ปรากฏการณ์บนฟากฟ้า :
ลูกไฟอุกกาบาตเชียงคาน
ระวี ภาวิไล
ราชบัณฑิตทางดาราศาสตร์
สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน
ข้อมูลอ้างอิง
ความรู้คือประทีป วารสารราย 3 เดือน
ฉบับเดือนกรกฎาคม – กันยายน ๓/๔๕ ISSN 0125-8583
จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่เป็นอภินันทนาการโดยฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
ปรากฏการณ์เมื่อก่อนย่ำรุ่งของวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. 2524 ในเวลา ๐๕.๓๐ น. ประชาชนจำนวนนับพันในจังหวัดภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ตื่นแต่เช้า ได้เห็นลูกไฟขนาดเท่าดวงจันทร์แต่ส่องสว่างแจ่มจ้ากว่า ปรากฏบนท้องฟ้า โดยเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วสู่ขอบฟ้าทางทิศเหนือ ในขณะเดียวกันก็มีการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์และสีสันไปด้วย แล้วในช่วงเวลาสั้นๆ ที่สืบเนื่องกันนั้นนเอง ที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ริมฝั่งแม่น้ำโขงชาวบ้านก็ได้เห็นลูกไฟระเบิดกลางอากาศกล่าวว่า เสียงระเบิดนั้นดังกึกก้องได้ยินทั่วทั้งจังหวัดเลยและจังหวัดใกล้เคียง ได้มีชิ้นส่วนจากการระเบิดกระจายสาดไปทั่วโดยตกลงบนหลังคาบ้าน ตามทุ่งนาและในลำน้ำโขง เชื่อว่าคงจะตกลงทางฝั่งประเทศลาวด้วย หลังคาสังกะสีของบ้านหลังหนึ่งมีรอยแตกทะลุเพราะถูกชนไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ พอรุ่งสว่างก็มีผู้เที่ยวหาเก็บไว้ได้จำนวนหนึ่ง
คำบอกเล่าจากปากคำของผู้เห็นเหตุการณ์มีหลากหลาย แม้จะตรงกันโดยภาพรวม แต่ประเด็นย่อยแตกต่างกัน ซึ่งก็เป็นธรรมดา การได้เห็นปรากฏการณ์ที่ไม่คาดคิด เกิดแล้วสิ้นสุดไปในช่วงเวลาสั้นเกิดขึ้นบนท้องฟ้า ซึ่งตามปกติไม่มีใครสนใจเฝ้ามองดู การกำหนดตำแหน่งและทิศทางก็ไม่มีความชำนาญ ดังนั้นผู้ที่ไม่ได้รู้เห็นเอง ไปเที่ยวสอบถามผู้อ้างว่าได้รู้เห็นก็มากได้รับข้อมูลที่สับสน ไม่อาจสรุปได้ว่าอะไรเกิดขึ้น เริ่มต้นอย่างไร สิ้นสุดอย่างไร อะไรเป็นสาเหตุ ฯลฯ ถ้าเป็นปรากฏการณ์ชนิดที่พยากรณ์ได้ล่วงหน้า เช่น สุริยุปราคา เป็นต้น ก็จะมีนักวิทยาศาสตร์ผู้ชำนาญการสังเกตการณ์บันทึกไว้ได้อย่างแม่นยำ ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพิ่มพูนความรู้โดยการวิเคราะห์
อย่างไรก็ตาม นับเป็นจังหวะเหมาะที่ก่อนย่ำรุ่งวันนั้น นักฟิสิกส์ผู้หนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันเป็นหัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ ผศ.ดร.พิสิษฐ์ รัตนวรารักษ์ กำลังเดิน-วิ่งออกกำลังที่ถนนพหลโยธิน ใกล้ซอยพหลโยธิน ๖ ได้เห็นปรากฏการณ์นั้น และบันทึกจดจำไว้ทันทีโดยอาศัยนาฬิกาข้อมือและการวัดมุมเงยของก้อนวัตถุสว่างบนท้องฟ้าด้วยนิ้วมือ เมื่อ ดร.พิสิษฐ์กลับถึงที่พักเช้าวันนั้น ก็บันทึกปรากฏการณ์ที่ได้พบเห็นไว้ ต่อมา ดร.พิสิษฐ์กลับไปที่เดิมอีกด้วยอุปกรณ์วัดมุมเงยชนิดธิโอโดไลท์ และทบทวนยืนยันการวัดมุมเงยและเวลาที่บันทึกไว้อีก เนื้อหาบันทึกของ ดร.พิสิษฐ์ มีดังต่อไปนี้:
๑. ได้เห็นวัตถุเป็นครั้งแรกที่มุมเงย ๕๐ องศา แนวทางเดียวกับถนนพหลโยธินในช่วงนั้น คือเป็นทิศทำมุมประมาณ ๑๓-๑๘ องศากับทิศเหนือทางไปตะวันออก (เมื่อผู้เขียนนำไปเปรียบเทียบกับแผนที่ประเทศไทยแล้ว เป็นทิศที่เล็งตรงไปยังอำเภอเชียงคาดจังหวัดพอดี)
๒. ดวงไฟสว่างนั้น มีขนาดเท่าดวงจันทร์เต็มดวงแต่แจ่มจ้ากว่า ตรงกลางดวงเป็นสีเขียวขอบดวงเป็นสี
น้ำเงิน เคลื่อนที่ลงตามแนวดิ่ง
๓. เมื่อเวลาผ่านไปราว ๗ วินาที มันเคลื่อนที่ลงถึงระดับมุมเงย ๒๕ องศา
๔. ที่ระดับนั้น มันเปลี่ยนรูเป็นเส้นสีแดงเรือง เคลื่อนที่ลงโดยมีการส่ายไปมาแล้วก็จางหายไป เมื่อถึงระดับมุมเงย ๑๕ องศาจากขอบฟ้า (ซึ่งที่ระดับต่ำกว่านั้น มีเมฆหมอกบังอยู่ตามปกติ) ขณะนั้นอยู่สูง ๑๓๙ ก.ม. จากการคำนวณ
หลังจากเหตุการณ์เช้ามืดวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๔ ก้อนอุกกาบาต ๒ ก้อน ถูกส่งถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผ่านทางกระทรวงมหาดไทย ผู้เขียนได้รับและพิจารณาวิเคราะห์ว่าเป็นอุกกาบาตจริง ทางมหาวิทยาลัยมอบหมายให้ผู้เขียนและคณะเดินทางไปสำรวจยังจังหวัดเลย ระหว่งวันที่ ๒๑-๒๓ พฤศจิกายน มีการสำรวจพื้นที่ สัมภาษณ์ราษฎร และรวบรวมก้อนอุกกาบาต ซึ่งได้ไม่มากนัก เพราะชาวบ้านปกปิดเก็บไว้ส่วนตัวโดยถือว่า เป็นของขลังศักดิ์สิทธิ์เพราะตกจากท้องฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยและนายอำเภอเชียงคาดให้ความอนุเคราะห์ จึงรวบรวมได้อีก ๒๙ ชิ้น ก้อนใหญ่ที่สุดหนัก ๕๑.๓ กรัม เล็กที่สุด ขนาด ๐.๒ กรัม รวมเป็นน้ำหนักทั้งสิ้น ๓๖๗ กรัม ขนาดเฉลี่ย ๒ ซ.ม. มีความหนาแน่น ๓.๖ กรัมต่อ ลบ.ซม. ซึ่งสูงกว่าก้อนหินบนพื้นโลก
เราได้จัดส่งอุกกาบาตสองชิ้นไปยังสถาบันสมิธโซเนียนในสหรัฐตามคำขอ ต่อมาได้รับแจ้งผลขั้นต้นว่า เป็นอุกกาบาตเนื้อหิน (Stony-meteority) ชนิด โอลีวีน บรอนไซท์ ซอนไดรท (Olivine Bronzite Chondrite) ชนิดเกรด H6 ซึ่งเป็นพวกมีแร่เหล็กมาก และพบได้บ่อย
ก้อนอุกกาบาต ซึ่งรวบรวมได้จากปรากฏการณ์เชียงคานเมื่อ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๔ มีการวินิจฉัยแล้วทั้งในประเทศไทยและสถาบันสมิธโซเนียนแห่งสหรัฐว่า เป็นอุกกาบาตชนิดซอนไดรท (Chondrites) นักวิเคราะห์แร่สหรัฐแจ้งว่า อุกกาบาตเชียงคานมีองค์ประกอบเป็นแร่ธาตุคิดเป็นเปอร์เซนต์ ดังต่อไปนี้
SiO2 ๓๗.๒๓, Tio2 ๐.๑๓, AI2 O3 ๒.๓๐, Cr2 O3 ๐.๕๐, Fe O ๙.๖๔, Mn O ๐.๓๒, Mg O ๒๓.๖๔, Ca O ๑.๗๓, Na 2 O ๐.๙๒, K2O ๐.๐๘, P2 O5 ๐.๒๔, H2O(+) ๐.๒๖, H2O(-) ๐.๐๒, Fe ๑๖.๑๗, Ni ๑.๖๖, Co ๐.๐๙, FeS ๕.๒๑, C ๐.๐๒ ซึ่งตัวเลขทั้งหมดรวมได้ ๑๐๐.๑๖ มีแร่เหล็กอยู่ในก้อนทั้งหมด ๒๖.๓๘% ดังนั้น อุกกาบาตนี้ แม้มองดูเผิน ๆ คล้ายก้อนหิน แต่จะถูกแม่เหล็กดูดให้เข้าหาได้
องค์ประกอบแร่ธาตุของซอนไดรทแม้ไม่นับธาตุเบาที่สุดสองธาตุ คือ H กับ He ก็มีสัดส่วนเหมือนดวงอาทิตย์ ดังนั้นจึงวินิจฉัยว่าบางส่วนของดวงอาทิตย์ก่อนอุบัติ (Solar Nebula) ได้กลั่นตัวเป็นซอนไดรท
ชื่อ “ซอนไดรท” นั้น เกี่ยวเนื่องกับการที่อุกกาบาตชนิดนี้ มีเม็ดแร่ธาตุกลมเรียกว่า “ซอนดรูล” (Chondrules) เป็นองค์ประกอบสำคัญอยู่ภายในก้อน ซึ่งจะไม่พบในก้อนหินบนโลก จึงนับเป็นของในห้วงอวกาศ ซอนดรูลทีขนาดเฉลี่ยราว ๑ มิลลิเมตร แต่ก็อาจพบได้ที่มีขนาดถึง ๗-๘ มิลลิเมตร ในซอนไดรทบางก้อนที่ผิวหุ้มแตกออก จะเห็นเม็ดซอนดรูลโตๆ ผุดขึ้นบนผิวแตกนั้น และอาจค่อยๆ แกะให้หลุดได้
มีการสันนิษฐานถึงการอุบัติขึ้นของซอนดรูล จากการรวมกันเข้าของเม็ดแข็งในอวกาศ ซึ่งมีอยู่ก่อนแล้ว โดยการหลอมเพราะความร้อน ก้อนรวมจะหลอมเหลวอยู่ไม่นานแล้วจะแข็งตัว และรวมตัวเข้ากับสารวัตถุจากส่วนอื่นของกลุ่มใหญ่ซึ่งบางส่วนกลั่นตัวลงเป็นดวงอาทิตย์ ส่วนซอนดรูลก็ฝังอยู่ในอุกกาบาตซอนไดรทอย่างที่ได้พบกันในปัจจุบัน
เมื่อเอาก้อนอุกกาบาตซอนไดรทมาผ่าตัดออกเป็นแผ่น แล้วฝนจนเป็นส่วนบาง (Thin Section) นำไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ที่มีแสงโพลาไรซ์ส่องผ่าน จะเห็นโครงสร้างภายในของซอนดรูลมีความงดงามมาก
ก้อนอุกกาบาตเชียงคานทุกก้อน มีผิวสีดำหนาเฉลี่ย 2 มม.หุ้ม มีลักษณะเป็นหินทรายหลอมละลายด้วยความร้อนสูงแล้วกลับแข็งตัว ก้อนที่แตกแสดงเนื้อในสีเทา มีเม็ดแร่โลหะสีดำกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปนอกจากนี้ สังเกตได้ว่ามีซอนดรูลแทรกแซงอยู่ด้วย
อุกกาบาต ๓๑ ก้อนที่รวบรวมได้ในช่วงสำรวจครั้งแรกสามวันนั้น ส่วนใหญ่แตกหัก มีไม่กี่ก้อนที่เกือบสมบูรณ์ การแตกหักอาจเป็นเพราะความร้อน หรือวิ่งพุ่งชนของแข็ง หรือถูกทุบ เพื่อดูเนื้อในโดยผู้เก็บได้
รูปร่างทั้งก้อนของพวกที่เกือบสมบูรณ์น่าสนใจมาก เพราะมีนัยบ่งบอกถึงการเคลื่อนที่ในอากาศของสารวัตถุที่ร้อนจัดหลอมเหลวแล้วเย็นตัวลงในขณะที่ยังเคลื่อนที่อยู่นั้นด้านที่ปะทะกับอากาศโค้งนูนแบบหลังเต่า ที่ผิวหุ้มดำของบางก้อนลักษณะการถูกกระแสอากาศพัดผ่าน ทำให้ผิวที่ยังหลอมเหลวอยู่ไหลเป็นทางๆ ก่อนแข็งตัว ด้านหลังหรือด้านตรงกันข้ามกับทิศทางเคลื่อนที่แบนเป็นวงล้อมรอบด้วยขอบที่น่าจะเกิดจากการที่สารวัตถุเหลวที่ไหลลงมาจากด้านหน้าแข็งตัว
แม้จากการพิเคราะห์รูปลักษณ์ของอุกกาบาตเชียงคานในขั้นนี้ ก็อาจสร้างภาพส่วนหนึ่งของเหตุการณ์นั้นได้ว่า มีก้อนวัตถุใหญ่ร้อนจัดอย่างยิ่ง ขณะเคลื่อนที่ลงมาตามแนวดิ่งเหนืออำเภอเชียงคาน ระเบิดออกอย่างรุนแรง ชิ้นส่วนกระจายออกทุกทิศทาง (อย่างที่เรามักเห็นภาพคล้ายคลึงกันของพลุในงานฉลอง ที่ถูกยิงขึ้นไประเบิดกลางอากาศ แต่กรณีนี้ มีขนาดและความแรงยิ่งกว่ามาก) ในขณะที่เคลื่อนที่ ชิ้นส่วนเหล่านั้นเย็นตัวลงและถูกโลกดึงดูดให้ตกลงสู่พื้นดิน
พวกที่มีทิศทางสู่พื้นดินโดยตรง ถึงดินก่อน และอาจจะแรงพอที่จะทำให้หลังคาบ้านทะลุได้ อาจนับเป็นโชคดีที่ยังไม่ทันสว่าง ผู้คนไม่ได้ออกนอกบ้านกันมากนัก ส่วนก้อนที่กระจายออกทางด้านข้างก็ตกถึงพื้นดินเป็นรุ่นหลังสุด แต่ไม่น่าจะห่างนานเท่าใดนัก
ผู้เขียนได้ทำการคำนวณคร่าวๆ ถึงการเคลื่อนที่ของก้อนวัตถุที่เคลื่อนที่มาตามเส้นทางของธารอุกกาบาต
ลีโอนิดส์ ด้วยความเร็ว ๗๒ กิโลเมตรต่อวินาที อาศัยสังเกตการณ์ของ ดร.พิสิษฐ์ที่ว่าเห็นก้อนวัตถุขณะแรกที่มันทำมุม ๕๐ องศากับระดับราบระยะทางตามผิวโลกจากกรุงเทพฯ ถึงอำเภอเชียงคาน ประมาณ ๕๒๐ กิโลเมตร ใช้หลักตรีโกณมิติคำนวณได้ว่า ขณะนั้นมันอยู่สูงกว่าพื้นดินที่เชียงคาน ๖๒๐ กิโลเมตร และพุ่งลงสู่ผิวโลกที่เชียงคานตามแนวดิ่ง
มันจะถึงพื้นดินในเวลา ๖๒๐/๗๒ = ๘.๖ วินาที แต่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้น เริ่มต้นที่ความสูง ๑๐๐ กิโลเมตร โดยประมาณจากผิวโลก เพราะการเสียดสี ต่อต้านโดยบรรยากาศที่หุ้มห่อโลก
ก้อนวัตถุผ่นระยะความสูง ๑๐๐ กิโลเมตรนั้น เมื่อนับเวลาจากระยะที่ ดร.พิสิษฐ์ เห็นครั้งแรกได้
ความสูงนี้ มองจากกรุงเทพฯ ทำมุม
ดร.พิสิษฐ์ สังเกตเห็นว่าวัตถุนั้นซึ่งเป็นดวงกลมค่อยๆ เปลี่ยนสี เคลื่อนที่ลงสู่ขอบฟ้าตามเส้นดิ่ง กะเวลาได้ ๗ วินาที ก็หายไปต่อจากนั้น เปลี่ยนรูปเป็นเส้นซึ่งคล้ายจะพร่ามัวถูกบังคับด้วยเมฆที่ขอบฟ้า
ความรู้เราที่เรามีเรื่องโครงสร้างของดาวหางและความหนาแน่นของชั้นบรรยากาศที่เพิ่มขึ้นเมื่อใกล้ผิวโลก น่าจะอธิบายปรากฏการณ์ทั้งหมดได้ เมื่อเสนอสมมติฐานว่าวัตถุที่เคลื่อนที่มาในธารอุกกาบาตลิโอนิดส์นั้น คือ ก้อนใจกลางหัวดาวหางเทมเปล-ทัดเดิล หรือบางส่วนที่แตกตัวจากก้อนใจกลาง แต่ยังอยู่ในวงทางโคจร ซึ่งทำให้มันพุ่งตัวผ่านบรรยากาศองโลกเข้ามา ทำให้เกิดปรากฏการณ์ลุกไฟอุกกาบาตเชียงคานขึ้น
เราไม่ทราบว่าดาวหางเทมเปล-ทัดเดิล โคจรอยู่ที่ไหนก่อนปรากฏการณ์ดังกล่าวพอเชื่อได้ว่า ถ้ายังไม่สลายตัวกระจัดกระจายหมด ก็น่าจะเหลือบางส่วนแม้ลดขนาดลงมากและยังโคจรในวงทางเดินรอบดวงอาทิตย์ใกล้เคียงกับวงทางอุกกาบาตลีโอนิดส์ ซึ่งตัดกับวงทางโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ในช่วง ๑๒-๒๐ พฤศจิกายนของทุกปี
สมมติฐานที่ผู้เขียนขอเสนอ ก็คือดาวหางเทมเปล-ทัดเดิล ซึ่งลดขนาดลงมากแล้วได้พุ่งเข้าชนโลกตามแนวดิ่ง
ก่อนเวลา ๐๕.๓๐ น. ดาวหางยังอยู่ห่างจากโลก นับว่ายังไม่เข้ามาในบรรยากาศของโลก ดังนั้น น่าจะมีรูปลักษณ์และองค์ประกอบครบถ้วนแบบดาวหาง กล่าวคือ
๑. ก้อนวัตถุที่เป็นใจกลางหัว (Neucleus)
๒. ก๊าซและฝุ่นซึ่งถูกแสงอาทิตย์แผดเผาให้ระเหิดออกมาห่อหุ้มเป็นส่วนกลางของหัว ปรากฎเป็นดวงกลมสว่าง เพราะสะท้อนแสงอาทิตย์ (Central Condensation)
๓. ส่วนในของข้อ ๒ นั้นขยายตัวออก ปรากฏเป็นส่วนหัว (Coma) ของดาวหาง
๔. ส่วนในของข้อ ๓ ถูกรังสีและลมสุริยะ (Solar wind) จากดวงอาทิตย์พัดให้เกิดเป็นหางฝุ่น (Dust Tail) และหางอิออน (Ion Tail) หรือหางก๊าซ ยึดออกในทิศทางตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ หางฝุ่นแผ่บานเป็นรูปพัด
หางอิออนเหยียดยาวออก
ในกรณีดาวหางวนเป็นรอบ (Periodic Comet) เช่น เทมเปล-ทัดเดิลนั้น เพราะได้เข้าใกล้ดวงอาทิตย์แล้วมากรอบ ถูกดวงอาทิตย์แผดเผาให้ก๊าซระเหิดออกมาเกือบหมด และฝุ่นจัดตัวเป็นผิวแข็งห่อหุ้มก้อนในกลางหนา จึงมักไม่มีหางส่วนในข้อ ๔ แสดงตัวให้เห็นในสังเกตการณ์
ผู้เขียนขอเสนอขั้นตอนสมมติฐานการพุ่งเข้าชนโลก ในตอนก่อนรุ่งของวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๔ ดังต่อไปนี้
เวลา ๐๕.๓๐ น. ดาวหางเทมเปล-ทัดเดิลอยู่ในเส้นทางที่จะพุ่งเข้าชนผิวโลกตามแนวดิ่ง โดยยังอยู่ห่างหรือสูง ๖๒๐ กิโลเมตรจากผิวโลกตรงอำเภอเชียงคาน ขณะนั้นยังไม่เข้าสู่บรรยากาศของโลก ซึ่งมีความหนาแน่นเพียงพอที่จะต้านทาน จึงมีลักษณะเป็นดาวหาง กล่าวคือเป็นดวงสว่างของส่วนกลางหัว และส่วนหัวขนาดใหญ่เท่าดวงจันทร์แต่สว่างจ้ากว่า เป็นตอนที่ ดร.พิสิษฐ์เริ่มสังเกตเห็น สูง ๕๐ องศา โดยกลางดวงเป็นสีเขียวขอบดวงเป็น
สีน้ำเงิน
เมื่อวัตถุนี้เคลื่อนที่ลงมาด้วยความเร็ว ๗๒-๕๔ กิโลเมตร/วินาที จะเริ่มเข้าสู่บรรยากาศของโลกซึ่งหนาแน่นขึ้นตามลำดับและจะเสียดทานพัดเอาส่วนหัวและส่วนกลางของหัวให้หลุดออกจนหมดภายในระยะเวลาประมาณ 7 วินาที ที่ ดร.พิสิษฐ์ สังเกตว่าดวงทั้งหมดที่เห็นจางหายไป (น่าจะเป็นว่าลดขนาดลงจนหมดในช่วงเวลานั้น) ดังนั้นเมื่อถึงขณะนั้น ที่ระดับ ๒๔๒ กิโลเมตร มุม ๒๕ องศา ดาวหางจะเหลือแต่ก้อนใจกลางซึ่งเสียดสีกับบรรยากาศซึ่งหนาขึ้น เป็นการเสียดสีอย่างรุนแรงพลังจลน์ของการเคลื่อนที่ (Kinetic Energy) แปรรูปเป็นพลังงานความร้อนมหาศาล ซึ่งนอกจากจะหลอมรวมให้สารวัตถุที่ยังเหลืออยู่ของก้อนใจกลางนั้นแล้ว ยังมากพอที่จะให้กลางเป็นการระเบิดใหญ่ในบรรยากาศของโลก มีเสียงกึกก้องได้ยินกันทั่วจังหวัดเลย และจังหวัดใกล้เคียง
ชิ้นส่วนของการระเบิด จะกระจายออกจากกลุ่มระเบิดซึ่งน่าจะสูงจากพื้นดินราวไม่เกิน ๑ กิโลเมตร ออกโดยรอบทุกทิศทาง ชิ้นส่วนเหล่านั้นเย็นตัวลงกลางอากาศเพราะการเสียดสีกับอากาศแล้วตกลงทุกหนแห่งตามภูมิประเทศ ทั้งตามทุ่งนาป่าเขา หมู่บ้าน ลำน้ำโขง และแม้กระทั่งดินแดนลาว
การเสียดสีและเย็นตัวในอากาศทำให้อุกกาบาตเชียงคานแต่ละชิ้นมีรูปร่างและร่องรอย แสดงให้เห็นสภาพที่มันเผชิญในอาณาบริเวณกว้างของเข้ามืดวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๔ นั้น
หลังจากเหตุการณ์ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๔ ผ่านไปแล้วช่วงเวลาหนึ่ง ก็มีข่าวส่งมาถึงผู้เขียนจากจังหวัดเลยว่า มีผู้ประสงค์จะขายก้อนอุกกาบาตให้จำนวนหนึ่ง จึงได้ส่งผู้แทนไปรับซื้อมามีก้อนหนึ่งใหญ่เป็นพิเศษหนักมาก หนักกว่า ๑ กิโลกรัม (๑,๒๔๑.๒ กรัม) ได้ซื้อไว้เป็นสมบัติของมหาวิทยาลัย ก้อนนี้ต่อมาสถาบันมิธโซเนียน
ได้ขอยืมไปวิเคราะห์อย่างละเอียดโดยวิธีการที่ไม่ต้องผ่าดู เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้ส่งข่าวมาให้ทราบว่า เนื่องจากพบว่าปริมาณธาตุโคบอลต์ ๖๐ สูงมาก ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ก้อนวัตถุต้นตอที่วิ่งเข้ามาสู่โลกนั้น ค่อนข้างใหญ่โต ประเด็นนี้ ดูจะยืนยันสนับสนุนสมมติฐานที่ว่า ก้อนวัตถุนั้น คือ ใจกลาง (Nucleus) ของดาวหางเทมเปล-ทัดเดิล ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
เมื่อการศึกษาวิเคราะห์ก้อนอุกกาบาตเสร็จสิ้นลงแล้ว สถาบันสมิธโซเนียนก็ได้ส่งคืนกลับมา ในป้จจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอประวัติจุฬาฯ
คุณภาสุรี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา บุตรสาวของ ศาสตรจารย์ระวี ภาวิไล ได้มอบวัตถุอวกาศ ให้กับ
หอจดหมายเหตุดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แหงชาติ (องค์การมหาชน) จำนวน 15 รายการ โดยแสดงไว้ ณ ห้องแสดงจดหมายเหตุดาราศาสตร์ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จังหวัดเชียงใหม่