เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมายังอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ทรงเปิดการประชุมกาแล็กซี ฟอรัม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2020 ประเทศไทย (Galaxy Forum Southeast Asia 2020)
คณะนักวิจัยด้านประวัติศาสตร์และมรดกดาราศาสตร์ไทยและอาเซียน ได้ถวายรายงานกิจกรรมของคณะที่ได้ดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา อาทิ ความสัมพันธ์ระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับจักรวาลวิทยาแบบฮินดู นักดาราศาสตร์เยซูอิดชาวฝรั่งเศสในสมันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช การสังเกตการณ์อุปราคาในประเทศไทย โดยนักดาราศาสตร์ชาวยุโรปในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 9 และบุคคลสำคัญในวงการดาราศาสตร์ไทย
ในการนี้ ผศ.ดร.ศิรามาศ โกมลจินดา ได้ถวายรายงานการวิจัยในหัวข้อ “การสืบค้นเชิงดาราศาสตร์โบราณคดีการวางผังเมืองเชียงใหม่ เทียบกับหลักวาสตุศาสตราในพระคัมภีร์สถาปัตย์เวท” ซึ่งเป็นผลงานวิจัยร่วมกันระหว่างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
งานวิจัยนี้ได้ศึกษาการวางผังเมืองเชียงใหม่สมัยแรกสร้างโดยพญามังรายมหาราชในปี พ.ศ. 1839 จากหลักฐานที่ปรากฏ อาทิ จารึกวัดเชียงมั่น ความเชื่อ ประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ และที่สำคัญจากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ที่บันทึกในพับสาใบลาน ที่ได้กล่าวถึงการเลือกที่ตั้งเมืองด้วยชัยภูมิเจ็ดประการ อาทิ มีภูเขาอยู่ฝั่งตะวันตก มีแม่น้ำไหลผ่านทางทิศเหนือ และทิศตะวันออกมีหนองน้ำขนาดใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ การลาดเอียงของพื้นดิน รวมถึงการวางทักษาเมือง ความเชื่อเรื่องทิศมงคลและอัปมงคล การเลือกขนาดและรูปร่างผังเมืองที่เป็นรูปสี่เหลื่ยมโดยมีการวางตำแหน่งวัดสำคัญ ๆ รวมทั้งตำแหน่งเสาอินทขีล อีกทั้งการเลือกฤกษ์มงคลในการเข้ามาจับจองชัยภูมิและเลือกวันเวลาในการเริ่มสร้างเมือง ทั้งหมดล้วนสอดคล้องกับการวางผังเมืองตามหลักวาสตุศาสตราในพระคัมภีย์สถาปัตย์เวท นอกจากนี้พบว่ามีความเป็นไปได้ที่ผังเมืองถูกวางด้วยวาสตุบุรุษมณฑลแบบ 9 x 9 โดยเทียบจากตำแหน่งพื้นที่ศูนย์กลาง วัดสำคัญ แนวถนน รวมถึงแนวประตูและกำแพงเมืองเชียงใหม่