27 ฤกษ์นักษัตรล้านนา
ภูมิปัญญาทางดาราศาสตร์ สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมของมนุษย์อยู่หลายประการ วิถีชีวิตมนุษย์มีความผูกพันกับวัตถุท้องฟ้าและปรากฏการณ์ธรรมชาติบนฟากฟ้า มานับเป็นเวลาช้านานแล้ว ทุกเช้าดวงอาทิตย์ลูกไฟดวงใหญ่ปรากฏที่ขอบฟ้าด้านตะวันออกให้ความสว่างและความอบอุ่นแก่พื้นพิภพ ทำให้มนุษย์ดำเนินกิจวัตรประจำวันได้อย่างสะดวกสบาย พอตกเย็นดวงอาทิตย์เคลื่อนที่คล้อยลับขอบฟ้าด้านตะวันตก ความมืดแผ่ปกคลุมพื้นดิน ดาวจำนวนมหาศาลปรากฏระยิบระยับบนท้องฟ้า กลุ่มดาวกลุ่มแล้วกลุ่มเล่าทยอยปรากฏจากขอบฟ้าด้านตะวันออก บางคืนก็ปรากฏดวงจันทร์ที่ให้ความสว่างแก่พื้นพิภพในยามค่ำคืน เต็มดวงบ้าง เป็นเสี้ยวบ้าง หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันไป ปรากฏการณ์บนท้องฟ้าเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อเนื่องกันอย่างสม่ำเสมอเป็นวัฏจักร
เนื่องจากมนุษย์มีความสามารถพิเศษเหนือสัตว์โลกชนิดอื่น ๆ กล่าวคือ มนุษย์ช่างสังเกตและรู้จักคิดอย่างมีเหตุผล สามารถสังเกตและเข้าใจวัฏจักรแห่งธรรมชาติเหล่านั้นได้ และรู้จักดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับวัฏจักรเหล่านั้น มนุษย์สามารถสังเกตตำแหน่งการ ขึ้น–ตก ของดวงอาทิตย์ และปรากฏการณ์ของกลุ่มดาวสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์เริ่มดีขึ้น เมื่อพวกเขารู้ว่า เมื่อใดควรเริ่มเพาะปลูก เมื่อใดควรเริ่มเก็บเกี่ยว เมื่อใดควรเริ่มสะสมอาหารเพื่อเตรียมไว้บริโภคในฤดูหนาว มนุษย์เริ่มรู้จักใช้ดาวเป็นสิ่งกำหนดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมนุษย์เริ่มเปลี่ยนสภาพการดำรงชีวิตแบบป่าเถื่อน มาอยู่ในระดับที่เจริญขึ้น โดยมีการดำรงชีวิตที่เน้นทางด้านกสิกรรม หรือ เกษตรกรรม มนุษย์ยิ่งต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นจังหวะ ของธรรมชาติเหล่านั้นมากขึ้น
จังหวะของธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการ ขึ้น–ตก ประจำวันของดวงอาทิตย์ การเปลี่ยนลักษณะของดวงจันทร์ในแต่ละเดือน การเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง ขึ้น–ตก ของดวงอาทิตย์ในรอบปี ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของดวงอาทิตย์ไปตามกลุ่มดาวจักราศี หรือการเปลี่ยนตำแหน่งของดวงจันทร์ไปตามกลุ่มดาวนักษัตร ทำให้มนุษย์รู้จักพัฒนาระบบเวลาขึ้นมาใช้ในการดำเนินกิจวัตรประจำวัน ดังนั้นการสร้างสิ่งก่อสร้าง เช่น วัด อนุสาวรีย์ หรือ ศาสนสถาน จึงมีการวางตำแหน่งอย่างพอเหมาะพอดีกับทิศทางการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ หรือดวงจันทร์ หรือกลุ่มดาว ณ เวลาต่าง ๆ และเมื่อวัตถุท้องฟ้าต่าง ๆ ปรากฏ ณ ตำแหน่งที่หมายไว้ ก็จะมีการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ดังนั้น ดาว ฤดูกาล และวัฒนธรรม จึงมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับมนุษย์มาเป็นเวลาช้านานแล้ว
มนุษย์รู้จักใช้การเคลื่อนที่ของวัตถุท้องฟ้ามาใช้กำหนดการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม จึงมีการสร้างแผนที่ดาวจากการสังเกตกลุ่มดาวต่าง ๆ ที่ปรากฏบนท้องฟ้า มีความเข้าใจในการเปลี่ยนตำแหน่งของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ตามกลุ่มดาวต่าง ๆ ณ วันและเวลาต่าง ๆ มนุษย์จึงสามารถคำนวณตำแหน่งของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ
แหล่งอารยะธรรมต่าง ๆ บนพื้นโลก จึงปรากฏหลักฐานมากมายที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ วัฒนธรรมของล้านนาที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาทางดาราศาสตร์ก็มีลักษณะคล้าย คลึงกับวัฒนธรรมของท้องถิ่นอื่น เนื่องจากองค์ความรู้ทางดาราศาสตร์มีการถ่ายทอดจากแหล่งอารยะธรรมหนึ่งไปสู่ อีกแหล่งอารยะธรรมหนึ่งได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถ่ายทอดผ่านทางศาสนา แต่ก็ได้นำมาปรับปรุงให้เหมาะสมและเข้ากับวิถีชีวิตกับชาวล้านนา ดังนั้น ชาวล้านนาจึงรู้จักดาราศาสตร์เป็นอย่างดี และรู้จักประยุกต์วิชาดาราศาสตร์มาใช้ในการทำปฏิทินกำหนดเวลา รวมทั้งการเอาดวงดาวมาใช้ทางโหราศาสตร์ ดังปรากฏอยู่ในแผนที่ตารางดาวล้านนา ที่ได้มีการจารึกไว้นานแล้วในอดีต และได้มีการคัดลอกสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
ดาวช้างหลวง
ดาวช้างหลวง (ดาวจ้างหลวง) หรือกลุ่มดาวจ้างหลวงของชาวล้านนาเป็นกลุ่มดาวที่มีการบันทึกอยู่ในพับสาตำราดาวเกือบทุกฉบับที่พบ โดยดาวช้างหลวงที่พบนั้นมักจะปรากฏอยู่ในช่องกลางของผังดาวล้านนา ภาพที่แสดงถึงดาวช้างหลวงสามารถพบได้สองแบบ คือ แบบที่เป็นภาพวาดรูปช้างกับแบบที่เป็นจุดแทนตำแหน่งดาวแล้วมีลากเส้นเชื่อมไปตามจุดดาวทั้ง 7 ดวง โดยดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามดาวสากลของดาวช้างหลวง คือ ดาวแอลฟา เออร์ซี เมเจอรีส (Alpha Ursae Majoris) มีชื่อสามัญว่า “ดาวดับบีหรือดาวดูเบ” (Dubhe) ดาวบีตา เออร์ซี เมเจอรีส (Beta Ursae Majoris) มีชื่อสามัญว่า “ดาวเมอแร็ก” (Merak) ดาวแกมมา เออร์ซี เมเจอรีส (Gamma Ursae Majoris) มีชื่อสามัญว่า “ดาวเฟคดา” (Phecda) ดาวเดลตา เออร์ซี เมเจอรีส (Delta Ursae Majoris) มีชื่อสามัญว่า “ดาวมีเกรซ” (Megrez) ดาวเอปซิลอน เออร์ซี เมเจอรีส (Epsilon Ursae Majoris) มีชื่อสามัญว่า “ดาวแอลลีออธ” (Alioth) ดาวซีตา เออร์ซี เมเจอรีส (Zeta Ursae Majoris) มีชื่อสามัญว่า “ดาวไมซาร์” (Mizar) ดาวอีต้า เออร์ซี เมเจอรีส (Eta Ursae Majoris) มีชื่อสามัญว่า “ดาวแอลเคด” (Alkaid)
นักษัตรที่ 1 ดาวม้าหางฮ่อน : อัศวินี
อัศวินีหรือในภาษาบาลีเรียกว่า “ดาวอัสสยุชะ” เป็นกลุ่มแรกของฤกษ์นักษัตรทั้ง 27 กลุ่ม คำว่า “อัศวินี” มาจากคำในภาษาสันสกฤต “อัศว” หมายถึง “ม้า” และอัศวินีหมายถึง “ม้าตัวเมีย” นักษัตรนี้ประกอบด้วยดาว 3 ดวง เรียงตัวเป็นรูปเหมือนม้าตามที่ชาวฮินดูโบราณจิตนาการว่ากลุ่มดาวนี้มีลักษณะเป็นส่วนหัวของม้า ถึงแม้ว่าอาณาจักรล้านนาจะได้รับอิทธิพลองค์ความรู้ดาราศาสตร์มาจากชมพูทวีป แต่ชาวล้านนาก็มีรูปจิตนาการกลุ่มดาวนักษัตรเป็นของตัวเอง โดยชาวล้านนาจะเรียกชื่อกลุ่มดาวอัศวินีว่า “ดาวม้าหางฮ่อน” หรือ “ดาวม้าหางหอน” โดยความหมายของคำว่า “ม้าหางฮ่อน” คือหางของม้าที่พลิ้วขณะกำลังวิ่ง ก่อนจากนี้ยังพบชื่อที่แตกต่างกันออกไปอีกเช่นเรียกว่า “ดาวม้าตก”
ดาวม้าหางฮ่อนประกอบด้วยดาวจำนวน 5 ดวง เมื่อนำผังดาวไปเทียบกับตำแหน่งดาวบนท้องฟ้าจริงพบว่าดาวทั้ง 5 ดวง ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามแผนที่ดาวสากลของดาวม้าหางฮ่อนกระจายอยู่ในกลุ่มดาวสากล 4 กลุ่ม คือ ดาวฤกษ์ที่อยู่บริเวณส่วนหัวของกลุ่มดาวแกะ 2 ดวง ดาวที่สว่างสุดที่จะช่วยหาดาวม้าหางฮ่อน คือ ดาวแอลฟา เอเรียตีส (Alpha Arieties) มีชื่อสามัญว่า ดาวฮามาล (Hamal) และดาวบีตา เอเรียตีส (Beta Arieties) มีชื่อสามัญว่า “ดาวเชอร์ราแทน” (Sheratan) ดาวสมาชิกที่จางที่สุดในกลุ่มดาวม้าหางฮ่อนในกลุ่มดาวปลาคู่คือดาวอีต้า พิชชีอัม (Eta Piscium) มีชื่อสามัญว่าดาวคูลแลท นูนู (Kullat Nunu) ในกลุ่มดาวสามเหลี่ยมคือดาวบีตา ไทรแองกูลัม (Beta Triangulum) มีชื่อสามัญว่าดาวไมซัน (Mizan) และดาวดวงสุดท้ายอยู่ในกลุ่มดาวแอนโดรเมดามีคือดาวแกมมา แอนโดรเมดี (Gamma Andromedae) มีชื่อสามัญว่าดาวอัลแมค (Almach)
นักษัตรที่ 2 ดาวเขียงก้อม : ภรณี
ภรณีเป็นฤกษ์นักษัตรที่ 2 ที่อยู่ถัดจากดาวอัศวินี ประกอบด้วยดาวสามดวงเรียงตัวกันเป็นรูปสามเหลี่ยมและในโหราศาสตร์อินเดียเรียกว่า “ยเมศ” (Yamesha) หรือ “ยามยฺ” (Yamya) ส่วนมากมักจะจิตนาการเป็นตัวแทนของ “โยนี” (Yoni) ซึ่งเป็นอวัยวะเพศของผู้หญิง ถือเป็นดาวแห่งความยับยั้งชั่งใจ เป็นตัวแทนของมดลูกและแสดงให้เห็นว่ามันสามารถซ่อนสิ่งต่าง ๆ ได้ แต่ชาวล้านนามีรูปจิตนาการกลุ่มดาวนักษัตรนี้เป็นเหมือน “เขียงก้อม” หมายถึงเขียงที่มีหลุมลึกตรงกลางที่เกิดจากการใช้งานอย่างหนัก นอกจากนี้ยังพบบันทึกบางส่วนเรียกนักษัตรภรณีว่า “ดาวก้อนเส้า” ก้อนเส้า คือ เตาไฟโบราณ ซึ่งสมัยก่อนชาวบ้านใช้เป็นเตาไฟในการหุงข้าว ทำกับข้าว เป็นการนำเอาก้อนหินที่มีขนาดใกล้เคียงกัน 3 ก้อนมาวางเรียงกันเป็นรูปสามด้านเท่าแล้วจึงก่อไฟตรงกลาง ปัจจุบันเตาไฟแบบก้อนเส้าก็ยังมีการใช้งานอยู่
ตำแหน่งของดาวเขียงก้อมเมื่อเทียบกับดาวบนท้องฟ้าพบว่าเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในกลุ่มดาวแกะเช่นกันกับดาวม้าหางฮ่อนแต่อยู่บริเวณส่วนหางของแกะประกอบด้วยดาว 3 ดวง เรียงกันเป็นรูปสามเหลี่ยม ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามดาวสากลของดาวเขียงกอม คือ ดาว 41 เอเรียตีส (41 Arietis) ดาว 35 เอเรียตีส (35 Arietis) และดาว 39 เอเรียตีส (39 Arietis)
นักษัตรที่ 3 ดาววี : กฤติกา
กฤติกาเป็นฤกษ์นักษัตรที่ 3 อยู่ในบริเวณกลุ่มดาววัว ชื่อของนักษัตรนี้ในภาษาสันสกฤตคือ “กฤตฺติกา” (Krittika) นอกจากนั้นยังมีชื่ออีกว่า “อาคฺเนย” (Agneya) กับ “เหาตภุช” (Hautabhuja) ในคัมภีร์โหราศาสตร์ฮินดูที่ชื่อคัมภีร์ชโยติษ กฤตฺติกาชื่อนี้แปลตามตัวอักษรว่า “เครื่องตัด” นอกจากนี้กฤตติกายังเป็นที่รู้จักกันในนาม “ดวงดาวแห่งเทพอัคคี” และยังเป็นชื่อหนึ่งในเทพธิดา 27 องค์ ลูกสาวของเทพทักษะ (Daksha) กับเทพีปัญจจานี (Pāncajanī) คู่สมรสของกฤติกาคือจันทราเทพ (พระจันทร์)
ชาวล้านนาเรียกนักษัตรกฤติกาว่า “ดาววี” ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามดาวสากลของดาววี คือ กระจุกดาวลูกไก่ ซึ่งเป็นกระจุกดาวเปิดที่มีจำนวนสมาชิกหลายร้อยดวงที่อยู่ภายใต้แรงโน้มถ่วงซึ่งกันและกัน แต่เมื่อมองด้วยตาเปล่าจะเห็นได้เพียง 6 – 8 ดวง เท่านั้น ด้วยลักษณะการเรียงตัวที่มีความโดดเด่นชาวล้านนาจิตนาการการเรียงตัวของดาวคล้ายกับรูปร่างของ “วี” (พัดแบบล้านนาที่มีด้ามยาว) จากบันทึกของชาวล้านนาดาววีประกอบด้วยดาวฤกษ์ 7 ดวง ได้แก่ ดาวอีต้า ทอรี (Eta Tauri) มีชื่อสามัญว่าดาวอัลไซโอเน (Alcyone) ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในกระจุกดาวลูกไก่ ดาว 17 ทอรี (17 Tauri) มีชื่อสามัญว่าดาวเอเล็กทรา (Electra) ดาว 19 ทอรี (19 Tauri) มีชื่อสามัญว่าดาวเทเก็จทา (Taygeta) ดาว 20 ทอรี (20 Tauri) มีชื่อสามัญว่าดาวไมอา (Maia) ดาว 23 ทอรี (23 Tauri) มีชื่อสามัญว่าดาวเมอโรปี (Merope) ดาว 27 ทอรี (27 Tauri) มีชื่อสามัญว่าดาวแอสลาส (Atlas) และดาว 28 ทอรี (28 Tauri) มีชื่อสามัญว่าดาวไพลยโอนี (Pleione)
ดาววีเป็นกระจุกดาวที่รู้จักกันมาช้านานแล้ว และชาวล้านนามีประเพณีที่มีความเชื่อมโยงกับดาววีด้วย ประเพณีที่กล่าวถึงคือประเพณีใส่ขันดอกอินทขิล ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการทำพิธีสักการะบูชาเสาหลักเมืองหรือเสาอินทขิล คนล้านนาถือว่าประเพณีนี้เป็นประเพณีที่สำคัญมาก นอกจากที่รับรู้กันทั่วไป ประเพณีใส่ขันดอก
อินทขิลยังมีความลับทางดาราศาสตร์ซ่อนอยู่ นั่นคือ ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ คนสมัยโบราณจะสังเกตดาววี (ดาวลูกไก่) เพื่อใช้ในการวางแผนการปลูกข้าวได้ตรงฤดูกาล โดยวิธีการสังเกตดูดาววีนี้จะทำกันในช่วงเช้ามืดของวันกึ่งกลางช่วงใส่ขันดอกคือวันแรม 15 ค่ำเดือน 8 เหนือ ว่าสามารถมองเห็นดาววีขึ้นก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้าหรือไม่ ถ้าหากสามารถมองเห็นดาววีขึ้นมาก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ในปีนั้นสามารถปลูกข้าวได้ตามปกติเหมือนปีก่อนหน้า แต่ถ้าหากปีนั้นไม่สามารถมองเห็นดาววี (ดาววีขึ้นหลังดวงอาทิตย์ขึ้น) คือ เห็นดาวราศีเมษขึ้นแล้วเห็นดวงอาทิตย์ขึ้น แสดงว่าปีนั้นเดือน 8 เหนือมาเร็วไป ต้องทำการเลื่อนการปลูกข้าวออกไปหนึ่งเดือนจันทรคติจึงจะได้ฤดูกาลเดิมเหมือนปีก่อนหน้า สาเหตุที่ต้องคอยตรวจปรับปีจันทรคติให้ตรงฤดูกาล เนื่องจากสมัยโบราณนั้นยังไม่มีปฏิทินสำเร็จรูปและปฏิทินสากล คนโบราณใช้ปฏิทินจันทรคติเป็นหลัก แต่ปีจันทรคติจะสั้นกว่าปีสุริยคติ ราว 11 วัน เมื่อผ่านไป 2 ปี ก็สั้นกว่าไป 22 วัน ในปีที่ 3 หากไปเติมเดือนจันทรคติ จะทำให้วันสะสมรวมกันได้ 33 วัน เกิน 1 เดือน หากไม่เลื่อนปลูกข้าวในปีที่สามนี้ไปอีกหนึ่งเดือน แทนที่จะปลูกข้าวตรงกับฤดูฝนจะกลายเป็นปลูกในฤดูร้อนแห้งแล้งแทน ประเพณีนี้นอกจากจะจัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองแล้ว ยังมีความสำคัญเพราะเป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบฤดูฝนเพื่อวางแผนการเพาะปลูกให้ตรงฤดูกาล
นักษัตรที่ 4 ดาวกระโจม : โรหิณี
โรหิณีเป็นฤกษ์นักษัตรที่ 4 สำหรับชาวฮินดูความหมายของคำว่า “โรหิณี” (Rohini) หมายถึง “สิ่งที่มีสีแดง” นอกจากชื่อโรหิณีแล้วชาวฮินดูยังมีชื่อเรียกกลุ่มดาวนักษัตรนี้ในชื่ออื่น ๆ อีกคือ “ปฺราเชศ” (Prajesha) และ “พรฺาหฺมี” (Brahmi) สำหรับชาวล้านนาโบราณรู้จักดาวโรหิณีตามบันทึกที่มีการสืบทอดต่อ ๆ กันมาในชื่อดาวกระโจมหรือขะจุม โดยคำว่ากระโจมในภาษาล้านนาโบราณหมายถึงมงกุฎที่สวมศีรษะของเจ้านายทั้งผู้ชายและผู้หญิง เนื่องจากการเรียงตัวที่โดดเด่นของดาวที่คล้ายกับ “มงกุฎ” ในบันทึกของชาวล้านนาดาวกระโจมมีจำนวนสมาชิกอยู่ 5 ดวง ซึ่งดาวดังกล่าวอยู่ตรงบริเวณกลุ่มดาววัว เมื่อนำมาเทียบกับกลุ่มดาวสากลพบว่าดาวกระจมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มดาววัวโดยตำแหน่งของดาวกระโจมอยู่ที่บริเวณ “หน้าของวัว” ซึ่งมีลักษณะการวางตัวคล้ายกับรูปมงกุฎ นอกจากนั้นยังพบว่ายังมีชื่อเรียกอื่นอีกคือ “ดาวจลุ้น” เป็นชื่อที่ชาวบ้านใช้เรียกนักษัตรโรหิณี เนื่องจากลักษณะการเรียงตัวของดาวที่เป็นรูปพาราโบลา (ครึ่งวงรี) คล้ายจลุ้นหรือจะโล้ ประกอบด้วยดาว 5 ดวง ที่อยู่บริเวณหน้าวัว จลุ้นเป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับรองฝ้ายจากการดีดฝ้าย (ยิงฝ้าย) กงดีดฝ้าย เพื่อให้ปุยฝ้ายพองตัวโดยวิธีแบบโบราณ
จลุ้นเป็นอุปกรณ์ที่สานด้วยตอกเป็นทรงรูปไข่ก้นมน ชาวล้านนาเรียกว่า จะโล้ จลุ้น จาลุ่น ตะลุ่ม สะลุ่น ชาวอีสานเรียก กะเพียด ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามดาวสากลของดาวกระโจมและจลุ้น คือ ดาวแอลฟา ทอรี (Alpha Tauri) มีชื่อสามัญว่าดาวแอลดีบาแรน (Aldebaran) ดาวเดลตา ทอรี (Delta Tauri) มีชื่อสามัญว่าดาวซีคันดา ไฮอดัม (Secunda Hyadum) ดาวแกมมาทอรี (Gamma Tauri) มีชื่อสามัญว่าดาวไพรมา ไฮอดัม (Prima Hyadum) ดาวเอปซิลอน ทอรี (Epsilon Tauri) มีชื่อสามัญว่าดาวเอน (Ain) และดาวธีตา ทอรี (Theta Tauri)
นักษัตรที่ 5 ดาวหัวเนื้อ (หัวกวาง) : มฤคศิระ
มฤคศิระเป็นฤกษ์นักษัตรที่ 5 นักษัตรนี้ชาวฮินดูเรียกว่า มฤคศิรา (Mrigashira) หรือ มฤคศรีษ (Mrigashirsha) ในประเทศไทยนิยมเขียนเป็น “มฤคศิระ” (Mrigashirah) นอกจากชื่อเหล่านี้แล้วยังพบชื่ออื่น ๆ อีกเช่น ตารามฤค (Taramriga) เสามฺยา (Saumya) ไอนฺทว (Aindava) และ “อาคฺรหายณี (Agrahayani)”
สำหรับชาวล้านนาจิตนาการนักษัตรนี้คล้ายกับต้นฉบับของชาวฮินดูที่จิตนาการเป็นของหัวกวาง แต่ชาวล้านนาเปลี่ยนเป็นรูปหัวของเนื้อทราย เนื่องจากชาวล้านนาในสมัยโบราณมีความคุ้นเคยกับเนื้อทราย (Hog deer) ที่มีจำนวนมากซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในป่าทางภาคเหนือ ดังนั้นนักษัตรนี้จึงถูกเรียกว่า “ดาวหัวเนื้อ” แทนที่จะเรียกว่า “ดาวหัวกวาง” ดาวหัวเนื้อประกอบด้วยดาวจำนวน 3 ดวง เรียงตัวกันเป็นรูปสามเหลี่ยมที่อยู่ในบริเวณส่วนหัวของกลุ่มดาวนายพราน ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามดาวสากลของดาวหัวเนื้อ คือ ดาวแลมดา โอไรโอนิส (Lambda Orion) มีชื่อสามัญว่าดาวดาวเมสซา (Meissa) ดาวฟายหนึ่ง โอไรโอนิส (Phi1 Orion) มีชื่อสามัญว่าดาวดาวเฮกา (Heka) และดาวฟายสอง โอไรโอนิส (Phi2 Orion)
นักษัตรที่ 6 ดาวเรือนห่าง : อารทรา
อารทราเป็นฤกษ์นักษัตรที่ 6 ในภาษาสันสกฤตเรียกว่า อารทฺรา (Ardra) หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า “ศางฺกร” (Shankara) ชาวฮินดูมองว่าฤกษ์นักษัตรนี้เป็นตัวแทนของรูปหยดน้ำตา แสดงถึงอารมณ์อันลึกซึ้งอ่อนไหว โดยนักษัตรนี้อยู่ในกลุ่มดาวนายพรานมีดาวฤกษ์อ้างอิงคือดาวบีเทลจูส (Betelgeuse) ซึ่งเป็นดาวสว่างสีแดงเห็นได้ชัด
ชาวล้านนาจิตนาการนักษัตรนี้เป็นรูปเรือนห่าง คำว่า “เรือนห่าง” ไม่ได้หมายความว่าบ้านที่อยู่ห่างกัน จากการตีความหมายตามภาษาถิ่นสามารถตีความคำว่า “เรือนห่าง” ได้ดังนี้ชาวล้านนาเรียกบ้านว่า “เฮือน” หรือ “เรือน” ส่วนคำว่า “ห่าง” ในภาษาเหนือไม่ได้หมายถึงระยะทางแต่หมายถึง “ร้าง” ดังนั้นคำว่าเรือนห่างหมายถึงบ้านที่ถูกทิ้งร้าง (บ้านร้าง) ในพับสาบางฉบับเรียกนักษัตรนี้ว่า “เรือนห้าง” ซึ่งความหมายจะแตกต่างไปโดยเรือนห้างในที่นี้หมายถึง “กระท่อมปลายนา”
ดาวเรือนห่างของชาวล้านนามีดาวสมาชิกด้วยกันทั้งหมดจำนวน 4 ดวง อยู่บริเวณเท้าของกลุ่มดาวคนคู่ เรียงตัวกันเป็นเส้นตรง ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามดาวสากลของดาวหัวเนื้อประกอบด้วย ดาวไซ เจมินอรัม (Xi Geminorum) มีชื่อสามัญว่าดาวอัลเซอร์ (Alzirr) ดาวแกมมา เจมินอรัม (Gamma Geminorum) มีชื่อสามัญว่าดาวอัลฮีนา (Alhena) ดาวนิว เจมินอรัม (Nu Geminorum) มีชื่อสามัญว่าดาวนูคาไต (Nucatai) และดาวมิว เจมินอรัม (Mu Geminorum) มีชื่อสามัญว่าดาวทีจาท (Tejat)
นักษัตรที่ 7 ดาวสะเปาคำ (เรือสำเภา) : ปุนัพสุ
ปุนัพสุเป็นฤกษ์นักษัตรที่ 7 ในภาษาสันสกฤตเรียกว่า ปุนรฺวสุ (Punarvasu) หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า “ยามเกา” (Yamakau) ชาวล้านนาว่า “ดาวสะเปาคำ” หมายถึง “เรือสำเภาทอง” ประกอบด้วยดาวสว่างจำนวน 6 ดวง เรียงกันเป็นรูปเส้นโค้งคล้ายกับท้องของเรือสำเภาขนาดใหญ่ โดยดาวสมาชิกของดาวสะเปาคำทั้ง 6 ดวง กระจายตัวอยู่ตามกลุ่มดาวสากล 3 กลุ่มดาว ได้แก่กลุ่มดาวคนคู่ 2 ดวง กลุ่มดาวหมาเล็ก 2 ดวง และกลุ่มดาวหมาใหญ่อีก 2 ดวง ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามดาวสากลของดาวสะเปาคำ คือ ดาวสองดวงที่อยู่บริเวณหัวของกลุ่มดาวคนคู่ได้แก่ ดาวแอลฟา เจมินอรัม (Alpha Geminorum) มีชื่อสามัญว่าดาวคาสเตอร์ (Castor) และดาวบีตา เจมินอรัม (Alpha Geminorum) มีชื่อสามัญว่าดาวพอลลักซ์ (Pollux) เป็นส่วนหัวเรือ อีกสองดวงอยู่ในกลุ่มดาวหมาเล็ก คือ ดาวแอลฟา คานีส ไมเนอรีส (Alpha Canis Minoris) มีชื่อสามัญว่าดาวโพรซีออน (Procyon) กับดาวบีตา คานีส ไมเนอรีส (Beta Canis Minoris) มีชื่อสามัญว่าดาวกอเมซา (Gomeisa) เป็นส่วนท้องเรือสำเภา และสองดวงสุดท้ายอยู่ในกลุ่มดาวหมาใหญ่ คือ ดาวแอลฟา คานีส เมเจอรีส (Alpha Canis Majoris) มีชื่อสามัญว่าดาวซีรีอัส (Sirius) และดาวบีตา คานีส เมเจอรีส (Beta Canis Majoris) ดาวเมอร์แซม (Mirzam) เป็นส่วนท้ายของเรือสำเภา นักษัตรนี้นับว่าเป็นนักษัตรที่ใหญ่ที่สุดในบรรดากลุ่มดาวนักษัตรทั้งหมด 27 กลุ่ม
นักษัตรที่ 8 ดาวขาเปีย : ปุษยะ
ปุษยะเป็นฤกษ์นักษัตรที่ 8 ในภาษาสันสกฤตเรียกว่า ปุษฺย (Pushya) หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า “สิธฺย” (Sidhya) ชาวล้านนาเรียกดาวนักษัตรปุษยะว่า ดาวขาเปีย (ขาเปี๋ย หรือ ขาเป) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “ไม้เปียฝ้าย” เป็นอุปกรณ์ที่ใช้พันเส้นฝ้าย ซึ่งเป็นขั้นตอนในการพักด้ายที่ปั่นเป็นเส้นใยฝ้ายแล้ว เพื่อทำเป็นปอยหรือไจฝ้าย ดาวขาเปียมีสมาชิกทั้งหมด 4 ดวง เรียงตัวกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ดาวสมาชิกทั้ง 4 ดวง ของดาวขาเปียเป็นส่วนหนึ่งของดาวปูที่เป็นกลุ่มดาวสากล ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามดาวสากลของดาวขาเปีย คือ ดาวเดลตา แคนครี (Delta Cancri) ชื่อสามัญว่าอัสเซ็ลลัส ออสเตรลิส (Asellus Australis) ดาวแกมา แคนครี (Gamma Cancri) มีชื่อสามัญว่าดาวอัสเซ็ลลัส บอรีแอลลิส (Asellus Borealis) ดาวอีต้า แคนครี (Eta Cancri) และดาวทีตา แคนครี (Theta Cancri) สำหรับดาวดวงที่ห้าอาจจะหมายถึงกระจุกดาวรวงผึ้ง (M44)
ขาเปียฝ้าย (ไม้เปียฝ้าย) ทำจากไม้เนื้อแข็งมีด้วยกัน 2 ชนิด คือ
- ขาเปียแบบไขว้ ลักษณะของขาเปียแบบนี้ คือส่วนไม้ที่เข้าเดือยปิดหัวท้ายหรือส่วนบนส่วนล่างจะไขว้สลับทิศกันและนิยมแกะสลักเป็นหยักเหลี่ยมหรือลวดลายสวยงาม ขาเปียแบบนี้พบในประเทศไทยในกลุ่มวัฒนธรรม ไทวน ไทลื้อ ไทพวน และภูไท เป็นต้น
- ไม้เปียแบบขนาน โครงสร้างของขาเปียแบบนี้ ส่วนไม้ที่เข้าเดือยปิดหัวปิดท้ายหรือส่วนบนส่วนล่างจะเป็นแนวขนานกัน มักนิยมทำแบบเรียบ ๆ บางชิ้นทำจากไม้ไผ่ ขาเปียแบบนี้พบในกลุ่มวัฒนธรรมไทครั่ง
นักษัตรที่ 9 ดาวคอกม้า : อัสสเลสะ
อัสสเลสะเป็นฤกษ์นักษัตรที่ 9 ชาวฮินดูเรียกว่า อาศเฺลษา (Ashlesha) หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า “เภาชงฺค” (Bhaujanga) ชาวล้านนาเรียกนักษัตรอัสสเลสะว่า “ดาวคอกม้า” ทางภาคกลางของประเทศไทยเรียกกลุ่มดาวนี้ว่า “ดาวพ้อม” หรือดาวกระพ้อม (กระพ้อมใส่ข้าวเปลือก) ในผังดาวล้านนาพบว่าจำนานสมาชิกของดาวนี้มีตั้งแต่ 3 ดวงไปจนถึง 5 ดวง ซึ่งอยู่ในบริเวณกลุ่มดาวสิงโต ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามดาวสากลของดาวคอกม้า ดาวแคปปา ลีโอนิส (Kappa Leonis) ดาวแลมบ์ดา ลีโอนิส (Lambda Leonis) มีชื่อสามัญว่าดาวอัลเทิร์ฟ (Alterf) ดาวมิว ลีโอนิส (Mu Leonis) มีชื่อสามัญว่าดาวแรสซาลัส (Rasalas) และดาวเอปซิลอน ลีโอนิส (Epsilon Leonis)
นักษัตรที่ 10 ดาวงู : มาฆะ
มาฆะเป็นฤกษ์นักษัตรที่ 10 ชาวฮินดูเรียกว่า มฆา (Magha) หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า “ปิตฺรฺย (Pitrya) โดยลักษณะการวางตัวที่โดดเด่นของดาวสว่างทั้ง 5 ดวง ที่เรียงสับกันคล้ายกับงูที่กำลังเลื้อยชาวล้านนาจึงเรียกนักษัตรมาฆะว่า “ดาวงู” ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามดาวสากลของดาวมาฆะ คือ ดาวแอลฟา ลีโอนิส (Alpha Leonis) มีชื่อสามัญว่าดาวดาวเรกูลัส (Regulus) ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่มีความสุกสว่างที่สุดในในกลุ่มดาวสิงโต และเป็นดาวที่มีความสว่างเป็นลำดับที่ 21 ในท้องฟ้าในยามค่ำคืนจากดาวฤกษ์ทั้งหมดที่ปรากฏบนท้องฟ้า ดาวอีก 4 ดาวที่เหลือ คือ ดาวซีตา ลีโอนิส (Zata Leonis) มีชื่อสามัญว่าดาวแอลดาเฟียรา (Adhafera) ดาวแกมมา ลีโอนิส (Gamma Leonis) มีชื่อสามัญว่าดาวอัลจีบา (Algieba) ดาวอีต้า ลีโอนิส (Eta Leonis) และ ดาวโอไมครอน ลีโอนิส (Omicron Leonis) มีชื่อสามัญว่าดาวซูบรา (Subra)
ฤกษ์ผัคคุนี
ผัคคุนี ประกอบด้วยดาว 2 กลุ่ม คือ ดาวบุรพผลคุณีฤกษ์นักษัตรที่ 11 และฤกษ์นักษัตรที่ 12 ดาวอุตรผลคุณี
นักษัตรที่ 11 ดาวพิดานหน้า (ดาวเพดานคู่หน้า) : บุรพผลคุณี
บุรพผลคุณีเป็นฤกษ์นักษัตรที่ 11 ชาวฮินดูเรียกว่า ปูรฺวผลฺคุนี (Purvaphalguni) ชาวล้านนาเรียกนักษัตรบุรพผลคุนีว่า “ดาวพิดานหน้า” นอกจากนี้ยังมีตำราดาวอื่นที่มีการเรียกชื่อของนักษัตรบุรพผลคุนีที่แตกต่างกันออกเช่น ดาวพิดานน้อยก่ำวันออก แพะตัวผู้ เป็นต้น สำหรับดาวบุรพผลคุนีนั้นประกอบด้วยดาว 2 ดวง ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มดาวสิงโต ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามดาวสากลของดาวพิดานหน้า คือ ดาวเดลตา ลีโอนิส (Delta Leonis) มีชื่อสามัญว่าดาวซอสมา (Zosma) และดาวธีตา ลีโอนิส (Theta Leonis) มีชื่อสามัญว่าดาวเชอร์ทัน (Chertan)
นักษัตรที่ 12 ดาวพิดานหลัง (ดาวเพดานคู่หลัง) : อุตรผลคุณี
อุตรผลคุณีเป็นฤกษ์นักษัตรที่ 12 ชาวฮินดูเรียกว่า อุตตฺรผลฺคุนี (Uttaraphalguni) หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า “ภค” (Bhaga) หรือ “ภคไทวตะ” (Bhagadaivata) ชาวล้านนาเรียกนักษัตรอุตรผลคุณีว่า “ดาวพิดานหลัง” (ดาวเพดานหลัง) นอกจากนี้ยังมีตำราดาวอื่น ๆ ที่มีการเรียกชื่อนักษัตรอุตรผลคุณีที่แตกต่างกันออกไป เช่น ดาวพิดานน้อยก่ำเหนือ แพะตัวเมีย เป็นต้น ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามดาวสากลของดาวพิดานหลัง คือ ดาวบีตา ลีโอนิส (Delta Leonis) มีชื่อสามัญว่าดาวเดเนโบลา (Denebola) ในกลุ่มดาวสิงโต และดาวนิว เวอร์จินิส (Nu Virginis) ซึ่งเป็นสมาชิกที่อยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว
นักษัตรที่ 13 ดาวศอกคู้ : หัสตะ
หัสตะเป็นฤกษ์นักษัตรที่ 13 ชาวฮินดูเรียกว่า หสฺตา (Hasta) ชาวล้านนาเรียกนักษัตรหัสตะว่า “ดาวศอกคู้” หรือ “ดาวทบศอก” ในผังดาวล้านนาระบุไว้ว่าดาวศอกคู้อยู่ในกลุ่มดาวอีกามีจำนวนดาวสมาชิกทั้งหมด 5 ดวง เรียงตัวกันมีลักษณะคล้ายศอกคู้ (ทบศอก) สำหรับดาวนี้ทางภาคกลางของประเทศไทยเรียกดาวหัสตะนี้ว่า “ดาวฝ่ามือ” นอกจากนั้นยังถูกมองว่าการจัดเรียงตัวของดาวเป็นรูปเหนียงสัตว์ และดาวหัวช้าง (ดาวศีรษะช้าง) ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามดาวสากลของดาวศอกคู้ คือ ดาวเดลตา คอร์วี (Delta Corvi) มีชื่อสามัญว่าดาวอัลเกอแร็บ (Algorab) ดาวแกมมา คอร์วี (Gamma Corvi) มีชื่อสามัญว่าดาวจีนา (Gienah) ดาวบีตา คอร์วี (Gamma Corvi) มีชื่อสามัญว่าดาวแครซ (Kraz) ดาวเอปซิลอน คอร์วี (Gamma Corvi) มีชื่อสามัญว่าดาวมินการ์ (Minkar) และดาวแอลฟา คอร์วี (Gamma Corvi) มีชื่อสามัญว่าดาวแอลชิบา (Alchiba) ซึ่งดาวทั้ง 5 ดวงนี้สามารถมองเห็นได้ง่ายด้วยตาเปล่า
นักษัตรที่ 14 ดาวไต้ไฟหลวง : จิตรา
จิตราเป็นฤกษ์นักษัตรที่ 14 ชาวฮินดูเรียกว่า จิตฺรา (Chitra) ชาวล้านนานักษัตรจิตราเรียกว่า “ดาวไต้ไฟหลวง” ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามดาวสากลของดาวไต้ไฟหลวง คือ ดาวแอลฟา เวอร์จินิส (Alpha Virginis) มีชื่อสามัญว่าดาวสไปกา (Spica) ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่สว่างสุกใสที่สุดในกลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo) และเป็นดาวที่มีความสว่างเป็นลำดับที่ 15 ในท้องฟ้าในยามค่ำคืน ในยุคสมัยโบราณดาวจิตรายังมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการใช้เป็นตำแหน่งอิงอ้างของจุดตัดระหว่างเส้นสุริยวิถีกับเส้นศูนย์สูตรท้องฟ้า จุดตัดนี้มีชื่อเรียกว่า “ศารทวิษุวัต” (autumnal equinox) โดยในช่วงปี พ.ศ. 828 หรือประมาณ 1700 ปีก่อน เป็นช่วงที่จุดศารทวิษุวัตอยู่ใกล้กับดาวจิตรามากที่อยู่ จึงในอารยธรรมโบราณบางอารยธรรมได้ใช้ประโยชน์จากดาวจิตราเพื่อบอกการมาถึงวันขึ้นปีใหม่ โดยคนโบราณจะสังเกตเวลาที่ดาวจิตราตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกและในขณะช่วงเวลาเดียวกันนั้นดวงอาทิตย์ที่กำลังขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกพอดีกับที่ดาวจิตราตกวันนั้นคือ “วันขึ้นปีใหม่” เนื่องจากอารยธรรมโบราณถือว่าวันนี้ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษโดยสมบูรณ์ ดังนั้นวันนี้จึงถือว่าเป็นวันแรกของปี สำหรับความหมายของคำว่า “ไต้ไฟหลวง” คือ “คบไฟขนาดใหญ่”
นักษัตรที่ 15 ดาวไต้ไฟหน้อย : สวาติ
สวาติเป็นฤกษ์นักษัตรที่ 15 ชาวฮินดูเรียกว่า สฺวาติ (Svati) หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า “ปรฺาภญฺชน” (Prabhanjana) และ “วายวฺย” (Vayavya) ชาวล้านนาเรียกนักษัตรสวาติว่า “ดาวไต้ไฟน้อย” ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามดาวสากลของดาวไต้ไฟน้อย คือ ดาวแอลฟา โบโอทิส (Alpha Boötis) มีชื่อสามัญว่าดาวอาร์คทูรัส ซึ่งเป็นดาวที่สว่างสุกใสที่สุดในกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ (Boötes) เนื่องจากความสว่างที่โดดเด่นของดาวทำให้มีการกล่าวถึงในวรรณกรรมยุคโบราณมากพอสมควร ความหมายของชื่อดาวดวงนี้คือ “ผู้เฝ้า” หรือ “ผู้พิทักษ์” ชาวอาหรับกำหนดความหมายของดาวดวงนี้ว่า “ผู้ปกป้องดูแลสวรรค์” ในตำราดาวของชาวล้านนาบางฉบับระบุว่านักษัตรสวาตินั้นประกอบด้วย 2 ดวง ซึ่งดาวฤกษ์สว่างอีกดาวที่อยู่ใกล้กับดาวอาร์คทูรัส คือ ดาวอีต้า โบโอทิส (Eta Boötis) น่าจะเป็นดาวอีกดวงหนึ่งที่ได้มีการระบุในผังดาวล้านนา สำหรับความหมายของคำว่า “ไต้ไฟน้อย” คือ “คบไฟขนาดเล็ก”
นักษัตรที่ 16 ดาวกระด้ง : วิสาขะ
วิสาขะเป็นฤกษ์นักษัตรที่ 16 ชาวฮินดูเรียกว่า วิศาขา (Vishakha) นอกจากนี้ยังชื่ออื่น ๆ อีกเช่น “อินฺทรฺาคฺนิไทวต” (Indragnidaivata) และ “ไอนฺทรฺาคฺน” (Aindragna) ชาวล้านนาเรียกนักษัตรวิสาขะว่า “ดาวด้ง” (ดาวกระด้ง) หรือดาวขอบด้ง ดาวฤกษ์ที่ใช้อ้างอิงตามดาวสากลของนักษัตรวิสาขะที่พบในไทยมีความแตกต่างกันถึง 3 แบบ
แบบแรก คือ แบบล้านนาเรียกนักษัตรวิสาขะว่าดาวด้งดาวฤกษ์ที่ใช้อ้างอิงด้วยกัน 6 ดวง คือ ดาวแอลฟา คอโรนี บอรีแอลลิส (Alpha Coronae Borealis) มีชื่อสามัญว่าดาวแอลเฟ็คคา (Alphecca) ซึ่งเป็นดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวมงกุฎเหนือ (Corona Borealis) ดาวทีตาคอโรนี บอรีแอลลิส (Theta Coronae Borealis) ดาวบีตา คอโรนี บอรีแอลลิส (Beta Coronae Borealis) ดาวเดลตา คอโรนี บอรีแอลลิส (Delta Coronae Borealis) ดาวแกมมา คอโรนี บอรีแอลลิส (Gamma Coronae Borealis) ดาวเอปซิลอน คอโรนี บอรีแอลลิส (Theta Coronae Borealis) และดาวไอโอตา คอโรนี บอรีแอลลิส (Iota Coronae Borealis)
แบบที่สอง คือ แบบมอญเรียกนักษัตรวิสาขะว่าดาวนกยูงดาวฤกษ์ที่ใช้อ้างอิงคือดาว 4 ดวง ที่อยู่ในบริเวณหัวของกลุ่มดาวแมงป่อง คือ ดาวบีตา สคอร์ปีอาย (Beta Scorpii) มีชื่อสามัญว่าดาวอะแครบ (Acrab) ดาวเดลตา สคอร์ปีอาย (Delta Scorpii) มีชื่อสามัญว่าดาวชูบบ้า (Dschubba) ดาวพาย สคอร์ปีอาย (Pi Scorpii) มีชื่อสามัญว่าดาวแฟง (Fang) และดาวโร สคอร์ปีอาย (Rho Scorpii)
แบบที่สาม คือ แบบขอมซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียใต้เรียกนักษัตรวิสาขะว่าดาวฆ้อง ดาวฤกษ์ที่ใช้อ้างอิงมี 4 ดวง คือ ดาวแอลฟา ไลบรี (Alpha Librae) มีชื่อสามัญว่าดาวซูเบ็นเน็ลจินูบี (Zubenelgenubi) ดาวบีตา ไลบรี (Beta Librae) มีชื่อสามัญว่าดาวซูเบ็นเน็ชซาเมลลี (Zubeneschamali) และดาวแกมมา ไลบรี (Gamma Librae) และดาวซิกมา ไลบรี (Sigma Librae)
นักษัตรที่ 17 ดาวฉัตรพระยาอิน : อนุราธะ
อนุราธะเป็นฤกษ์นักษัตรที่ 17 ชาวฮินดูเรียกว่า อนุราธา (Anuradha) หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า “ไมตฺรนกฺษตฺร” (Maitranakshatra) และ “วิจฤตฺ” (Vichrit) ชาวล้านนาเรียกนักษัตรอนุราธะว่า “ดาวฉัตรพระยาอิน” หรือฉัตรคันคต ในผังดาวล้านนาระบุว่าดาวฉัตรพระยาอินมีสมาชิกทั้งหมดจำนวน 5 ดวง เรียงตัวกันคล้ายคันธนู ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามดาวสากลของดาวฉัตรพระยาอิน คือ ดาวเดลตา สคอพีอาย (Delta Scorpii) มีชื่อสามัญว่าดาวจูบบา (Dschubba) ซึ่งเป็นดาวที่มีความสว่างมากที่สุดในนักษัตรนี้ นอกจากดาวเดลตา สคอพีอายแล้วยังมีดาวสมาชิกอีก 4 ดวง ของดาวฉัตรพระยาอินที่เหลือ คือ ดาวนิว สคอพีอาย (Nu Scorpii) มีชื่อสามัญว่าดาวจั๊บบ้า (Jabbah) ดาวบีต้า สคอพีอาย (Beta Scorpii) มีชื่อสามัญว่าดาวอะแครบ (Acrab) ดาวพาย สคอพีอาย (Pi Scorpii) และดาวโร สคอพีอาย (Rho Scorpii) ดาวพาย สคอร์ปีอาย (Pi Scorpii) มีชื่อสามัญว่าดาวแฟง (Fang) และดาวโร สคอร์ปีอาย (Rho Scorpii) มีชื่อสามัญว่าดาวแอ็กลิล (Iklil)
ฉัตรมีรูปร่างคล้ายร่มที่ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ฉัตรถือเป็นของสูง เปรียบเสมือนสวรรค์ซึ่งเป็นศูนย์รวมจักรวาล พระยาอินหมายถึงพระอินทร์ ตามคติศาสนาพุทธ พระอินทร์มีตำแหน่งเทวาธิบดี หรือเป็นประมุขของเหล่าเทวดาทั้งปวง มีหน้าที่ปกครอง สวรรค์ และอภิบาลโลก เช่นเดียวกับ “พระยาอิน” คือ “พญาอิน” จึงเป็นตำแหน่งกษัตริย์ของล้านนาในยุคสมัยโบราณ ดังนั้นพระยาอินก็คือประมุขของเหล่าเทวดา สำหรับความหมายของดาวฉัตรพระยาอินคือ ฉัตรประจำตำแหน่งของพระอินทร์
นักษัตรที่ 18 ดาวช้างพัง (ช้างตัวเมีย) : เชฏฐะ
เชฏฐะเป็นฤกษ์นักษัตรที่ 18 ชาวฮินดูเรียกว่า เชฺยษฺฐา (Jyeshtha) นอกจากนี้ยังชื่ออื่น ๆ อีกเช่น “ศากรฺ” (Shakra) และ “เปารนฺทร” (Paurandara) ชาวล้านนาเรียกนักษัตรเชฏฐะว่า “ดาวช้างพัง” ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามดาวสากลของดาวช้างพัง คือ ดาวแอลฟา สคอพีอาย (Alpha Scorpii) มีชื่อสามัญว่า “ดาวแอนทาเรส” ซึ่งเป็นดาวดวงที่สว่างสุกใสที่สุดในกลุ่มดาวแมงป่อง คนไทยเรียกชื่อดาวดวงนี้ว่า “ดาวปาริชาติ” ดาวช้างพังนั้นประกอบด้วยดาวสมาชิกทั้งหมด 3 ดวง สมาชิกอีกสองดวงคือดาว ดาวซิกมา สคอพีอาย (Sigma Scorpii) มีชื่อสามัญว่า “ดาวแอลนียาท” (Alniyat) กับดาวเทา สคอพีอาย (Tau Scorpii) มีชื่อสามัญว่าดาวไพคาวฮาลี (Paikauhale)
ในภาษาล้านนามีการเรียก ช้างตัวผู้ว่าช้างพลาย ช้างพู้ และช้างตัวเมียว่าช้างแม่ ช้างพัง ดังนั้น ดาวช้างพังก็คือดาวช้างตัวเมีย
นักษัตรที่ 19 ดาวช้างน้อย : มูละ
มูละหรือสัตตพิสมูละเป็นฤกษ์นักษัตรที่ 19 ชาวฮินดูเรียกว่า มูลา (Mula) และมีชื่อเรียกอีกว่า “มลูพรฺหณ” (Mulabarhana) ชาวล้านนาเรียกนักษัตรมูละว่า “ดาวช้างน้อย” ประกอบด้วยดาว 9 ดวง บริเวณส่วนหางของกลุ่มดาวแมงป่อง ชาวล้านนามองว่าการเรียงตัวของดาวในบริเวณนี้คล้ายกับช้างกำลังตั้งงวง ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามดาวสากลของดาวช้างน้อย คือ ดาวแลมบ์ดา สคอพีอาย (Lambda Scorpii) มีชื่อสามัญว่า “ดาวเซาลา” คำว่า “เซาลา” มาจากภาษาอาหรับ มีความหมายว่า “เหล็กใน” สมาชิกอีก 8 ดวง คือ ดาวเอปซิลอน สคอพีอาย (Epsilon Scorpii) มีชื่อสามัญว่า “ดาวลาราวัก” (Larawag) ดาวลีแซธ (Lesath) ดาวมิว สคอพีอาย (Mu Scorpii) ดาวซีตา สคอพีอาย (Zeta Scorpii) ดาวอีต้า สคอพีอาย (Eta Scorpii) ดาวธีตา สคอพีอาย (Theta Scorpii) มีชื่อสามัญว่า “ดาวซาร์กอส” ดาวไอโอตา สคอพีอาย (Iota Scorpii) มีชื่อสามัญว่า “ดาวอโพลลีออน” (Apollyon) ดาวแคปปา สคอพีอาย (Kappa Scorpii) มีชื่อสามัญว่า “ดาวกีร์ทับ” (Girtab) และดาวจี สคอพีอาย (G Scorpii)
ดาวอาสาฬหา
อาสาฬหาฤกษ์ประกอบด้วยดาวสมาชิกทั้งหมด 8 ดวง เรียงตัวกันคล้ายกับช้างขนาดใหญ่ และแบ่งออกเป็นดาวนักษัตร 2 กลุ่ม คือ บุรพอาษาฒ (บุรพอาษาฒ) ฤกษ์ที่ 20 กับอุตราษาฒ (อุตตราสาฬหะ) ฤกษ์ที่ 21 ฤกษ์อาสาฬหามีรายละเอียดดังนี้
นักษัตรที่ 20 ดาวตีนช้างน้อยก้ำหน้า (ขาคู่หน้าของช้าง) : บุรพอาษาฒ
บุรพอาษาฒเป็นฤกษ์นักษัตรที่ 20 ชาวฮินดูเรียกว่า ปูรฺวาษาฒา (Purvashadha) ชาวล้านนาเรียกนักษัตรบุรพอาษาฒว่า “ดาวตีนช้างน้อยก้ำหน้า” ประกอบด้วยดาว 4 ดวง เรียงตัวกันคล้ายกับขาช้างคู่หน้า ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามดาวสากลของดาวตีนช้างน้อยก้ำหน้า คือ ดาวเดลตา ซาจิทารีอาย (Delta Sagittarii) มีชื่อสามัญว่าดาวคาอัส มีดิอา (Kaus Media) และสมาชิกอีก 3 ดวง คือ ดาวแกมมา ซาจิทารีอาย (Gamma Sagittarii) มีชื่อสามัญว่าดาวแอลนาสล์ (Alnasl) ดาวเอปซิลอน ซาจิทารีอาย (Delta Sagittarii) มีชื่อสามัญว่า ดาวคาอัส ออสเตรลิส (Kaus Australis) สมาชิกดวงสุดท้ายคือดาวอีต้า ซาจิทารีอาย (Eta Sagittarii)
ดาวอาสาฬหาเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มดาวสากลตรงกับกลุ่มดาวคนยิงธนูที่เป็นดาวเรียงเด่นที่ถูกเรียกว่ากาน้ำชาแต่ชาวล้านนามองเป็นช้างหรือลูกช้างทั้งตัว สำหรับดาวบุรพอาษาฒชาวล้านนามองเป็นขาคู่หน้าของช้าง
นักษัตรที่ 21 ดาวตีนช้างน้อยก้ำหลัง (ขาคู่หลังของช้าง) : อุตราษาฒ
อุตราษาฒเป็นฤกษ์นักษัตรที่ 21 ชาวฮินดูเรียกว่า อุตฺตราษาฒา (Uttarashadha) นอกจากนี้ยังชื่ออื่น ๆ อีกเช่น “วิศเวศ” (Vishvesha) “วิศฺเวศฺวร” (Vishveshvara) “ไวศฺวเทวต” (Vaishvadevata) และ “ไวศฺวเทว” (Vaishvadeva) เป็นต้น ชาวล้านนาเรียกนักษัตรอุตราษาฒว่า “ดาวตีนช้างน้อยก้ำหลัง” ประกอบด้วยดาว 4 ดวง เรียงตัวกันคล้ายกับขาช้างคู่หลัง ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามดาวสากลของดาวตีนช้างก้ำหลัง คือ ดาวซิกมา ซาจิทารีอาย (Sigma Sagittarii) มีชื่อสามัญว่า ดาวนังคี (Nunki) และสมาชิกอีก 3 ดวง คือ ดาวฟาย ซาจิทารีอาย (Phi Sagittarii) ดาวซีต้า ซาจิทารีอาย (Zeta Sagittarii) มีชื่อสามัญว่าดาวอเซ็ลลา (Ascella) ดาวเทา ซาจิทารีอาย (Tau Sagittarii)
ดาวอาสาฬหาเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มดาวสากลตรงกับกลุ่มดาวคนยิงธนูในบริเวณดาวเรียงเด่นที่ถูกเรียกว่ากาต้มน้ำ แต่ชาวล้านนามองเป็นช้างตัวเล็กหรือลูกช้างทั้งตัว สำหรับดาวอุตราษาฒชาวล้านนามาว่าเป็นขาคู่หลังของช้าง
นักษัตรที่ 22 ดาวไม้กานหามผี : ศรวณะ
ศรวณะเป็นฤกษ์นักษัตรที่ 22 ชาวฮินดูเรียกว่า ศฺรวณา (Shravana) และมีชื่อเรียกอีกว่า “หรินกฺษตรฺ” (Harinakshatra) ชาวล้านนาเรียกนักษัตรศรวณะว่า “ดาวไม้กานหามผี” หรือ “ดาวไม้กาน” ซึ่งมีจำนวนของดาวสมาชิกทั้งหมดด้วยกัน 3 ดวง อยู่ในบริเวณกลุ่มดาวนกอินทรี (Aquila) ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามดาวสากลของดาวไม้กานหามผี คือ ดาวแอลฟา แอคควิลี (Alpha Aquilae) มีชื่อสามัญว่า “ดาวแอลแทร์” (Altair) สำหรับดาวสมาชิกอีกสองดวง คือ ดาวบีต้า แอคควิลี (Alpha Aquilae) มีชื่อสามัญว่า “ดาวแอลเซน” (Alshain) และดาวแกมมา แอคควิลี (Gamma Aquilae) มีชื่อสามัญว่า “ดาวทาราเซ็ด” (Tarazed)
บางตำราเรียกกลุ่มดาวนี้ว่า “ดาวไม้กาน” ในภาษาล้านนาบางคำมักเขียนและออกเสียง “ค” เป็น “ก” เช่นเดียวกับ “ดาวไม้กาน” ก็คือ “ดาวไม้คาน” โดยไม้คานหรือไม้คานหาบเป็นอุปกรณ์ใช้สำหรับหาบสิ่งของ ส่วนใหญ่ทำด้วยไม้ไผ่ เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ใช้หลักความสมดุลมาช่วยผ่อนแรงที่กดทับบนบ่าของผู้หาบและสามารถแบกน้ำหนักได้มากขึ้น
นักษัตรที่ 23 ดาวเกียงปืน : ธนิษฐะ
ธนิษฐะเป็นฤกษ์นักษัตรที่ 23 ชาวฮินดูเรียกว่า ธนิษฺฐา (Dhanishtha) และมีชื่อเรียกอีกว่า“วาสว” (Vasava) นอกจากสองชื่อนี้ยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ศฺรวิษฺฐา” (Shravishtha) แต่ชื่อนี้ไม่ค่อยถูกนำมาใช้ ชาวล้านนาเรียกนักษัตรธนิษฐะว่า “ดาวเกียงปืน” (หน้าไม้) ในผังดาวล้านนาระบุว่าประกอบด้วยดาวจำนวน 4 ดวง เรียงกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เมื่อเทียบดาว 4 ดวง ที่เรียงกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนกับแผนที่ดาวสากลพบว่าตรงกับดาวที่อยู่ในบริเวณกลุ่มดาวโลมา ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามดาวสากลของดาวเกียงปืน คือ ดาวแอลฟา เดลฟินี (Alpha Delphini) มีชื่อสามัญว่า “ดาวซวอโลซิน” (Sualocin) ดาวบีต้า เดลฟินี (Beta Delphini) มีชื่อสามัญว่า “ดาวโรทาเน็ฟ” (Rotanev) ดาวแกมมา เดลฟินี (Gamma Delphini) และดาวเดลต้า เดลฟินี (Delta Delphini)
ในภาษาล้านนาคำว่า “เกียงปืน” หมายถึง “หน้าไม้” เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ล่าสัตว์และเมื่อเกิดศึกสงครามสามารถนำมาเป็นอาวุธเพื่อใช้ยิงใส่ศัตรูที่จะเข้ามาทำร้ายได้
นักษัตรที่ 24 ดาวไม้ส้าวแง่ม (ไม้สอยผลไม้ที่มีง่าม) : ศตภิษัต
ศตภิษัตเป็นฤกษ์นักษัตรที่ 24 ชาวฮินดูเรียกว่า ศตภิษา (Shatabhisha) นอกจากนี้ยังชื่ออื่น ๆ อีกเช่น วารุณ (Varuna) วารุณี (Varuni) วรุณเทว (Varunadeva) และ วรเุณศ (Varunesha) นอกจากเหล่าชื่อนี้ยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า และมอีกชื่อหนึ่งคือ ศฺรวิษฺฐา (Shravishtha) แต่ชื่อนี้ไม่ค่อยถูกนำมาใช่ ชาวล้านนาเรียกนักษัตรศตภิษัตว่า “ดาวไม้ส้าวแง่ม” ในผังดาวล้านนาระบุว่ามีดาวจำนวน 4 ดวง ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามดาวสากลของดาวไม้ส้าวแง่ม คือ ดาวซีต้า อควอรีอาย (Zeta Aquarii) และดาวอีกสามดวงที่ล้อบรอบดาวดวงนี้ คือ ดาวแกมมา อควอรีอาย (Gamma Aquarii) หรือมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ดาวซาดาคเบีย” (Sadachbia) ดาวอีต้า อควอรีอาย (Eta Aquarii) และดาวพาย อควอรีอาย (Pi Aquarii)
คำว่า “ไม้ส้าว” ในภาษาพื้นเมืองล้านนาเป็นคำที่ใช้เรียกไม้ไผ่ปลายด้านหนึ่งทำเป็นง่าม ไม้ส้าวเป็นอุปกรณ์ที่นิยมใช้สำหรับสอยผลไม้หรือสิ่งของที่อยู่สูง ๆ มือเอื้อมไม่ถึง โดยความยาวของไม้ส้าวจะแตกต่างกันไปตามการใช้งาน สำหรับคำว่า “แง่ม” ในภาษาเหนือมีความหมายเดียวกันกับคำว่า “ง่าม” คือส่วนปลายที่แยกเป็นสองหรือสามแฉก เมื่อนำทั้งสองคำมารวมกันจะหมายถึง “ไม้สอยที่มีง่าม”
ดาวภัทรบท
ดาวภัทรบทประกอบด้วยดาวสว่าง 4 ดาว เรียงตัวกับคล้ายเท้าโคจึงได้ชื่อว่า “ภัททปทะ” ดาวภัททปทะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 นักษัตร คือบุรพภัทรบทและอุตรภัทรบท
นักษัตรที่ 25 ดาวเนื้อทรายคำตัวผู้ : บุรพภัทรบท
บุรพภัทรบทเป็นฤกษ์นักษัตรที่ 25 ชาวฮินดูเรียกว่า ปูรฺวาภาทฺรปท (Purvabhadrapada) ชาวล้านนาเรียกนักษัตรบุรพภัทรบทว่า “ดาวเนื้อทรายคำตัวผู้” ในบางตำราเรียกว่า “ดาวพิดานหลวง” ในผังดาวล้านนาระบุว่าประกอบด้วยดาวจำนวน 2 ดวง ที่เป็นส่วนหนึ่งกลุ่มดาวม้าปีก ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามดาวสากลของดาวเนื้อทรายคำตัวผู้ คือ ดาวแอลฟา เพกาซี (Alpha Pegasi) มีชื่อสามัญว่า “ดาวมาร์แคบ” (Markab) และสมาชิกอีกดวงคือ ดาวบีตา เพกาซี (Beta Pegasi) มีชื่อสามัญว่า “ดาวซีแอท” (Scheat)
ตามคติความเชื่อของชาวล้านนาเนื้อทรายสีทองคำเพศผู้ เป็นสัตว์วิเศษ สัตว์มงคลที่บอกถึงความสมบูรณ์ของผืนป่า สัตว์ที่มาอยู่อาศัยในป่าได้อย่างอิสระปราศจากปลอดภัยอันอันตราย
นักษัตรที่ 26 ดาวเนื้อทรายคำตัวเมีย : อุตรภัทรบท
อุตรภัทรบทเป็นฤกษ์นักษัตรที่ 26 ชาวฮินดูเรียกว่า อุตฺตราภาทรฺปท (Uttarabhadrapada) นอกจากนี้ยังชื่ออื่น ๆ อีกเช่น “อหิรฺพุธฺนฺยเทวตา” (Ahirbudhnyadevata) และ “อหิรฺพุธฺนฺยเทวตฺย” (Ahirbudhnyadevatya) ชาวล้านนาเรียกนักษัตรบุอุตรภัทรบทว่า “ดาวเนื้อทรายคำตัวเมีย” ในผังดาวล้านนาระบุว่าประกอบด้วยดาวจำนวน 2 ดวง ที่อยู่ในกลุ่มดาวม้าปีกและกลุ่มดาวแอนโดรเมดา ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามดาวสากลของดาวเนื้อทรายคำตัวเมีย คือ ดาวแกมมา เพกาซี (Gamma Pegasi) มีชื่อสามัญว่า “ดาวอัลจีนิบ” (Algenib) และดาวแอลฟา แอนโดรเมดี (Alpha Andromedae) มีชื่อสามัญว่า “ดาวอัลเฟรัตซ์” (Alpheratz)
ตามคติความเชื่อของชาวล้านนาเนื้อทรายสีทองคำเพศเมีย เป็นสัตว์วิเศษ สัตว์มงคลที่บอกถึงความสมบูรณ์ของผืนป่า สัตว์ที่มาอยู่อาศัยในป่าสามารถอยู่ได้อย่างปลอดภัยและสืบพันธุ์ได้
นักษัตรที่ 27 ดาวปลาไนคำ : เรวดี
เรวดีเป็นฤกษ์นักษัตรที่ 27 ชาวฮินดูเรียกว่า เรวตี (Revati) นอกจากนี้ยังชื่ออื่น ๆ อีกคือ “เปาษฺณ” (Paushna) กับ “นกฺษตฺรเนมิ” (Nakshatranemi) ชื่อของนักษัตรเรวดีของชาวล้านนาที่ปรากฏในตำราดาวมีด้วยกัน 2 ชื่อ คือ ดาวปลาไนคำและดาวปลาซะเพียน (ปลาตะเพียน) ซึ่งในผังดาวล้านนาระบุดาวจำนวนมากเรียงกันเป็นรูปปลาทำให้สับสนในการนำมาเปรียบเทียบกับดาวบนท้องฟ้าจริง แม้ว่าจะนำไปเปรียบเทียบกับนักษัตรต้นฉบับของชาวฮินดูก็ยังไม่สามารถสรุปรูปร่างของนักษัตรเรวดีกับดาวปลาไนคำได้ แต่ด้วยความพยายามค้นหาข้อมูลจากหนังสือที่ยังพอมีหลงเหลืออยู่ก็สามารถระบุดาวทั้งหมดของดาวปลาไนคำได้ ซึ่งดาวสมาชิกแต่ละดวงกระจายตัวอยู่ในกลุ่มดาวสากล 2 กลุ่ม คือ กลุ่มดาวปลาคู่กับกลุ่มดาวแอนโดเมดา รวมแล้วมีดาวทั้งหมด 14 ดวง ดาวฤกษ์ที่ใช้เป็นดาวอ้างอิงตามดาวสากลของดาวปลาไนคำอยู่ในบริเวณกลุ่มดาวปลาคู่ 5 ดวง และอยู่ในบริเวณกลุ่มดาวแอนโดเมดาอีก 9 ดวง ดังต่อไปนี้
กลุ่มดาวปลาคู่ 5 ดวง
- ดาวไค พิสซิอัม (Chi Piscium)
- ดาวซายหนึ่ง พิสซิอัม (Psi1 Piscium)
- ดาวฟาย พิสซิอัม (Phi Piscium)
- ดาวอิปไซลอน พิสซิอัม (Upsilon Piscium)
- ดาวเทา พิสซิอัม (Tau Piscium)
กลุ่มดาวแอนโดเมดาอีก 9 ดวง
- ดาวบีต้า แอนโดรเมดี (Beta Andromedae) มีชื่อสามัญว่า “ดาวไมแรค” (Mirach)
- ดาวมิว แอนโดรเมดี (Mu Andromedae)
- ดาวนิว แอนโดรเมดี (Nu Andromedae)
- ดาว 32แอนโดรเมดี (32 Andromedae)
- ดาวเทา แอนโดรเมดี (Tau Andromedae)
- ดาวเดลต้า แอนโดรเมดี (Delta Andromedae)
- ดาวแอฟซิลอน แอนโดรเมดี (Epsilon Andromedae)
- ดาวซีต้า แอนโดรเมดี (Zeta Andromedae)
- ดาวอีต้า แอนโดรเมดี (Eta Andromedae)
ปลาไนเป็นปลาน้ำจืดมีรูปร่างลักษณะคล้ายปลาตะเพียนขาว ตามคติความเชื่อของชาวล้านนามักจะเติม “คำ” หมายถึง “ทองคำ” ต่อทาย เพื่อบ่งบอกถึงสัตว์ตัวนั้นเป็นสัตว์วิเศษ สัตว์มงคล ทำให้เจริญรุ่งเรือง เป็นสัตว์ล้ำค่าที่หายาก ในกรณีของปลาไนที่ถูกเรียกว่า “ปลาไนคำ” หมายถึงปลาไนสีทองคำ เป็นปลาวิเศษ ปลามงคล
ขอขอบคุณ
หอจดหมายเหตุดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) ขอขอบคุณ คุณกรกมล ศรีบุญเรือง นักวิชาการ สดร. ที่ได้ถ่ายทอดความรู้เนื้อหา 27 นักษัตรล้านนา กลุ่มดาวโบราณของชาวล้านนา โดยเทียบกับกลุ่มดาวบนท้องฟ้าตามหลักดาราศาสตร์สากล ให้สามารถอ่านได้สนุกและเข้าใจมากขึ้น
น้องธรรศ และน้องธรณ์ 2 พี่น้องฝาแฝด ที่มีใจรักในการวาดภาพมาช่วยพัฒนาจิตรกรรมดิจิทัล 27 นักษัตรล้านนา โดยใช้อุปกรณ์แท็ปเลตในการสร้างสรรค์ผลงานแสดงภาพการจินตนาการกลุ่มดาวเป็นรูปร่างต่าง ๆ ตามวิถีชีวิตของคนล้านนาให้ออกมาเป็นรูปแบบจิตรกรรมดิจิทัล ที่สามารถนำมาประสานให้เป็นศิลปะจิตรกรรมดิจิทัลได้อย่างร่วมสมัย
เนื้อหาบรรยาย
นายกรกมล ศรีบุญเรือง
นักวิชาการ สดร.
จิตรกรรมดิจิทัล
ประวัติย่อ
นายธรรศ วรพันธ์
ปีการศึกษา 2566 ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบทัศนศิลป์ เอกออกแบบผลิตภัณฑ์
นายธรณ์ วรพันธ์
ปีการศึกษา 2566 ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบทัศนศิลป์ เอกออกแบบผลิตภัณฑ์