 / ISO :  200 / Exposure : 1/400 sec)

002

ภาพเปรียบเทียบดวงจันทร์เต็มดวงก่อนเกิดปรากฏกาณณ์ กับช่วงที่ดวงจันทร์ถูกบังมากที่สุด

        ในการถ่ายภาพปรากฏการณ์จันทรุปราคาแบบเงามัวนั้น ควรถ่ายในช่วงที่ดวงจันทร์เข้าไปในเงามากที่สุด เนื่องจากเงามัวของโลกที่บังดวงจันทร์นั้น ทำให้ความสว่างของดวงจันทร์ลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งหากใครที่พลาดการถ่ายภาพปรากฏการณ์ในววันที่ 11 มกราคม 2563 ที่ผ่าน ในปีนี้ยังเหลืออีก 2 ครั้ง แต่ครั้งที่น่าจะมีโอกาสได้ภาพสวยๆ นั้น น่าจะเป็นในวันที่ 6 มิถุนายน 2563 เนื่องจากช่วงเวลาและตำแหน่งของดวงจันทร์ อยู่ในมุมที่สูงจากขอบฟ้า ดังภาพตัวอย่างด้านล่าง

003

ภาพจำลองตำแหน่งดวงจันทร์ ขณะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว ในช่วงที่ดวงจันทร์ถูกเงามัวของโลกบังมากที่สุด เวลา 02.24 น.  

004

ภาพจำลองดวงจันทร์ขณะถูกเงามัวของโลกบังมากที่สุด

เทคนิคการถ่ายภาพปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว

1. เปิดจอ LCD หลังกล้องเพื่อช่วยในการโฟกัสภาพดวงจันทร์ให้ชัดที่สุด โดยเลือกจุดโฟกัสบริเวณหลุมบนดวงจันทร์

2. ใช้ค่า ISO ประมาณ 100 – 200 เนื่องจากดวงจันทร์มีความสว่างมากอยู่แล้ว

3. ถ่ายภาพผ่านกล้องโทรทรรศน์หรือเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสสูงๆ เพื่อให้เห็นรายละเอียดของเงามัวชัดเจนมากที่สุด (จากภาพถ่ายเบื้องต้น ผู้ถ่ายใช้เลนส์ทางยาวโฟกัส 1200 mm.)

4. ถ่ายภาพด้วยวิธีการตรวจสอบค่ากราฟ Histogram โดยกราฟนี้จะแสดงปริมาณความสว่างที่เริ่มต้นจากมืดสุด (ดำ) ค่าความสว่างคือ 0% และความสว่างที่สุด (ขาว) คือความสว่าง 100%

005

    กราฟทางด้านซ้ายคือส่วนมืดครับ ส่วนด้านขวาเป็นส่วนสว่างในภาพ ส่วนตรงกลางจะเป็น Midtone ซึ่งอยู่ระหว่างส่วนมืดและสว่าง นอกจากนี้แกนแนวตั้งของจะเป็นการบอกปริมาณของความสว่างที่เฉพาะเจาะจงในโทนนั้น มีค่า 0-255 (0 คือมืดสุด 255 คือสว่างที่สุด)

    โดยการถ่ายภาพควรให้กราฟมีลักษณะเป็นรูประฆังคว่ำ เพื่อเก็บรายละเอียดของส่วนมืดและส่วนสว่างได้ครบ และเห็นรายละเอียดของส่วนเงามัวได้ชัดเจน ซึ่งกราฟไม่ควรเบนไปทางขวามากเกินเพราะจะทำให้ดวงจันทร์สว่างโอเวอร์ จนมองไม่เห็นรายละเอียดของเงามัวได้

ความพิเศษของการถ่ายภาพดวงจันทร์ในช่วงคืนที่เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา

006

    ความพิเศษของปรากฏการณ์จันทรุปราคา คือ หากเราถ่ายภาพดวงจันทร์ก่อนหรือหลังเกิดปรากฏการณ์ จะทำให้ได้ภาพดวงจันทร์เต็มเฟสเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปกติในช่วงดวงจันทร์เต็มดวงหากสังเกตบริเวณของขอบดวงจันทร์จะพบว่ามีขอบดวงจันทร์ด้านใดด้านหนึ่งที่เห็นขอบมืดเล็กอยู่เสมอ 

    โดยสาเหตุที่ดวงจันทร์คืนวันเพ็ญ ไม่ได้มีเฟสเต็มดวง 100% เพราะว่าระนาบวงโคจรของดวงจันทร์เอียงไปราว 5 องศา ทำให้ดวงจันทร์อยู่เหนือระนาบวงโคจรโลก เราจะเห็นขอบมืดๆเล็กน้อยทางฝั่งใต้ ขณะที่ถ้าดวงจันทร์อยู่ใต้วงโคจรโลก เราจะเห็นขอบมืดๆเล็กน้อยทางฝั่งเหนือ

007

    แต่ในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ระนาบวงโคจรของดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์เรียงอยู่ในแนวเดียวกัน ทำให้ผู้สังเกตบนโลกเห็นพื้นผิวของดวงจันทร์ได้รับแสงของดวงอาทิตย์ในแนวตรง ภาพดวงจันทร์ที่ปรากฏจึงมีความสว่างสม่ำเสมอทั่วทั้งผิวดวงจันทร์เท่ากัน ซึ่งทำให้เราได้ถ่ายดวงจันทร์ที่เต็มดวงมากที่สุดนั่นเอง