บันทึกความทรงจำ ๒๕ ปีสุริยุปราคาเหนือฟ้าเมืองไทย ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๘
รองศาสตราจารย์ บุญรักษา สุนทรธรรม
ที่ปรึกษา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ถ้าไม่นับปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่เห็นมาหลายครั้งตั้งแต่ยังเป็นเด็กนักเรียน ความทรงจำของผมตั้งแต่เข้ามาอยู่ในวงการดาราศาสตร์อย่างเป็นเรื่องเป็นราวตั้งแต่เป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งแต่ ปีพ.ศ. ๒๕๑๓ จนได้มาเรียนและทำกิจกรรมดาราศาสตร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ มีเรื่องราวทางดาราศาสตร์เผยแพร่ออกมาตลอดเวลา และดูเหมือนว่าในสมัยนั้น ถ้านักเรียนคนไหนไม่ได้ไปฟังบรรยายและดูดาวท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ก็จะเป็นเด็กที่ไม่ทันสมัย ด้วยเหตุนี้ เด็กนักเรียนทุกคนในสมัยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กสายวิทยาศาสตร์ก็จะพยายามหาโอกาสไปดูท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ถึงกระนั้นก็ตามความสนใจและกระแสตื่นตัวด้านดาราศาสตร์ของไทยยังมีน้อยมากในขณะนั้น จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ในราวเดือนมีนาคม ปรากฏดาวหางฮัลเลย์เหนือฟ้าเมืองไทย ดาวหางฮัลเลย์เป็นดาวหางที่มีชื่อเสียงมาก กลับมาปรากฏให้ชาวโลกเห็นทุก ๗๖ ปี ตอนนั้นผมเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดูแลหอดูดาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่ในตอนนั้น มีข่าวเกี่ยวกับการมาของดาวหางฮัลเลย์ในหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุ ทีวีอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดกระแสความตื่นตัวอย่างมากต่อประชาชนทั่วประเทศในปรากฏการณ์นี้ ผมคิดว่าการปรากฏดาวหางฮัลเลย์ในครั้งนั้นเป็นตัวจุดประกายให้เกิดความตื่นตัวทางดาราศาสตร์อย่างกว้างขวางเป็นครั้งแรก ผู้คนคราคร่ำที่หอดูดาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทุกคืนในช่วงนั้นจนแทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน หลังจากนั้นความสนใจทางดาราศาสตร์ของประชาชนจึงเริ่มก่อตัวขึ้นตามลำดับ
ล่วงมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ช่วงนั้นมีข่าวเกี่ยวกับ “ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงที่จะเห็นได้ในประเทศไทย” ความตื่นตัวในปรากฏการณ์ดาราศาสตร์จึงเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยเริ่มจากหน่วยงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง งานนี้สมาคมดาราศาสตร์ไทยและท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ซึ่งสังกัดภายใต้กรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการการสังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงเหนือฟ้าเมืองไทยในครั้งนั้น โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยบูรพา ส่วนด้านการประชาสัมพันธ์ ได้เชิญคุณ บุญพีร์ พันธ์วร ฝ่ายประชาสัมพันธ์และกิจกรรมสัมพันธ์ บริษัทสยามกลการและนิสสันเซลส์ จำกัด มาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงและทำงานอย่างมืออาชีพ ก่อตั้งโครงการ “ธิงค์เอิร์ธ ธิงค์สกาย (Think Earth, Think Sky)” ชื่อภาษาไทยเรียก “โครงการตรึกดินตรองฟ้า ตรึกฟ้าตรองดิน” ขึ้นมาเพื่อเตรียมการรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และศึกษาปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง
ประเทศไทยจัดพิมพ์แสตมป์ที่ระลึก
“สุริยุปราคาเต็มดวงเหนือฟ้าเมืองไทย ๒๔ ตุลาคม ๒๕๓๘”
ความประทับใจของผมก็คือ “ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงเหนือฟ้าเมืองไทย ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๘” เป็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่คนที่อยู่บางตำแหน่งบนพื้นโลก จะเห็นความสวยงามตระการตาในช่วงเต็มดวงจริงๆ เพียงไม่เกิน ๒ นาทีเท่านั้น สามารถสร้างความตื่นตัวทางดาราศาสตร์ให้คนทั่วประเทศไทยได้อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้ “ดาราศาสตร์” เป็นเรื่องที่คนคุ้นเคยทั่วประเทศ ผมเชื่อว่าเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่จุดประกายให้ประเทศไทยพัฒนาดาราศาสตร์อย่างก้าวกระโดดดังที่เห็นในปัจจุบัน
การเตรียมการและการประชาสัมพันธ์ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเหนือฟ้าเมืองไทยในครั้งนั้นดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจังล่วงหน้าเป็นเวลากว่า ๒ ปี สมาคมดาราศาสตร์ไทย และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งโครงการธิงค์เอิร์ธ ธิงค์สกายทำงานอย่างหนัก ผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานฝ่ายวิชาการในการดำเนินการเตรียมการและประชาสัมพันธ์ในครั้งนั้น มีการจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการสังเกตสุริยุปราคาเต็มดวงให้กับโรงเรียน สถาบันการศึกษาต่างๆ โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะเจ้าหน้าที่ ตลอดจนผู้บริหารและอาจารย์สถาบันการศึกษาในทุกจังหวัดในประเทศไทยที่แนวคราสเต็มดวงพาดผ่านทั้ง ๘ จังหวัดตั้งแต่จังหวัดตากถึงจังหวัดสระแก้ว มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทรรศน์อย่างกว้างขวางในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ผมเชื่อว่ามีคนไทยน้อยมากในช่วงนั้นที่จะไม่รู้ว่าจะมีสุริยุปราคาเต็มดวงเหนือฟ้าเมืองไทย วันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๘
ผมได้รับมอบหมายจากกระทรวงศึกษาธิการให้ดำเนินการจัดหากล้องโทรทรรศน์ กล้องถ่ายภาพ และอุปกรณ์ต่างๆเพื่อเตรียมศึกษาและบริการวิชาการกิจกรรมสุริยุปราคาเต็มดวงเหนือฟ้าเมืองไทยให้แก่หน่วยงานทุกหน่วยงานที่จัดกิจกรรมดาราศาสตร์ตลอดแนวคราสเต็มดวง ดังนั้นหน่วยงานทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่สมาคมดาราศาสตร์ไทย มหาวิทยาลัยต่างๆที่ร่วมจัดกิจกรรมตลอดแนวคราสเต็มดวงมีอุปกรณ์พร้อมเพื่อการบริการวิชาการแก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง
เรื่องที่มีความประทับใจและเป็นศิริมงคลเป็นอย่างสูงของผมในการเตรียมการสังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้คือ การเตรียมสถานที่สังเกตการณ์ที่เหมาะสมสำหรับการเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่จะทรงโปรดเกล้าฯนำนักเรียนนายร้อย จปร. ประมาณ ๑๐๐๐ คนร่วมศึกษาปรากฏการณ์ครั้งสำคัญนี้ เงื่อนไขในการแสวงหาสถานที่ถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีก็คือ ต้องเป็นพื้นที่ที่กว้างขวาง ปลอดภัย สามารถสังเกตการเกิดสุริยุปราคาได้ตั้งแต่สัมผัสแรก (First Contact) จนถึงช่วงคราสจับเต็มดวง (Total Eclipse) และสามารถสังเกตช่วงคราสเต็มดวงได้นานที่สุด
พื้นที่แรกที่ผมเห็นว่าเหมาะสมและเดินทางมาสังเกตการณ์ได้สะดวกคือ “บึงบรเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์” เป็นบึงทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีเกาะกลางน้ำขนาดใหญ่
มีภูมิประเทศเหมาะสมตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้โดยได้รับความอนุเคราะห์อย่างดีจากกรมประมงในการจัดเตรียมสถานที่เสด็จสังเกตการณ์ แต่เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น กล่าวคือในช่วงเตรียมการปรากฏว่ามีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง จนน้ำท่วมหลายพื้นที่ในประเทศไทย รวมทั้งที่เกาะกลางบึงบรเพ็ดที่กำลังเตรียมพื้นที่รับเสด็จฯ ที่ถูกน้ำท่วมมิด ด้วยเกรงว่าพื้นที่นี้จะไม่พร้อมสำหรับการเสด็จพระราชดำเนินในวัเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ผมจึงประสานงานด่วนไปยังกองงานในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนฯ และตัดสินใจต้องเปลี่ยนสถานที่เสด็จพระราชดำเนินฯโดยทันที หลังจากปรึกษากับกรรมการเตรียมจัดงาน เห็นว่า “สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) วิทยาเขตสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา” เป็นสถานที่ที่เหมาะสมและสมพระเกียรติที่สุดสำหรับการเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องจากเป็นที่สูงอยู่นอกเขตอุทกภัย มีสนามขนาดใหญ่รองรับคนจำนวนมากได้ มีอาคารที่ประทับพักผ่อนพระราชอริยาบถ ณ ตำแหน่งนั้นสามารถสังเกตคราสเต็มดวงได้ยาวนานถึง ๑ นาที ๕๒ วินาที และการเดินทางมายังสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ วิทยาเขตสีคิ้ว จังหวัดนครสวรรค์มีความสะดวกและปลอดภัย จึงตัดสินใจเลือกสถานที่แห่งนี้เป็นที่เสด็จพระราชดำเนินซึ่งได้รับความเห็นชอบจากกองงานกองงานในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนฯ เรียบร้อยแล้ว จึงได้ประสานงานกับผู้บริหารของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ต่อไป
สถานที่จัดทอดพระเนตร “สุริยุปราคาเต็มดวงเหนือฟ้าเมืองไทย”
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) วิทยาเขตสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา
จำได้ว่าช่วงก่อนการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ ประมาณ ๑ สัปดาห์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ผมและคุณอารีสวัสดีไปบรรยายที่โรงเรียนนายร้อย จปร. ให้แก่อาจารย์และนักเรียนนายร้อย จปร. ที่จะไปร่วมสังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงที่เตรียมสถานที่ไว้แล้วที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา โดยพระองค์และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาทรงเสด็จฯไปฟังบรรยายในครั้งนั้นด้วย นับเป็นความปลื้มปิติอย่างหาที่สุดมิได้อีกครั้งหนึ่งที่ผมได้มีโอกาสกราบบังคมทูลถวายคำบรรยายต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งในเย็นวันนั้นพระองค์เสด็จมายังโรงเรียนนายร้อย จปร. จังหวัดนครนายก พร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา อาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร.และนักเรียนนายร้อย จปร. ทุกชั้นปี ผมเป็นผู้ถวายคำบรรยายเป็นคนแรกเรื่องการเกิดสุริยุปราคา เทคนิคการตั้งกล้องและการสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์อย่างไรให้ปลอดภัย คุณอารี สวัสดีถวายคำบรรยายการคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงวันที่ ๒๔ ตุลาคมโดย ผศ. ดร.ขาว เหมือนวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตำแหน่งสำคัญตลอดแนวคราสเต็มดวง ๘ จังหวัดในประเทศไทย เพื่อเป็นข้อมูลก่อนเสด็จฯไปทอดพระเนตรสุริยุปราคา
ในที่สุดวันที่รอคอยก็มาถึง เวลาประมาณ ๙.๒๓ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีพร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จมาถึงสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ วิทยาเขตสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ผู่ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาและคณะ กรรมการสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี ผู้บริหารและคณาจารย์ และผมในฐานะอุปนายกสมาคมดาราศาสตร์ไทยและผู้ตามเสด็จถวายรายงาน ยืนเข้าแถวรับเสด็จ แล้วทูลเชิญเสด็จฯเข้าสู่อาคารที่ประทับเพื่อเตรียมรอเสด็จฯออกไปสังเกตการณ์ที่ฐานสังเกตการณ์ด้านนอกที่ทางภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดเตรียมกล้องโทรทรรศน์พร้อมแผ่นกรองแสงอาทิตย์ กล้องโทรทรรศน์ติดตั้งกล้องถ่ายภาพ ซีซีดี ซึ่งสามารถถ่ายภาพดวงอาทิตย์เป็นแบบดิจิตอล ซึ่งในช่วงนั้นยังถือว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ทางด้านดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เตรียมไว้สำหรับพระองค์เพื่อทรงสังเกตการณ์ จำได้ว่าผมเตรียม “ก้อนเทคไทด์ (tektite)” หรือบางทีเรียก “อุลกมณี” ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนแก้วซิลิเกต (Silicate) แข็งสีดำ ผิวขรุขระ ผมให้ช่างแกะสลักแกะเป็นรูป “พระราหูอมจันทร์ (หรืออาทิตย์)” สวยงาม ถวายแด่พระองค์ท่านในตอนนั้นด้วย พระองค์ท่านก็ทรงรับสั่งว่าคนในวังก็ถวายเครื่องรางพระราหูอมจันทร์แด่พระองค์ท่านเช่นกัน ตามประเพณีความเชื่อโบราณ ผมมีความสุขมากที่ได้มีโอกาสถวายก้อนเทคไทต์แกะสลักรูปพระราหูอมจันทร์แด่พระองค์ท่าน
ช่วงที่พระองค์ท่านเสด็จฯมาถึง ดวงจันทร์เริ่ม “สัมผัสที่ ๑” บังดวงอาทิตย์ด้านบนบางส่วนไปแล้ว แต่แสงยังจ้าอยู่มาก ผมถวายรายงานแก่พระองค์ ในใจภาวนาว่าตอนคราสจับเต็มดวงในขณะที่พระองค์ท่านเสด็จฯออกไปทอดพระเนตร ขออย่าให้มีเมฆมาบดบังเลย เพราะว่าตอนช่วงเช้าที่พระองค์ยังเสด็จฯมาไม่ถึง มีเมฆเคลื่อนที่มาบังดวงอาทิตย์เป็นครั้งคราว ท้องฟ้าไม่แจ่มใสนัก จนเมื่อดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์มากกว่าครึ่งดวง แสงอาทิตย์เริ่มอ่อนจางลง จึงกราบทูลพระองค์ท่านและพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาเสด็จไปยังฐานสังเกตการณ์ที่ได้เตรียมไว้ พระองค์ท่านและพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จมาถึงฐานสังเกตการณ์ท่ามกลางคณะอาจารย์และนักเรียนนายร้อย จปร.ที่มาร่วมสังเกตการณ์ รวมทั้งประชาชนจำนวนมากนับพันคนรอเฝ้ารับเสด็จฯ พระองค์และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาเสด็จประทับยืนทอดพระเนตร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงใช้แผ่นกรองแสงที่สมาคมดาราศาสตร์ไทยทูลเกล้าฯถวายส่องทอดพระเนตรดวงอาทิตย์ โดยมีผมและคุณ บุญพีร์ พันธ์วรยืนถวายงานอยู่ในบริเวณนั้นด้วย บรรยากาศเริ่มขมุกขมัว อากาศเริ่มเย็นลง มีลมพัดเบาๆทั่วอาณาบริเวณ ท้องฟ้ากลับปลอดโปร่งอย่างยิ่งในขณะนั้น ก้อนเมฆกระจายหายไปสิ้น ผมดีใจมาก ด้วยชัดเจนแล้วว่าพระองค์และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาจะได้ทรงทอดพระเนตรตอน “คราสเต็มดวง” ได้อย่างแน่นอน
ทอดพระเนตรดวงอาทิตย์ผ่านแผ่นกรองแสง
เวลา ๑๐ นาฬิกา ๕๑ นาที ๔๗ วินาที เกิดสัมผัสครั้งที่ ๒ ดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์เต็มดวง ท่ามกลางเสียงโห่ร้องอื้ออึงของประชาชนรอบบริเวณนั้น ผมกราบทูลพระองค์ท่านและพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทอดพระเนตรคราสเต็มดวงโดยไม่ต้องใช้แผ่นกรองแสง พระองค์ท่าน พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และทุกคนในที่นั้นเห็น “คราสเต็มดวง” อย่างเต็มตาท่ามกลางฟ้าที่ปลอดโปร่ง ดุจดังภาพยนตร์จอยักษ์ที่กำลังฉายภาพอยู่บนท้องฟ้า เห็นปรากฏการณ์ “ลูกปัดเบลลีย์ (Baily’s Beads)” และปรากฏการณ์ “แหวนเพ็ชร (Diamond Ring)” อย่างชัดเจน พอคราสเริ่มมืดมิด กลับเห็นแสง “โคโรนา (Corona)” ซึ่งเป็นบรรยากาศชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์ แผ่รัศมีออกมา ปรากฏต่อสายตาอย่างน่าอัศจรรย์ คราสเต็มดวงผ่านไปอย่างรวดเร็วเป็นเวลา ๑ นาที ๕๔ วินาที กลับเห็นปรากฏการณ์แหวนเพ็ชร และลูกปัดเบลลีย์อีกครั้งหนึ่ง ก่อนเสี้ยวสว่างของดวงอาทิตย์กลับปรากฏออกมาอีกครั้งหนึ่งหลังสัมผัสที่ ๓
ปรากฏการณ์แหวนเพชรและ “คราสเต็มดวง”
(http://umbra.nascom.nasa.gov and www.christiantoday.com)
เป็นความปลื้มปิติอันล้นพ้นที่ภารกิจการถวายงานแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด ผมหันมาสัมผัสมือกับคุณ บุญพีร์ พันธ์วรด้วยความดีใจอย่างที่สุด แทบลืมไปว่าทั้งสองพระองค์ยังเสด็จประทับยืนอยู่ใกล้ๆ แต่ทันใดนั้นก็มีแสงสว่างวาบขึ้นเบื้องหน้าเราทั้งสอง ผมรู้สึกตกใจหันกลับไปดู แล้วก็ต้องปลื้ม
ปิติเป็นล้นพ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อพบว่าที่มาของแสงสว่างวาบคือ ไฟแฟลชจากกล้องของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เราทั้งสองคนโค้งถวายเคารพแด่พระองค์ท่านด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้รับเกียรติยศปรากฏในกล้องขององค์ช่างภาพกิตติมศักดิ์ ในวันแห่งประวัติศาสตร์เช่นนี้
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีโปรดเกล้าฯพระราชทานถ่ายภาพผู้ถวายงาน
หลังจากนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงเสด็จพระราชดำเนินและมีพระราชปฏิสันถารกับประชาชนที่รอเฝ้ารับเสด็จฯ แล้วเสด็จไปทอดพระเนตรฐานสังเกตการณ์ของสมาคมดาราศาสตร์ไทย และฐานสังเกตการณ์ของภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับเวลาประมาณ ๑๑ นาฬิกา ๓๐ นาที
เสด็จเยี่ยมฐานสังเกตการณ์ของสมาคมดาราศาสตร์ไทย และของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผมเชื่ออย่างยิ่งว่าปรากฏการณ์ สุริยุปราคาเหนือฟ้าเมืองไทย ๒๔ ตุลาคม ๒๕๓๘ เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่จุดประกายและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาดาราศาสตร์ในประเทศไทยอย่างมาก ทำให้คนไทยรู้จักและตื่นตัวในองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมาก โชคดีในปีนั้น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รับเป็นเจ้าภาพร่วมกับมหาวิทยาลัยเนบราสกา วิทยาเขตลินคอร์น (University of Nebraska at Lincoln) ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดการประชุมนานาชาติในหัวข้อ “Third Pacific Rim Conference on Recent Development on Binary Star Research” ในระหว่างวันที่ ๒๖ ตุลาคม ถึงวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ มีนักดาราศาสตร์ที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลกมาร่วมการประชุมในครั้งนั้น ก่อนเดินทางมาประชุมที่เชียงใหม่ คณะนักดาราศาสตร์จัดกิจกรรมดูสุริยุปราคาเต็มดวงเหนือฟ้าเมืองไทย โดยเดินทางไปทัศนศึกษาและชมปรากฏการณ์ช่วงก่อนประชุมที่อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่อยู่ในแนวคราสเต็มดวงในครั้งนี้ด้วย สร้างความประทับใจแก่นักดาราศาสตร์เหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง ระหว่างการจัดประชุมนานาชาติดังกล่าวนี้ที่เชียงใหม่ ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนรู้สึกประทับใจที่ได้มีโอกาสมาสังเกตการณ์ “สุริยุปราคาเต็มดวงเหนือฟ้าเมืองไทย ๒๔ ตุลาคม ๒๕๓๘” ในครั้งนั้น และได้เห็นความพร้อมของมหาวิทยาลัยไทยที่มีการจัดการศึกษา วิจัยและบริการวิชาการทางด้านดาราศาสตร์ ทำให้การพัฒนาดาราศาสตร์ไทยนับแต่ช่วงนั้นมีความเจริญรุดหน้าอย่างก้าวกระโดด จวบจนปัจจุบัน
update 21 พฤษภาคม 2563